ฝายน้ำล้นห้วยปอ ผลสำเร็จปิดทองฯ บรรเทาผลกระทบ COVID-19 สร้างโอกาสชุมชน-ผู้ตกงานแสดงศักยภาพสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังประสบ คนตกงานเพราะวิกฤติ COVID-19 เกษตรกรมีหนี้ครัวเรือน และปัญหาภัยแล้งและแหล่งน้ำทรุดโทรม ปิดทองหลังพระฯ จึงริเริ่ม โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะว่างงานของ COVID-19 ใน 3 จังหวัดพื้นที่ต้นแบบภาคอีสาน อุดรธานี ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ จนเกิดความสำเร็จเป็นรูปแบบการทำงานที่เรียกว่า “4 ประสาน 3 ประโยชน์”

การทำงานแบบ 4 ประสานงานประกอบด้วย #ประชาชน คือชาวบ้าน เกษตรกร ผู้เข้าร่วมโครงการ เน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน #ราชการ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานระดับจังหวัด ตั้งแต่ผู้ว่าราชการฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน

#ภาคเอกชน ช่วยเรื่ององค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ช่องทางการจำหน่ายและการตลาด สุดท้ายคือ #ปิดทองหลังพระฯ เป็นผู้ประสานงาน วางแนวทางการปฏิบัติงานในพื้นที่ วางเกณฑ์การคัดเลือกคนว่างงานที่ตรงกับเป้าหมาย คัดเลือกโครงการที่จำเป็นและเกิดประโยชน์ รวมถึงสนับสนุนเงินทุน วัสดุอุปกรณ์ สร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน จนเกิดแรงสนับสนุนในชุมชน

3 ประโยชน์ ที่ช่วยบรรเทาปัญหาสำคัญ ประโยชน์แรกคือ #แหล่งน้ำ มีการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก พัฒนาระบบกระจายน้ำจากแหล่งน้ำสู่พื้นที่การเกษตร จนถึงการกระจายน้ำสู่แต่ละแปลงเกษตรกร

ประโยชน์ที่สองคือ #การสร้างอาชีพ การทำเกษตรแบบประณีต ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เกิดการสร้างกลุ่ม/ กองทุนเพื่อบริหารจัดการภายในชุมชน และมีการพัฒนาตลาดที่ยั่งยืนโดยภาคเอกชนเข้ามาแนะแนวทางการผลิตให้ได้ตรงตามความต้องการของตลาด
ประโยชน์สุดท้าย #องค์ความรู้ สร้างองค์ความรู้ใหม่ในชุมชนเพื่อการประกอบอาชีพเป็นทางเลือกบรรเทาปัญหาการว่างงาน มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการร่วมกันกับหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชน จนสามารถนำความรู้ที่เกิดขึ้นมาประเมินเพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของชุมชน

นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษา สถานบันส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ความสำเร็จของ 3 จังหวัด อุดรธานี ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ มีการจ้างคนตกงาน สรุป ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2563 รวม 358 ราย แบ่งเป็น อุดรธานี 83 ราย ขอนแก่น 145 ราย และกาฬสินธุ์ 130 ราย เกิดโครงการ ทั้งด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและสร้างอาชีพรวม 107 โครงการ ใน 43 อำเภอ ครัวเรือนรับประโยชน์ 5,320 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 30,990 ไร่ ปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น 23.7 ล้านลูกบาศก์เมตร งบประมาณลงทุนประมาณ 48.8 ล้านบาท คาดการณ์รายได้เกษตรกร 217 ล้านบาท เฉลี่ยรายได้เพิ่มขึ้น 7,000 บาท/ไร่ หรือ 3,400 บาทต่อเดือน คิดเป็นรายได้ต่อปีเทียบเงินลงทุนเท่ากับ 4.45 เท่า

นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการพัฒนาแหล่งน้ำและอาชีพตามโครงพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากบรรเทา ผู้ตกงาน COVID-19 รวม 37 โครงการ ใน 13 อำเภอ งบประมาณลงทุน 21.3 ล้านบาท ผู้รับประโยชน์ 2,110 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 9,820 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 13.8 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดการณ์รายได้เกษตรกรที่จะได้รับ 68.7 ล้านบาท

ด้านนายอิสระ ขันธ์ปรึกษา นายช่างโยธาชำนาญงานเทศลาลดำตบแซงบาดาล กล่าวว่า ฝายทดน้ำห้วยปอ หมู่ 12 บ้านบัวสามัคคี ตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็น 1 ใน 37 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัด แหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร มีขนาดหน้ากว้าง 18 เมตร สามารถจุน้ำได้ประมาณ 36,000 ลูกบาศก์เมตร ด้านหน้าและด้านข้างชำรุดเสียหาย มีการรั่วซึมจนกักเก็บน้ำไม่ได้ การซ่อมแซมจุดที่ชำรุด ทำผนังเสริมคอนกรีตด้านหน้า ติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่แปลงเกษตร ชาวบ้านได้รับประโยชน์ 2 หมู่บ้าน พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 91 ไร่ สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปีเช่น ทำนาและพืชหลังนา

ความสำเร็จของโครงการฝายทดน้ำห้วยปอเกิดขึ้นจากความตั้งใจของคนในชุมชนคนทำงานที่ ร่วมแรงร่วมใจกับผู้ได้รับการจ้างงาน ที่ต้องการช่วยพัฒนาแหล่งน้ำให้กับบ้านเกิดของตนเอง บรรเทาปัญหาภัยแล้ง เดิมชาวบ้านต้องการซ่อมแซมฝายแห่งนี้มานานกว่า 5 ปี แต่ไม่มีงบประมาณเพียงพอ เมื่อได้แรงงานและเงินสนับสนุนทำให้เกิดความร่วมมือในแบบที่ “ร่วมคิด ร่วมทำ”เติมเต็มโอกาสที่ชาวบ้านไม่มีก่อนหน้านี้

นางธนิกา โคตรเสนา ผู้ใหญ่บ้านบ้านบัวสามัคคี กล่าวว่า เมื่อซ่อมฝายสำเร็จมีน้ำเข้าถึงแปลงเกษตร จะส่งผลดีกับการเพาะปลูก ทำให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์ของโครงการ เริ่มเข้ามาให้ความร่วมมือมากขึ้น ในด้านต่าง ๆ ทั้งการสละแรงงาน สละเงินทุนสบทบ ร่วมกันปรับปรุงฝายตัวอื่น ๆ จาก 1 ฝาย เพิ่มเป็น 5 ฝาย จนชาวบ้านในอำเภอใกล้เคียงเข้าร่วมช่วยทำฝายเพิ่มอีก 2 ฝาย จนทำให้ห้วยปอมีฝายครบตลอดลำน้ำ รวม 7 ฝาย

การทำงานที่เรียกว่า “4 ประสาน 3 ประโยชน์” ที่ทำตั้งแต่ “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” มีการ “ร่วมคิด ร่วมทำ” โดยชุมชน เป็นการทำตามแนวพระราชดำริตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ เกิดความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มีการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคี นำไปสู่การส่งเสริมอาชีพอย่างยั่งยืน ครัวเรือนพึ่งพาตนเองได้ เกิดความเข้มแข็ง

รูปแบบการทำงานที่สำเร็จเป็นรูปธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์มีการวางแนวทางที่จะขยายผลโครงการไปสู่พื้นที่อื่นของจังหวัด และวางนโยบายนำเสนอโครงการตามแนวการทำงานของปิดทองหลังพระฯ เข้าสู่แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ของรัฐบาล อีกด้วย