วศ. MOU มูลนิธิ ณภาฯ พัฒนาสารสกัดสมุนไพรและหัตถกรรมท้องถิ่นสู่สากล

กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. MOU มูลนิธิ ณภาฯ ต่อยอดการพัฒนาสารสกัดสมุนไพรและหัตถกรรมท้องถิ่นสู่ระดับสากล

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ มูลนิธิ ณภาฯ ในพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สนับสนุนการศึกษาวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากพืชสมุนไพรและหัตถกรรมท้องถิ่น

ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศ. (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว. อว.) และ ผศ. ดร. ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษก อว. ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี นพ. ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และ นายเอกภพ เดชเกรียงไกรสร รองประธาน มูลนิธิ ณภาฯ เป็นผู้แทนลงนาม ณ อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม​   

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เปิดเผยหลังการลงนามว่าความร่วมมือฯครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากพืชสมุนไพรและหัตถกรรมท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้

โดยจะร่วมกันกำหนดทิศทางการวิจัย การเสริมสร้างศักยภาพ องค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาในระดับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ และใช้องค์ความรู้ภูมิปัญญาของชุมชนเป็นแกนหลักในการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้

ซึ่งจะช่วยให้เกิดการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น วางรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคตโดยยึดหลัก BCG Model นำวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดให้ได้สินค้าที่มีเอกลักษณ์และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ทั้งนี้ วศ. มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาสมุนไพร ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ต่อยอดผลงานด้านสารสกัดจากพืชสมุนไพรและหัตถกรรมท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดย วศ. จะช่วยวิจัยและพัฒนากระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุเหลือทิ้ง เช่น ดอกดาวเรือง ที่ประชาชนผู้มีศรัทธานำมากราบไหว้ขอพรหลวงปู่ศรีสุทโธ ณ คำชะโนด อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

วศ. สามารถจัดเก็บดอกดาวเรืองมาทำให้แห้งด้วยตู้อบแสงอาทิตย์ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น เพื่อเป็นวัตถุดิบเก็บไว้ใช้ในการพัฒนากระบวนการย้อมสีเส้นใยธรรมชาติ เช่น เส้นใยฝ้าย เส้นใยไหม สำหรับทำเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่มีสีสวยงาม สีมีความคงทนต่อแสงและความคงทนต่อการชักได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่มีความหมายดีเพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ซื้อกลับไปเป็นที่ระลึก ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนและลดภาระการจัดการของเหลือทิ้งในพื้นที่คำชะโนดได้อีกทางหนึ่งด้วย