เผยแพร่ |
---|
นักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน โดยการสนับสนุนทุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประเมินสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง 64/65 ในพื้นที่ภาคกลาง และ EEC โดยใช้แบบจำลองน้ำฝน-น้ำท่า และการบริหารจัดการน้ำโดยระบบสารสนเทศต้นแบบ ร่วมกับผลการพยากรณ์ฝนล่วงหน้า 6 เดือน ชี้ปริมาณน้ำต้นทุนยังมีจำกัด การขาดแคลนน้ำพื้นที่ EEC ช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ มีโอกาสน้อย
แม้ว่าในช่วงเวลานี้พื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำบางแห่ง ยังคงได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกัน การวางแผนจัดสรรน้ำและการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งได้เริ่มขึ้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 30 เมษายน 2565 กรมชลประทานได้คาดการณ์แผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 64/65 ให้สอดคล้องต่อปริมาณน้ำต้นทุน คำนึงถึงกิจกรรมการใช้น้ำทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ น้ำอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ อุตสาหกรรม และการเกษตร กำหนดให้มีแผนการจัดสรรน้ำรวมทุกกิจกรรม ประมาณ 5,700 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 7,774 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมวางแผนผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาระบบนิเวศในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีน
ดร.จุติเทพ วงษ์เพ็ชร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยถึง ผลการศึกษาภายใต้กิจกรรม CO-RUN แผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า การคาดการณ์ปริมาณน้ำท่าผิวดินที่เกิดขึ้นในพื้นที่ราบภาคกลาง ตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จนถึงจังหวัดนครสวรรค์ บริเวณสถานีตรวจวัดน้ำท่า C.2 โดยใช้แบบจำลองน้ำฝน-น้ำท่าและการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับผลการพยากรณ์ฝนล่วงหน้า 6 เดือนด้วยแบบจำลอง WRF-ROM (CFS2V) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564-เมษายน 2565 พบว่า ปริมาณฝนสะสมในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีค่าประมาณ 5-30 มิลลิเมตรเท่านั้น นอกจากนี้พบว่า ปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นบริเวณสถานีตรวจวัดน้ำท่า C.2 ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 – เมษายน 2565 มีปริมาณเพียง 610 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณความต้องการน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง โดยการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จะต้องอาศัยปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนข้างต้นเป็นหลัก และต้องควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับใช้ในการปลูกข้าวนาปรังช่วงฤดูแล้ง และช่วงต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565) ตามที่กรมชลประทานได้คาดการณ์พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแผนการจัดสรรน้ำ จำนวน 2.8 ล้านไร่ ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำประมาณ 1,970 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ของการใช้น้ำทั้งหมด เห็นได้ว่า ปริมาณน้ำต้นทุนยังมีอย่างจำกัด
นักวิจัย กล่าวต่อว่า จากผลการศึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ภายใต้แผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 2 ขณะนี้กำลังดำเนินการพัฒนาระบบสารสนเทศต้นแบบ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำในเขต EEC และภาคตะวันออก ซึ่งมีรูปแบบการเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายการผันน้ำ ทั้งในรูปแบบเรียลไทม์ และพยากรณ์ช่วงระยะเวลาต่างๆ โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ปริมาณน้ำใช้การในอ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี มีปริมาณน้ำใช้การรวม 823 ล้านลูกบาศก์เมตร และกำหนดให้มีการจัดสรรน้ำสำหรับกิจกรรมต่างๆ ประมาณ 590 ล้านลูกบาศก์เมตรตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง โดยปริมาณฝนสะสมจากการพยากรณ์ล่วงหน้า 6 เดือน มีค่าประมาณ 80 มิลลิเมตร หรือคิดเป็นเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยที่ช่วงระยะเวลาเดียวกัน จากการจำลองการบริหารจัดการน้ำโดยระบบสารสนเทศต้นแบบฯ จึงคาดการณ์ได้ว่า การขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC ในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ มีโอกาสน้อย เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างข้างต้นมีปริมาณค่อนข้างมาก สถานการณ์การใช้น้ำดังกล่าว ยังจำเป็นต้องมีการผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำร่วมอยู่ แต่เป็นเพียงการผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดระยองและจังหวัดชลบุรีเป็นหลัก ระบบสารสนเทศต้นแบบฯ ดังกล่าว สามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศเพื่อเป็นแนวทางสนับสนุนในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขต EEC ได้