วว. จับมือ 4 พันธมิตรนครราชสีมา พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนนวัตอัตลักษณ์ ส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร

นายสายันต์  ตันพานิช  รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  นายกังสดาล สวัสดิ์ชัย เกษตรจังหวัดนครราชสีมา  ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์  ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา นางภาวนา ประจิตต์  ผู้อำนวยการสำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  สำนักงานนครราชสีมา  และนายนพดล   ม่วงแก้ว  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟอาราบิก้าและมะคาเดเมียแบบประชาอาสาบ้านดงมะไฟ  ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงบูรณาการความร่วมมือด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนนวัตอัตลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร  การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร  การส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรบนพื้นฐานงานวิจัยและความหลากหลายทางชีวภาพ  โดยมีระยะเวลาดำเนินงานร่วมกัน 2 ปี ในวันอังคารที่ 28 กันยายน  2564 ณ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

โอกาสนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครราชสีมา เป็นตัวแทนมอบเครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือเครื่องหมาย SHA ประเภทนันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว แก่สถานีวิจัยลำตะคอง วว. เพื่อแสดงว่าสถานีวิจัยลำตะคอง ได้ผ่านการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยว ได้ดำเนินการปรับปรุงทั้งด้านสินค้าและบริการ รวมทั้งสุขอนามัยในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มาใช้บริการ

ทั้งนี้  SHA  หรือ Amazing  Thailand  Safety  and  Health  Administration มีจุดมุ่งหมายของโครงการ คือ เพื่อกระตุ้นให้สถานประกอบการและกิจกรรมต่างๆ ได้พัฒนาตัวเอง เตรียมความพร้อมสู่วิถีชีวิต New  Normal นำไปสู่การลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของไทย  

นายสายันต์ ตันพานิช  รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ  กล่าวว่า  บทบาทหน้าที่ของ วว. มุ่งส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และผลักดันการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานวิจัย ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อให้เกิดการทำงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ประกอบกับสถานีวิจัยลำตะคอง ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของ วว. มีหน้าที่ดำเนินการวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเกษตร เป็นแหล่งรวบรวมพันธุกรรมพืชและแมลงเพื่อการอนุรักษ์ สร้างจิตสำนึก การเรียนรู้ และใช้ประโยชน์ จะเป็นส่วนสนับสนุนในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม บนฐานความรู้จากงานวิจัยและความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้เป็นอย่างดี

“…เพื่อให้เกิดบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วย จึงได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้  นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงการพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟดงมะไฟ โดยนักวิจัย วว. ผักกูดอินทรีย์ จากสวนผักกูดปากช่อง ที่มีสถานีวิจัยลำตะคองเป็นที่ปรึกษา และผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงเกษตร “Campsite CHAN” ซึ่งเปิดให้บริการลานกางเต็นท์ในสวนผลไม้ เยี่ยมชมแปลงปลูกไม้ผลและพืชผักตามฤดูกาล เช่น อะโวคาโด้ ทุเรียน น้อยหน่า ขนุน หน่อไม้ฝรั่ง ผักสลัด เป็นต้น…”  รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ  วว. กล่าว

 ขอบเขตความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกัน มีดังนี้  “วว.” เป็นผู้ให้องค์ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตกาแฟดงมะไฟ ที่คงไว้ซึ่งคุณค่าเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและวัตถุดิบในพื้นที่  “สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา” ให้การสนับสนุนส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิต ร่วมกับ วว. มาตรฐานการผลิต การเพิ่มช่องทางการตลาด และร่วมสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้  “สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา” ให้การสนับสนุนโอกาสด้านการตลาดของผู้บริโภคภายใต้กิจกรรมการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสนับสนุนช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกาแฟดงมะไฟ  “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครราชสีมา” ให้การสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้จากความหลากหลายทรัพยากรชีวภาพ เป็นต้น  และ “วิสาหกิจชุมชนกาแฟอาราบิก้าและมะคาเดเมียแบบประชาอาสาบ้านดงมะไฟ” ให้การสนับสนุนวัตถุดิบในการวิจัยและพัฒนา พร้อมทั้งผลิตกาแฟดงมะไฟตามองค์ความรู้ที่ได้รับจาก “วว.

อนึ่ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟอาราบิก้าและมะคาเดเมียแบบประชาอาสาบ้านดงมะไฟ ตั้งอยู่ที่ ต.มะเกลือใหม่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่บนเทือกเขาอีโต้ (เขาเควสต้า) แห่งดินแดนอุทยานธรณีโคราช (Khorat Geopark) ดำเนินการเพาะปลูกกาแฟอาราบิก้า จำนวน 300 ไร่ จากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์นี้ ทำให้กาแฟดงมะไฟ มีอัตลักษณ์ รสชาติกลมกล่อม กลิ่นหอม มีระดับสารคาเฟอีน 1% ตามธรรมชาติ ได้รับการจดขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สินค้าตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Thai Geographical Indication) หรือ GI เป็นกาแฟทางเลือกสำหรับผู้บริโภค ที่ต้องการดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนต่ำ วว. มีบทบาทในการใช้ วทน. มาพัฒนาสูตรและรูปแบบของกาแฟ ให้เป็นกาแฟผงสำเร็จรูป โดยใช้เทคนิคการสเปรย์ดราย ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นและรสชาติความเป็นอัตลักษณ์ของกาแฟดงมะไฟ ทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น ซึ่งจะสามารถขยายตลาดได้กว้างขึ้น

Advertisement

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา เลขที่  333 หมู่ 12 ถนนมิตรภาพ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง  จังหวัดนครราชสีมา 30130 โทรศัพท์/โทรสาร 044-390107, คุณวิเซ็นฯ  086- 866 3189, Facebook fanpage : สถานีวิจัยลำตะคอง

Advertisement