วช. โชว์ความสำเร็จโครงการวิจัยท้าทายไทย โรคพยาธิใบไม้ตับลดลงชัดเจน

คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดี จำนวนกว่า 20,000 ราย ต่อปี มากที่สุดในโลก โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อายุระหว่าง 40-60 ปี เป็นโรคที่รุนแรงและก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งชนิดนี้

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว. )ซึ่งเป็นหน่วยบริหารทุนวิจัยหลักของประเทศ ได้เห็นความสำคัญของปัญหานี้ โดยขับเคลื่อนโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายชัดเจน เรียกว่า “โครงการวิจัยท้าทายไทย” สนับสนุนทุนโครงการ “ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ” ให้กับเครือข่ายการวิจัย โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแกนนำ ตั้งเป้าท้าทายให้โรคพยาธิใบไม้ตับหมดไปจากประเทศไทยภายใน 5 ปี

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยบริหารทุนวิจัยหลักของประเทศ และเป็นหน่วยงานกลางที่ประสานเชื่อมโยงทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันบนฐานงานวิจัยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีโครงการวิจัยท้าทายไทยเป็นกลยุทธ์หลักและได้จัดสรรทุนโครงการ “ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ” ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย ตั้งแต่ ปี 2559 โดยได้ท้าทายนักวิจัยศึกษาและดำเนินการให้โรคพยาธิใบไม้ตับหมดไปจากประเทศไทยภายใน 5 ปี

บูรณาการความร่วมมือของนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ และที่สำคัญคือ ชุมชน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างยั่งยืน และจากการดำเนินงานที่ผ่านมาโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) เกิดผลสำเร็จเป็นอย่างมากจากการทำวิจัยและนำผลไปใช้ในพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญ ดังนี้

1) ลดอัตราผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในกลุ่มเสี่ยง จาก ร้อยละ 42.8 เป็น ร้อยละ 13.4 และขณะนี้ลดลงเหลือ ร้อยละ 7.7 เท่ากับ ลดลง 6 เท่า

2) เพิ่มการเข้าถึงการรักษา โดยจำนวนผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้น สามารถเข้ารับการผ่าตัดเพิ่มจากร้อยละ 21.8 เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 84.5 เท่ากับ เพิ่มขึ้น 4 เท่า

3) ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี โดยอัตราการรอดชีพใน 5 ปี ของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเพิ่มจาก ร้อยละ 17.3 เพิ่มเป็น ร้อยละ 48.3

นอกจากนี้ โครงการยังได้สร้างและพัฒนาระบบ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย อาทิ

1) Isan Cohort ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลเพื่อติดตามการทำงานในการคัดกรอง เฝ้าระวังและรักษาทั้งกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี

2) ระบบการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดี ที่มีการลงทะเบียนกลุ่มเสี่ยงจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และทำอัลตร้าซาวด์โดยแพทย์ โดยภาพของการตรวจจะถูกส่งเข้าระบบ สามารถตรวจสอบและยืนยันผลโดยรังสีวิทยาแพทย์ผ่านระบบ Teleradiology Consultation System ซึ่งช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและลดค่าใช้จ่ายของคนไข้ในการเดินทางมารับการตรวจ

3) คู่มือการผลิตปลาร้าและปลาส้มที่ปลอดพยาธิใบไม้ตับและโรงงานต้นแบบปลาร้าปลาส้มปลอดพยาธิ

4) ฟาร์มปลาปลอดพยาธิ/คู่มือการเลี้ยงปลาปลอดพยาธิ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการเลี้ยงปลาปลอดพยาธิ

5) ต้นแบบการจัดการสิ่งปฏิกูลด้วยระบบลานทรายกรองร่วมกับโรงเรือนกระจก

6) หลักสูตรการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย

7) เครือข่ายนานาชาติการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับโดยร่วมกับประเทศลาว

8) รูปแบบการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีโดยผ่านกลไกคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) และ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)

โครงการวิจัยท้าทายไทย  ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสำคัญให้กับประเทศอย่างแท้จริง และทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่เกี่ยวข้องกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ อย่างทันเวลา เท่าเทียม มีคุณภาพ และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งความสำเร็จจากโครงการวิจัยท้าทายไทยเป็นโครงการสำคัญที่มีเป้าหมายชัดเจน สามารถให้ทุนวิจัยขนาดใหญ่ (Block grant) อย่างต่อเนื่องหลายปี และมีการบริหารจัดการ ติดตาม และประเมินผลอย่างเป็นระบบนี้ วช. จึงได้รับมอบหมายจากกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ขยายผลและขับเคลื่อนโครงการวิจัยท้าทายไทยในประเด็นสำคัญต่างๆ ของประเทศในระยะต่อไป