นายกฯ และบอร์ด คทช. เห็นชอบ ร่าง กฎหมายจัดตั้งสถาบันฯ และให้ บจธ.เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2565   พลตำรวจเอก เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน  ประธานคณะกรรมการ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน ) บจธ. และนายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ บจธ. ได้เข้าชี้แจงร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. …. ต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ( คทช.)

โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน  พร้อมทั้งรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแล บจธ. เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่น และ คทช. มีมติเห็นชอบให้ บจธ. เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป

“ ขอบพระคุณทุกท่าน ทุกภาคส่วนที่ร่วมกันสนับสนุนและผลักดันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง และขอขอบคุณ พณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล บจธ. “ นายกุลพัชร กล่าว

สำหรับร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ…… เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญและเป็นรากฐานในการผลิตและที่อยู่อาศัย ซึ่งเกษตรกรรายย่อย ผู้ยากจน และแรงงานไร้ที่ดิน ต่างประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนที่ดินและไม่สามารถเข้าถึงที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยได้ โดยส่วนหนึ่งมาจากการกระจุกตัวการถือครองที่ดิน  การเก็งกำไรจากการซื้อขายที่ดิน เป็นเหตุให้ที่ดิน ถูกทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ หนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบที่เกิดจากจากการจำนอง จำนำ ขายฝากและความไม่เป็นธรรม จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินที่ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของประเทศไทย

พระราชบัญญัตินี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกการกระจายการถือครองที่ดิน สนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย หรือได้ใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันเพื่อประโยชน์ของชุมชน ส่งเสริมให้เกษตรกร และผู้ยากจน ได้มีสิทธิ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดิน และได้รับโอกาสการสนับสนุนจากภาครัฐ ป้องกันไม่ให้ที่ดินหลุดมือ หรือหลุดเข้าสู่กลไกตลาด และยังเป็นการการบริหารจัดการร่วมกัน ระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน จนถึงเศรษฐกิจฐานรากของประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป