3 รัฐมนตรีเกษตรฯ ยกทีมลงพื้นที่ดูสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์

3 รัฐมนตรีเกษตรฯ ยกทีมลงพื้นที่ดูสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ เตรียมใช้ระบบการชะลอสูบน้ำเพื่อยืดระยะเวลาน้ำใช้การเหลือนานขึ้น แก้วิกฤติน้ำไม่ไหลลงเขื่อน พร้อมเตรียมหารือนายกฯระดม 3 เหล่าทัพ ร่วมแก้ปัญหาภัยแล้ง

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อน ณ เขื่อนภูมิพล ต.บ้านนา อ.สามเงา จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมฝนหลวง และการบินเกษตรและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับฟังปัญหาของเกษตรกรเพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขต่อไป จากนั้นลงพื้นที่ดูสภาพน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อน

นายประภัตร กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อรับฟังสถานการณ์น้ำและร่วมกันกับทุกภาคส่วนหาแนวทางแก้ไขปัญหาจากที่รับฟังรายงาน พบว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนทั้งสองอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งยังน่าเป็นห่วงโดยน้ำในเขื่อนภูมิพลขณะนี้ เหลือน้ำใช้การได้ 892 ล้าน ลบ.ม. หรือ 9.2% น้อยกว่าปีที่แล้ว 2,553 ล้านลบ.ม. หรือ 74% และน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 1,984 ล้าน ลบ.ม. หรือ 69% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้อย มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 18 ก.ค. 62 รวม 303 ล้าน ลบ.ม. ใกล้เคียงกับสถานการณ์น้ำไหลเข้าเขื่อน ปี 2536, 2541 และ 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนตลอดทั้งปี เพียง 2,382 1,470  และ 1,891 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ปริมาณน้ำระบาย 23 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน (ณ วันที่ 18 กค. 62) คาดการณ์ว่าจะเหลือน้ำใช้ได้อีก 40 กว่าวัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ประกาศให้งดใช้น้ำ แต่จะใช้ระบบชะลอการสูบน้ำ คือ สูบ 3 วัน หยุด 4 วัน

ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกลงมา จะส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวของชาวนาที่ปลูกไปแล้ว การจัดสรรน้ำครั้งนี้จึงต้องทำอย่างมีระบบ โดยบูรณาการทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด รวมถึงชาวบ้านที่ต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจเพื่อลดความเสียหายในการเพาะปลูก ที่สำคัญต้องใช้ระบบหมุนเวียนเพื่อให้น้ำไหลลงไปถึงเขื่อนเจ้าพระยาและกระจายน้ำไปถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ จึงต้องมีความร่วมมือจากจังหวัดต้นทางคือ กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ให้ชะลอการสูบน้ำลง

“เชื่อว่า ปริมาณน้ำจะมีเพียงพอตลอดฤดูนี้ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและมีระเบียบ โดยสลับการใช้น้ำ การประชุมกันในวันนี้ก็เพื่อชี้แจงให้พี่น้องเกษตรกรได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะหากไม่มีฝนก็อย่าเพิ่งทำนา ต้องชะลอไปก่อน ส่วนจะมีการแก้ไขอย่างไรนั้น จะนำการประชุมพิจารณาในวันนี้ไปหารือกับนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ (กนช.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป หากบูรณาการทุกฝ่ายมาช่วยกันเชื่อว่าสำเร็จแน่นอน” นายประภัตร กล่าว

Advertisement

สำหรับสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา (4 เขื่อนหลัก) มีปริมาณน้ำใช้การรวม 1,560 ล้าน ลบ.ม. (ณ วันที่ 19 กค. 62) แบ่งเป็น 1) เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำเก็บกัก 4,692 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การ 892 ล้าน ลบ.ม. 2) เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 3,373 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ได้ 523 ล้าน ลบ.ม. 3) เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำเก็บกัก 144 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ได้ 101 ล้าน ลบ.ม. 4) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 47 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การ 44 ล้าน ลบ.ม. ส่วนแผนจัดสรรน้ำตลอดฤดูฝน ปี 2562 ตั้งแต่ 1 พ.ค. 62 – 31 ต.ค. 62 ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ปริมาณ 4,400 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน จัดสรรน้ำไปแล้ว 3,716 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% คงเหลือจากแผน 684 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 16% เพาะปลูกข้าวฤดูฝนไปแล้ว 6.21 ล้านไร่ จากแผน 7.65 ล้านไร่ คิดเป็น 81.14%

ด้าน นายธรรมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของปัญหาภัยแล้งที่เกิดฝนทิ้งช่วง หากมุ่งแต่เรื่องชลประทานอย่างเดียวไม่ได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเติมฝน กรมฝนหลวงฯ ต้องบูรณาการร่วมกับกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร ถึงเติมน้ำลงมาได้ โดยจะนำเรื่องนี้หารือกับนายกฯ และรองนายกฝ่ายความมั่นคง เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง

Advertisement