รมช.มนัญญา ลงพื้นที่เชียงราย ติดตามโครงการสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดให้สหกรณ์การเกษตร

รมช.มนัญญา ลงพื้นที่เชียงราย ติดตามโครงการสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดให้สหกรณ์การเกษตร หวังใช้ประโยชน์ฉาง โกดัง ลานตาก ช่วยเก็บชะลอข้าวและพืชผลการเกษตรในพื้นที่ หนุนสหกรณ์ในเชียงรายเพิ่มศักยภาพรวบรวมข้าวเพิ่มปีละกว่า 1.7 หมื่นตัน จากเดิมเพียง 2,649 ตัน

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มีโอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การตลาดและการแปรรูปของสถาบันเกษตรกรรองรับผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นโครงการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล เพื่ออุดหนุนให้แก่สหกรณ์การเกษตรนำไปจัดสร้างอุปกรณ์การตลาดต่างๆ สำหรับรองรับการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งในโครงการนี้ได้รับเงินจากรัฐบาลมาในปี 2564 จำนวนกว่า 1,600 ล้านบาท โดยสหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการจะสมทบเงินเข้ามาเพิ่มร้อยละ 10 เพื่อที่จะไปสร้างอุปกรณ์การตลาดต่างๆ ว่าจะเป็นพวกโรงสี โรงคลุม ลานตาก เครื่องอบลดความชื้น หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้เกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตเพี่อเพิ่มมูลค่าและระบบการขนส่งสินค้าเพื่อจำหน่ายสู่ตลาด ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้รับการจัดสรรงบประมาณให้สถาบันเกษตรกร 10 แห่ง มูลค่ากว่า 70 ล้านบาท เพื่อนำไปสนับสนุนศักยภาพของสหกรณ์รวบรวมผลผลิตของสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะจะเน้นเรื่องการปรับปรุงคุณภาพข้าวเปลือก เพื่อสร้างรายเพิ่มเมื่อมีกำไรจะได้มาปันผลคืนให้กับสมาชิก

“โครงการนี้รัฐบาลจัดงบประมาณให้สำหรับสหกรณ์ที่เสนอโครงการมายัง กสส. เพื่อพิจารณาคัดเลือก โดยรัฐสนับสนุนร้อยละ 90 ขณะที่สหกรณ์สมทบร้อยละ 10 จากเดิมที่ต้องสมทบร้อยละ 30 ทำให้สหกรณ์เหลือสภาพคล่องอีกร้อยละ 20 ใช้หมุนเวียนบริการสมาชิก ไม่ต้องไปกู้จากที่อื่นมาใช้ ดังนั้น การที่ดิฉันและ กสส. ได้ต่อรองเพื่อให้รัฐบาลยอมลดสัดส่วนสหกรณ์สมทบเหลือร้อยละ 10 จนสำเร็จ ถือว่าเป็นผลจากการที่พี่น้องสหกรณ์ได้เขียนโครงการดีๆ เข้ามาให้รัฐเล็งเห็นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ดังนั้น เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จขอให้ทุกสหกรณ์ช่วยกันใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เช่น โกดัง ลานตาก เดิมเกษตรกรต้องนำข้าวไปตากริมข้างทาง กระทบกับความปลอดภัยของคนใช้ถนน ต่อไปนี้ก็มาใช้ลานตากสหกรณ์ และเรามีเครื่องอบลดความชื้นที่จะช่วยทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ราคาที่เป็นธรรมไม่โดนกดราคาเพราะถูกหักค่าความชื้น โครงการนี้จึงเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ” นางสาวมนัญญา กล่าว

ด้าน นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ผลจากโครงการทำให้สหกรณ์มีศักยภาพในการรวบรวมผลผลิตข้าวเปลือกจากสมาชิกเพื่อนำมาสีหรือแปรรูปเป็นข้าวสารที่มีคุณภาพเพื่อจำหน่ายและนำกำไรมาปันผลคืนให้สมาชิก นอกจากนั้น สหกรณ์ที่รวบรวมข้าวโพดจะมีการเชื่อมโยงกับฟาร์มปศุสัตว์ทั้งผู้เลี้ยงไก่ โคเนื้อ และโคนม ในการรับผลผลิตข้าวโพด เปลือก ซัง ไปทำอาหารสัตว์ ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ ด้วย ซึ่งการเก็บชะลอผลผลิตเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากผลผลิตการเกษตรจะออกมาในฤดูเดียวกันพร้อมกัน เช่น ข้าวเปลือก ช่วงเวลาออกมาในลักษณะเป็นข้าวนาปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมกราคม ในช่วงนั้นผลผลิตก็จะมีค่อนข้างมาก ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ได้ให้สหกรณ์ต่างๆ ดำเนินการเก็บชะลอผลผลิตเหล่านี้ ในอุปกรณ์การตลาดที่สหกรณ์ได้รับไป ไม่ว่าจะเป็นพวกโรงคลุม ฉาง เครื่องอบลดความชื้น และไซโล ก็เพื่อชะลอผลผลิตไว้ในโกดัง ไม่ให้ออกมาขายพร้อมกันในช่วงต้นฤดู เพราะจะทำให้ขายผลผลิตได้ในราคาที่ต่ำ จึงต้องมีการเก็บชะลอไว้เพื่อที่จะรอเวลาที่เหมาะสม หรือนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า จะช่วยให้เกิดเสถียรภาพด้านราคามากยิ่งขึ้น

นายสมบัติ ต๊ะยะ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรเวียงชัย จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์แห่งนี้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 44 ปี ปัจจุบันมีสมาชิก 6,333 ราย มีทุนการดำเนินงานกว่า 645 ล้านบาท ซึ่งสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (งบกลางปี) จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เมื่อปี 2561 เพื่อนำไปจัดหาอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็นสำหรับรวบรวมผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ฉาง ขนาด 2,000 ตัน จำนวน 1 แห่ง ทำให้ในปีการผลิต 2564/65 สหกรณ์ได้เปิดรับซื้อข้าวจากสมาชิก 2,649 ตัน คิดเป็นมูลค่า 25 ล้านบาท และสามารถเข้าร่วมโครงการชะลอข้าวเปลือกกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เงินค่าชะลอตันละ 500 บาท ทำให้มีกำไรมาปันผลให้สมาชิก สำหรับโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกรเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตร ปี 2564 สหกรณ์ได้รับงบประมาณอุดหนุนอีกจำนวน 65 ล้านบาท นำไปจัดซื้อเครื่องอบลดความชื้น 300 ตันต่อวัน จำนวน 1 แห่ง ก่อสร้างโกดัง ขนาด 5,000 ตัน จำนวน 1 แห่ง และลานตาก 1,600 ตารางเมตร จำนวน 1 แห่ง ซึ่งปีนี้ มีแผนการรวบรวมข้าวจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ 17,500 ตัน แบ่งเป็นข้าวนาปรัง 5,000 ตัน และข้าวนาปี 12,500 ตัน ทำให้สหกรณ์การเกษตรเวียงชัย จำกัด ทำหน้าที่เป็นแก้มลิงเก็บชะลอผลผลิตและตอบสนองความต้องการของสมาชิกสหกรณ์ให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย