เผยแพร่ |
---|
กรมสุขภาพจิตและหน่วยงานภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แก่
กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมลงนามในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดูแลฟื้นฟูผู้ใช้บริการที่มีอาการทางจิตเวชในสถานรองรับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง
ของมนุษย์เป็นประธานการลงนาม ภายใต้นโยบายเพื่อฟื้นฟูผู้ใช้บริการที่มีอาการทางจิตเวชได้รับการส่งเสริม ป้องกัน บำบัด ฟื้นฟูสมรรถภาพครอบคลุมทุกมิติ สามารถประกอบอาชีพ และดำรงชีวิตในสังคมร่วมกับคนทั่วไป พัฒนาคุณภาพชีวิตตามนโยบาย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ยินดีที่ได้เห็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. กับกรมสุขภาพจิตในครั้งนี้ รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ผู้ใช้บริการที่มีอาการทางจิตเวชในสถานรองรับของ พม. อย่างมาก ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานของ พม. ได้หารือร่วมกับกรมสุขภาพจิต ถึงการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหากลุ่มผู้ที่มีอาการทางจิตเวชในสถานรองรับของ พม. ทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมสุขภาพจิต การดูแลฟื้นฟูผู้ใช้บริการที่มีอาการทางจิตเวชในสถานรองรับของ พม. จากความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับการดูแลฟื้นฟูอย่างถูกต้องเหมาะสมจาก บุคลาการทางการแพทย์ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้ ซึ่งถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้ ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์การให้บริการในสถานรองรับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าในปี 2565 ผู้ใช้บริการที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชมีจำนวนสูงถึง 6,015 ราย คิดเป็น ร้อยละ 61.22 ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความหลากหลาย และซ้ำซ้อนของสภาพปัญหา บุคคลเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าถึงระบบบริการดูแลสุขภาพจิตอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม ตลอดจนได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายคือหายทุเลาจากโรคทางจิตเวช ไม่กลับเป็นซ้ำ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้กรมสุขภาพจิตจะดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชที่สิ้นสุดการรักษาและขาดการสนับสนุนทางสังคม อันได้แก่ คนไร้ญาติ หรือญาติขาดความพร้อมในการดูแล เพื่อเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่สถานรองรับของกระทรวง พม. ตามศักยภาพของผู้ป่วยและภารกิจของสถานรองรับ รวมไปถึงการประสานเครือข่ายสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ในการดูแลรักษาสุขภาพจิตและรับส่งต่อตามระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเมื่อเกิดกรณีวิกฤตฉุกเฉินทางจิตเวชตามมาตรฐานบริการสุขภาพจิตและจิตเวช โดยในปีนี้ได้มีการนำร่องโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้ป่วยจิตเวชในสถานรองรับ จำนวน 11 แห่ง
ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการให้บริการผ่านระบบการแพทย์ทางไกลไปแล้ว 3 ครั้ง โดยให้บริการผู้ป่วยไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 84 ราย และจะขยายผลการบำบัดรักษาโดยนำเทคโนโลยีด้านระบบบริการการแพทย์ทางไกล จิตแพทย์และทีมสหวิชาชีพในสถาบัน/โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตทั้ง 20 แห่ง ที่เป็นคู่เครือข่ายในการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวต่อไป และจะทำการขยายไปยังเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อให้เกิดการบริการผู้ป่วยจิตเวชอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
กรมสุขภาพจิตและหน่วยงานภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะยั่งยืนและบรรลุเจตนารมณ์ร่วมกันในการดูแลฟื้นฟูผู้ใช้บริการจิตเวชในสถานรองรับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพต่อไป