อกก.คง. เห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดิน ปี 2566 4 .1 พันล้านบาท

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการและการเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (อกก.คง.) ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 4,100 ล้านบาท เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการบริหารเงินกองทุนฯ โดยแบ่งเป็นรายจ่ายหมุนเวียน เช่น การจัดหาที่ดิน สินเชื่อพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้เกษตรกร สินเชื่อตามนโยบาย เงินค้ำประกันสินเชื่อ ธ.ก.ส. และรายจ่ายขาด เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจัดหาที่ดิน โครงการพัฒนาศักยภาพพื้นที่และการผลิต โครงการพัฒนาแปลงที่ดินที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559

นอกจากนั้น ยังมีการอนุมัติโครงการก่อสร้างหอถังสูงทรงแชมเปญ พร้อมระบบกระจายน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน แปลงเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 3 แห่ง ในตำบลกลัดหลวงและตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นเงิน 4,822,500 บาท โดยเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินได้อย่างเต็มศักยภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับทิศทางการดำเนินงานของกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในปีงบประมาณ 2566 ได้ดำเนินการด้านการจัดหาเงินทุน เน้นการเพิ่มรายได้เข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุน เช่น บูรณาการร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการเพิ่มช่องทางการชำระเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรในการชำระหนี้ให้แก่ ส.ป.ก. การเพิ่มแหล่งเงินทุนสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกร โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เอกสารสิทธิที่ได้รับจากการปฏิรูปที่ดินไปเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้ ธ.ก.ส. เป็นต้น

เลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวว่า “กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้นเน้นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามภารกิจ เช่น การจัดซื้อที่ดินเอกชนเพื่อจัดสรรให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน หรือมีเล็กน้อยไม่เพียงพอต่อการครองชีพ และได้ขึ้นทะเบียนขอรับการจัดที่ดินจาก ส.ป.ก. ด้านการพัฒนาอาชีพและรายได้ สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาธุรกิจ การพัฒนาศักยภาพพื้นที่และการผลิตเพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน แหล่งน้ำ อาคารแปรรูปผลผลิต อาคารอเนกประสงค์ให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงการสนับสนุนเครื่องมือ/อุปกรณ์ เอื้ออำนวยและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้อยู่ได้ อยู่ดี มีความสุข และอยู่อย่างยั่งยืนในเขตปฏิรูปที่ดินต่อไป”