ยกสหกรณ์ฯ สทิงพระ ต้นแบบ ”แก้หนี้แก้จน” พร้อมขยายผลสู่อีก 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา

กรมส่งเสริมสหกรณ์ชูสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด จังหวัดสงขลา ต้นแบบโครงการแก้หนี้ แก้จน ก่อนขยายผลสู่สหกรณ์อีก 16  อำเภอของจังหวัดสงขลา หลังส่งเสริมอาชีพสมาชิกมีรายได้ปลดหนี้สหกรณ์สำเร็จ พร้อมประสานโรงพยาบาลรับซื้อผลผลิตปลอดภัยปรุงอาหารให้ผู้ป่วย ด้าน ผจก.สหกรณ์สทิงพระเผยจากอานิสงส์โครงการ ทำให้สมาชิกมีเงินจ่ายคืนสหกรณ์เพิ่มขึ้น จากเดิมมีดอกเบี้ยค้างจ่าย 10 ล้านบาท มาวันนี้เหลือแค่ 8 แสนบาทเท่านั้น

การลงพื้นที่จังหวัดสงขลาของ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ เพื่อมอบอาคารรวบรวมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร มูลค่ากว่า 4.3 ล้านบาทให้กับสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 108 หมู่ที่ 3 ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เป็นการตอบย้ำถึงความสำเร็จของโครงการแก้หนี้แก้จน ด้วยการส่งเสริมสมาชิกปลูกพืชระยะสั้นเพื่อให้มีรายได้อันจะนำมาสู่การจ่ายหนี้ให้กับสหกรณ์

“การแก้ปัญหาหนี้ค้างหัวใจสำคัญที่สุดคือ ถ้าสมาชิกมีเงิน ผมคิดว่าไม่มีสมาชิกรายใดที่จะไม่ส่งคืนสหกรณ์หรือคิดจะบิดพลิ้ว แต่เรากลับไปเร่งรัดให้เขาจ่ายเงินต้น จ่ายดอกเบี้ย แต่เราไม่เคยคิดว่าสมาชิกจะเอารายได้มาจากไหน ทำนาปีละครั้ง บางปีก็เจอน้ำท่วม ภัยแล้งผลผลิตเสียหาย เพราะฉะนั้นเราต้องส่งเสริมอาชีพให้เขามี เมื่อเขามีรายได้เพิ่มยังไงเขาก็ยินดีมาจ่ายคืน”

นายมนุชาธิป วรกาญจนานนท์ สหกรณ์จังหวัดสงขลา กล่าวถึงที่มาปัญหาหนี้ค้างจ่ายสหกรณ์เหตุสมาชิกไม่ยอมจ่ายคืนตามกำหนดเวลา โดยการแก้ปัญหาเริ่มต้นจากสหกรณ์ที่มีความพร้อมตั้งใจแก้หนี้ค้างเข้าร่วมกิจกรรมกับเราในการส่งเสริมการวางแผนแก้หนี้แก้จนที่มีปัญหาหนี้ค้างจ่าย เพื่อจัดทำฐานข้อมูลค้นหาความจริงเมื่อค้นพบว่าปัญหาหนี้ค้างเกิดจากอะไรเราก็เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนในสิ่งที่เขาขาด บังเอิญว่าสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด เห็นด้วย เนื่องจากว่ามีสภาพพื้นที่โหนด นา เล ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปลูกข้าวปีละครั้งและทำตาลโตนดมีรายได้ไม่แน่นอน สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสงขลาร่วมกับสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด จึงมีการส่งเสริมให้สมาชิกปลูกพืชระยะสั้นเพื่อให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มโดยบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ มาดูแลในเรื่องต่างๆ ทั้งดินและน้ำ ส่วนสหกรณ์จะดูแลการรวบรวมผลผลิตและการตลาด

“สหกรณ์การเกษตรสทิงพระ ถือว่าเป็นสหกรณ์ต้นแบบของโครงการแก้หนี้แก้จนที่เห็นความสำคัญ ในการให้สมาชิกมีรายได้ เริ่มต้นจากการเอาทุนสวัสดิการสหกรณ์ไปส่งเสริมจัดหาพันธุ์พืชให้เกษตรกรสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ เป็นการกระตุ้นจูงใจให้เขาหันมาทำการเกษตรแบบแผนใหม่ เขาทำมาระยะหนึ่งแล้วเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ทำให้สมาชิกมีการขยายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็เลยสนับสนุนอาคารรวบรวมและแปรรูปผลผลิตจำนวน 1 หลัง มูลค่า 4 ล้านบาท และทางสหกรณ์สมทบอีก 10% รวมเป็น 4.4 ล้านบาท เพื่อที่จะขยายโอกาสให้กับสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ”

สหกรณ์จังหวัดสงขลาย้ำด้วยว่า จากความสำเร็จดังกล่าว ขณะนี้ได้มีการขยายผลไปยังสหกรณ์การเกษตรอื่นๆ อาทิ สหกรณ์การเกษตรควนเนียง จำกัด สหกรณ์การเกษตรบางกล่ำ จำกัด และอีกหลายสหกรณ์ในจังหวัดสงขลาที่จะนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ ขณะเดียวกัน ในส่วนเรื่องของการตลาดนั้นหลังได้ร่วมประชุมกับสาธารณสุขจังหวัด หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนจะนำผลผลิตจากโครงการดังกล่าวจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดสงขลาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลอีกด้วย

“เรื่องตลาดไม่น่าห่วง ขอให้ผลผลิตมีคุณภาพและปลอดภัย วันนี้ ผมและผู้นำทุกสหกรณ์กับทางสาธารณสุขจังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการทุกภาคส่วน ไม่ว่าหน่วยภาครัฐและเอกชนนำผลผลิตที่ได้จากทุกสหกรณ์ขายให้กับโรงพยาบาลนำไปปรุงอาหารให้กับผู้ป่วยทุกคนยกมือเห็นด้วยที่จะยกระดับการบริโภคผลผลิตที่ปลอดภัย” สหกรณ์จังหวัดสงขลา กล่าว

ขณะที่ นางมาลิณี พานิชกรณ์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด กล่าวถึงโครงการแก้หนี้แก้จนว่าสหกรณ์ได้ส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้นแก่สมาชิกเพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นและตลอดทั้งปี เนื่องจากการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของสมาชิก ทำได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น และทำตาลโตนด ขณะที่ปลูกพืชผักระยะสั้น เช่น พริก มะเขือ แตงกว่า ฯลฯ ปลูกได้ปีละ 2-3 รอบ โดยอาศัยช่วงหลังนาในการเพาะปลูกจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันเดียว ก็แนะนำให้ปลูกพืชอื่น เช่น มะพร้าว ปาล์ม โดยปลูกแซมร่วมกับพืชอื่นๆ เพราะถ้าปลูกมะพร้าวหรือปาล์มอย่างเดียวรอถึง 4-5 ปีกว่าได้ผลผลิต

“สมาชิกของเราส่วนใหญ่ก็โอเค สหกรณ์ก็จะเข้าไปส่งเสริมแนะนำดูแลในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพราะว่าบางครั้งสมาชิกบางรายเขาไม่มีประสบการณ์ เราก็ต้องไปแนะนำจากที่เขาเคยใช้ความรู้แบบเดิมๆ ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว ต้องใช้นวัตกรรมการเข้ามาเปลี่ยนแปลงในเรื่องการทำเกษตร สหกรณ์จะดูแลทั้งหมด คนไหนทุนไม่พร้อมแต่อยากจะทำเพื่อมีรายได้แก้ปัญหาหนี้ตัวเอง สหกรณ์ก็สนับสนุนในเรื่องของปุ๋ยเรื่องของต้นพันธุ์”

นางมาลิณี เผยต่อว่า ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด มีสมาชิกทั้งหมด 2,184 ราย เมื่อปี 2552 สหกรณ์มีหนี้ค้างจากสมาชิก ทั้งหนี้ต้นและหนี้ดอก โดยมีหนี้ต้นจำนวน 50 ล้านบาทเศษ ส่วนดอกเบี้ยคงค้างจำนวน 10 กว่าล้านบาท แต่วันนี้ปิดบัญชี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สหกรณ์มีหนี้ทั้งหมด 126 ล้านบาท ขณะที่สมาชิกมีดอกเบี้ยคงค้างแค่ 8 แสนกว่าบาทเท่านั้น มีสมาชิกผิดสัญญาแค่จำนวน 3.5 ล้านบาท นอกนั้นเป็นหนี้ปกติทั้งหมด

“ยอมรับว่าเมื่อก่อนเจอปัญหาหนี้ค้างเยอะมาก ไม่มีการส่งเสริมอาชีพอย่างจริงจัง มีแต่เรียกทวงหนี้อย่างเดียว ก็เลยมาประชุมในคณะกรรมการว่าถ้าเรามัวเอาแต่ทวงหนี้อย่างเดียวคงจะได้เงินคืนยาก เพราะเขาก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย การส่งเสริมอาชีพเพื่อให้เขามีรายได้ เขาถึงจะมีเงินมาจ่าย อีกอย่างต้องสร้างความศรัทธาในตัวคณะกรรมการฯ กรรมการ เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องไปนั่งในหัวใจสมาชิกด้วย” ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด เผยกลยุทธ์แห่งความสำเร็จ พร้อมย้ำว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ จะออกเยี่ยมเยียนสมาชิกบ่อยมาก ไม่ได้ไปทวงหนี้แต่ไปให้คำแนะนำส่งเสริมอาชีพ หากคนไหนทุนน้อยหรือไม่มีทุนแต่มีความตั้งใจอยากจะทำ ทางสหกรณ์ก็จะนำกำไร (บางส่วน) ให้สมาชิกกู้ปลอดดอกเบี้ยเพื่อนำไปเป็นทุนตั้งต้นในการประกอบอาชีพด้วย

“ส่วนใหญ่จะกู้เฉลี่ย 1-3 หมื่นต่อราย ถ้าเป็นไร่นาสวนผสมก็จะกู้มากหน่อย เงินที่สมาชิกกู้ไปทางสหกรณ์ก็จะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เงินที่กู้ไปนั้นใช้ตามวัตถุประสงค์ เรามีการร่วมกันวางแผนการปลูกว่าช่วงไหนจะปลูกอะไรเพื่อไม่ให้ผลผลิตออกมาล้นตลาด ตามสโลแกน “สมาชิกผลผลิต สหกรณ์ตลาด” สมมติว่าอาทิตย์หน้าแตงกวาจะออกเราก็จะแจ้งให้พ่อค้ามารับซื้อถึงแปลงในทันที พร้อมดูแลกลไกเรื่องราคาให้ด้วย เพื่อไม่ให้พ่อค้ามากดราคา แต่การจ่ายเงินจะต้องผ่านสหกรณ์” ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด ย้ำทิ้งท้าย