เสวนาออนไลน์ “เกษตรสร้างคุณค่า” จัดเต็ม ระดมกูรูเกษตรแนะแนวทางเกษตรสมัยใหม่แน่นเวที

ไทยเซ็นทรัล ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ และสมาคมการค้าธุรกิจปุ๋ยฯ จัดเสวนาออนไลน์ “เกษตรสร้างคุณค่า” The Value Creating Agriculture Project ระดมนักวิชาการและผู้มีประสบการณ์ถ่ายทอดสถานการณ์ปัญหา และแนวทางความเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตของภาคเกษตรกรไทย

อาชีพด้านเกษตรกรรมถือเป็นอาชีพพื้นฐานของประชากรไทย มีการทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ทั้งเพื่อการบริโภคในครัวเรือน การค้า รวมไปถึงการนำมาแปรรูปเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่า เกษตรกรไทยมีศักยภาพสูงในด้านการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ แต่สิ่งที่กำลังท้าทายเกษตรกรไทย ตลอดทั้งผู้เกี่ยวข้องปัญหาด้านการทำเกษตร ทั้งในเรื่องของการขาดแคลนทรัพยากร การขาดแคลนตลาด ตลอดทั้งวิกฤติด้านเศรษฐกิจต่างๆ

ไทยเซ็นทรัล ร่วมมือกับ ธนาคารกรุงเทพ และสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนาในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาของเกษตรกรไทย พร้อมทั้งสนับสนุนให้ไปต่อในตลาดโลก ภายใต้โครงการ Thailand Agricultural Online Forum (Thai Agriculture on the way forward – Economics, Business, Technology and Fresh ideas from the young) ในหัวข้อ ‘เกษตรสร้างคุณค่า The Value Creating Agriculture Project’ ในวันที่ 23-24 มกราคม 2564 ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อให้ผู้ร่วมฟังจาก Facebook Live และแอปพลิเคชั่น Zoom ซึ่งมีทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และเยาวชนรุ่นใหม่ เกิดความเข้าใจถึงสถานการณ์ของภาคเกษตรกรไทยต่อความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีที่กำลังส่งผลต่อประเทศไทยและโลก

วันแรกของงาน Thailand Agricultural Online Forum มีนายกองเอกเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ขึ้นเปิดงาน พร้อมกล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจด้านการเกษตรของไทย เป็นเรื่องที่มักถกเถียงกันมาโดยตลอด อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ผิดพลาด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดคุยเพื่อยุติข้อขัดแย้งและหาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยต่อไป

ทั้งนี้ ยังเน้นย้ำว่า “ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่โชคดี ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของ ข้าว ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งพืชเหล่านี้ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน เรื่องส่งเสริมด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น เสริมทักษะให้กับเกษตรกรในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องดิน ปุ๋ย ยา และจะทำอย่างไรให้สามารถลดต้นทุนการผลิตแต่ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และสามารถเข้าไปแข่งขันในระดับโลกต่อไปได้

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยว่า ประเทศไทยมักพบปัญหาของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาโรคระบาด โดยเฉพาะโรคระบาดที่เกิดในสัตว์ ซึ่งมักส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเร่งหาแนวทาง หรือนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรไทย ให้สามารถสร้างผลผลิต สร้างรายได้ต่อไปได้ ส่วนแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเกษตรของไทยในปัจจุบัน อนาคต ว่า ต้องอาศัย 5 ปัจจัย ได้แก่

1.ปัจจัยด้านเกษตรกร 2.ด้านทรัพยากรน้ำ 3.ทรัพยากรดิน 4.ความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน และ 5. ปัจจัยด้านนโยบายเพื่อพัฒนาเกษตรกร และสำหรับนโยบายที่นำมาปรับใช้เพื่อการแก้ปัญหาการขายสินค้าทางเกษตรไม่ได้นั้น จะเน้นส่งเสริมการค้าในช่องทางใหม่ๆ โดยเฉพาะการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลการค้าสินค้าทางการเกษตรกรรมนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 เรียกได้ว่ามีเกษตรกรจำนวนหนึ่งได้มีการริเริ่มขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ไปแล้ว นับเป็นผลดีต่อภาคเกษตรกร เพราะจะเป็นการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการประกอบอาชีพ พร้อมระบุว่า หากเกษตรกรสามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับภาคเกษตรกรรมไทยต่อไปในอนาคตได้

งานในช่วงบ่าย เป็นการเสวนาภายใต้หัวข้อ โมเดลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรโดยระเบียบในโลกใหม่ ได้รับเกียรติจาก นางสาวนิรมาณ ไหลสาธิต รองผู้จัดการใหญ่ ผู้รับผิดชอบสายงานลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้พูดถึงการเชื่อมโยงภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่เปลี่ยนไปของประเทศไทยและของโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อการเกษตรของไทย รวมไปถึงได้พูดถึงโมเดลใหม่ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับนโยบายเพื่อพัฒนาเกษตรกรของไทย และย้ำว่าเศรษฐกิจของภาคการเกษตรไทยในช่วงระยะเวลา 2-3 ปี ที่ผ่านมา ถือเป็นตัวเลขที่ดี แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาคอื่นๆ แต่สำหรับภาคการเกษตรถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก

นางสาวนิรมาณ กล่าวว่า นอกเหนือจากการปรับแนวทางการทำเกษตรให้ทันสมัย ผ่านการดึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งในเรื่องของนวัตกรรม งานวิจัยที่สามารถเข้าไปพัฒนาได้ เข้าประยุกต์ให้เหมาะสมแล้ว การสร้างตลาดเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งธนาคารจะเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการซื้อขายที่เสถียรมากขึ้น รวมไปถึงการสร้างเครือข่าย รวมคน ตลอดทั้งการสร้างช่องทาง หรือ Marketplace ใหม่ๆ ต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.ประชา ให้มุมมองว่า สิ่งที่เกษตรกรไทยจะต้องปรับเปลี่ยนไปให้เร็ว คือ การปรับตัวเข้าสู่ความเปลี่ยนไปของเทคโนโลยี พัฒนาตนเองเข้าสู่แพลตฟอร์มใหม่มาประประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการเกษตร โดยเฉพาะการหาช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรที่เป็นรูปแบบออนไลน์ให้มากที่สุด รวมไปถึงการส่งเสริมการสร้างแพลตฟอร์มด้านการเกษตรให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอีกด้วย

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ประชา ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการผลักดันภาคการเกษตร จำเป็นต้องดึงผู้เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค ภาครัฐ รวมไปถึงคนกลาง อันหมายถึง สถาบันการศึกษาต่างๆ ผู้ส่งออกสินค้าทางการเกษตร ในการหาแนวทางร่วม พัฒนาภาคเกษตรกรรมให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกลับไปมองพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ว่ามีความต้องการสินค้ารูปแบบใด เกษตรกรจึงสามารถผลิตและพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับผู้บริโภคได้ เช่น ในปัจจุบันผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดภัย สะอาด กลุ่มเกษตรกรจึงจำเป็นต้องนำนวัตกรรมหรือรูปแบบการเกษตรที่เหมาะสมกับความต้องการ นอกจากนี้ ยังหมายรวมไปถึงการออกนโยบายต่างๆ ของภาครัฐที่จำเป็นต้องมาสนับสนุนในแง่ของผลผลิตสินค้าทางเกษตร กล่าวคือ ทุกส่วนของผลผลิตจะต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด อาทิ การสร้างโรงผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจากสินค้าทางเกษตร ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ กระจายทั่วประเทศ เพื่อเป็นการนำส่วนที่เหลือไม่ได้ใช้ประโยชน์มาสร้างให้เกิดประโยชน์ และยังเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

จากนั้นจึงเป็นการเสวนาในเรื่องบทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อการพัฒนาการเกษตรไทย จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณณ์ด้านเทคโนโลยีการเกษตร นำโดย นายอุกฤษ อุณหเลข CEO บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด, นายปกรณ์ เพชรประยูร หัวหน้าฝ่ายเศรษกิจ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA, และ นายนิธิภัทร์ ทองอ่อน เกษตรกรรุ่นใหม่ เจ้าของสวนทุเรียนลุงแกละ จังหวัดระยอง ทุกท่านได้พูดคุยถึงบทบาทของเทคโนโลยีต่อเกษตรกรไทยเกือบ 3 ชั่วโมงเต็ม ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้ในการเกษตรของไทยในปัจจุบัน ประโยชน์ ข้อจำกัด และปัญหาของการใช้เทคโนโลยี รวมไปถึงแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรในอนาคตที่เหมาะสมและปฏิบัติได้จริง

นายอุกฤษ กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุค ‘ดิสรัปชัน‘ (Disruption) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการทำเกษตร เกษตรกรไทยจึงต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี เข้ามาร่วมปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรเป็นรูปแบบใหม่ขึ้น หาพื้นที่ว่างหรือแบ่งการปลูกพืชที่ได้หลากหลายขึ้น รวมไปถึงการทดลองนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำเกษตร

นายปกรณ์ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ ถือเป็นการสนับสนุนการเกษตรกรรมให้ทำได้ง่ายมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการพยากรณ์สภาพอากาศ การวิเคราะห์เรื่องภัยพิบัติ เพื่มความสะดวกและความรวดเร็ว ตลอดทั้งการนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพของผลผลิตจากการทำเกษตร เพื่อที่จะสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ และมีมาตรฐานมากขึ้น

ส่วน นายนิธิภัทร์ เผยว่า การนำเทคโนโลยีเข้าไปปรับใช้ในสำหรับทำการเกษตร นอกจากจะเป็นการเพิ่มความปลอดภัย ความสะดวกแล้ว ยังเป็นการบริหารจัดเวลาได้ดีกว่าเดิม ทำให้มีเวลามากขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้ที่ดีต่อไปได้

ทั้งนี้ สำหรับงานเสาวนาในหัวข้อ “เกษตรสร้างคุณค่า” The Value Creating Agriculture Project ยังคงมีต่อในวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป โดยสามารถรับชมผ่านช่องทาง Facebook Live ปุ๋ยเต็มสูตร ตราหัววัว-คันไถ และช่องทาง Zoom