เปิดใจ 2 เด็กไทยจากทีม Thaioil Jump Rope ติดทีมชาติคว้ารางวัลกระโดดเชือกระดับโลก

จากสถานการณ์ทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมต่างๆ มากมายต้องหยุดชะงักลง รวมถึงกิจกรรมการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  อย่างไรก็ตาม ยังมีกีฬาบางรายการ บางประเภทได้พลิกแพลงรูปแบบจัดการแข่งขันเป็นแบบ Virtual แทน อย่างเช่นการแข่งขันกีฬากระโดดเชือกนานาชาติใน รายการ “IJRU 2021 Virtual World Championships” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

 

เหนือสิ่งใด มีสิ่งที่น่ายินดี คือ ทีมนักกีฬากระโดดเชือกเยาวชนจากแหลมฉบัง ในนามทีม Thaioil Jump Rope สามารถติดอันดับโลกในการแข่งขันครั้งนี้ได้สำเร็จ แม้จะต้องฝ่าด่านผู้เข้าแข่งขันฝีมือดีจาก 32 ประเทศทั่วโลกก็ตาม โดยทีม Thaioil Jump Rope สามารถทำคะแนนติดอันดับโลกได้ถึง 3 รายการด้วยกัน คือ ประเภท Male Single Double Unders Relay (กระโดดเชือกผลัดบุคคลดับเบิ้ลอันเดอร์) ได้ลำดับที่ 6 และประเภท Male Single Rope Speed Relay (กระโดดเชือกทีมผลัดบุคคลเร็ว) ได้ลำดับที่ 7 และประเภท Male Single Rope Speed Sprint (กระโดดเชือกเดี่ยวบุคคลเร็ว) ได้ลำดับที่ 8คุณวิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มไทยออยล์ โดยศูนย์สุขภาพและการเรียนรู้กลุ่มไทยออยล์เพื่อชุมชน ได้จัดโครงการส่งเสริมกีฬากระโดดเชือกให้แก่โรงเรียนรอบโรงกลั่นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อส่งเสริมเยาวชนให้มีใจรักการออกกำลังกาย อันจะนำไปสู่การพัฒนาสมรรถภาพทางร่างกายและหัวใจ สร้างภูมิคุ้มกัน และรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลจากยาเสพติด

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มไทยออยล์ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมกีฬากระโดดเชือกในหลากหลายรูปแบบ  เช่น  การจัดแข่งขันกระโดดเชือกชิงแชมป์ไทยออยล์ การจัดอบรมครูฝึก การสนับสนุนโรงเรียนรอบโรงกลั่นให้ไปร่วมแข่งขันในเวทีต่างๆ และการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกระโดดเชือกชิงถ้วยพระราชทานที่จัดโดยมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งนักกีฬาสามารถสร้างผลงานและชื่อเสียงมาได้อย่างต่อเนื่อง

คราวนี้ลองมาฟังความรู้สึกของนักกีฬาบ้าง คนแรก “สมัชญ์ ดุกขุนทด” จากโรงเรียนบุญจิตวิทยา เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกโรงเรียนเขาให้นักเรียนเลือกทำกิจกรรมชมรม ตนได้เลือกชมรมกระโดดเชือก เมื่อได้ทดลองกระโดดแล้วก็มีความชอบมากๆ เนื่องจากได้ออกกำลังกาย ซึ่งตอนนั้นอายุ 8 ขวบ เท่านั้น แต่ตอนนี้ 15 ปีแล้ว ทางโรงเรียน จึงส่งไปร่วมแข่งขันแบบทีมที่ไทยออยล์ พอเล่นไปเรื่อยๆ ก็ได้เข้าร่วมทีมอย่างต่อเนื่อง จนอยู่ ม. 3 ได้เข้าไปแข่งในเด็กรุ่น อายุ 14-15 ปี ต่อมาก็ได้รับการคัดเลือกไปแข่งในระดับโลก

“สำหรับการซ้อมในช่วงโควิดนั้น ตนได้ซ้อมเองที่บ้าน ซ้อมคนเดียว อาศัยดูจากคลิปบ้าง นำเอาเทคนิคที่ศึกษาจากยูทูปมาใช้บ้าง โดยมีทางบ้านคอยสนับสนุน พาไปแข่งและไปซ้อมทุกครั้ง และต้องขอบคุณบริษัทไทยออยล์ ที่ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ในการซ้อมและใช้แข่งขันจนประสบความสำเร็จ” สมัชญ์ กล่าวด้าน “ยศกร ขาวงาม” นักเรียนโรงเรียนเทศบาลแหลมฉบัง 1 เป็นอีกหนึ่งนักกีฬาโดดเชือกที่ได้รางวัลเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นในการมาเป็นนักกีฬากระโดดเชือก นั้น เนื่องจากมีอยู่วันหนึ่งตนได้ไปเข้าแถวในสนามฟุตบอลทางโรงเรียนได้ประกาศชื่อคนได้รับรางวัลและรับถ้วยรางวัลกระโดดเชือก ซึ่งตอนนั้นตนอยู่ ชั้น ป.1 จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นอย่างเขาบ้าง ตอนแรกๆ ก็แอบดูรุ่นพี่ๆ ซ้อม ครูเห็นเลยเรียกเข้ามาร่วมซ้อมด้วย ช่วงแรกๆ ครูได้ให้รุ่นพี่มาเป็นคนช่วยซ้อม โดยเน้นเรื่องการสลับขา พอขึ้น ป. 2 และ ป. 3 จึงได้เข้าทีม ป.3 ไปแข่งจริงจังในระดับจังหวัดปรากฏว่าได้เหรียญทอง รู้สึกภูมิใจมาก หลังจากนั้นก็ฝึกอย่างหนักและต่อเนื่องโดยได้เข้าร่วมซ้อมกับรุ่นพี่อายุ 15 ปี

ด้าน “ครูสุนีย์ แสงอรุณ” จากโรงเรียนเทศบาลแหลมฉบัง 1 เป็นผู้ฝึกสอนเปิดเผย ว่า วิธีการสอนนั้นจะสอนให้เด็กๆ ใช้ทักษะการเรียนรู้เอง เนื่องจากเราไม่มีโค้ชมืออาชีพมาสอน ต่อมาจึงได้สมัครเข้าโครงการของไทยออยล์

ในการแข่งขันจะใช้เวลา 30 วินาที ช่วง 20 วินาทีแรก ต้องทำความเร็วให้สม่ำเสมอให้ได้เกิน 70-80 % กระทั่ง 10 วินาทีสุดท้ายจะต้องมีแรงระเบิด ต้องกลั้นหายใจให้สุด เพื่อให้ได้จำนวนรอบสูงที่สุด ซึ่งจะต้องมีการซ้อมอย่างสม่ำเสมอ โดยมีบริษัทไทยออยล์ให้การสนับสนุนด้านโภชนาการอย่างเต็มที่ทั้งอาหารและนม เมื่อสอบถามว่าในระหว่างการซ้อมมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง คุณครูสุนีย์บอกว่า คงเป็นเรื่องอุปกรณ์หากไม่ดีถือว่าเป็นอุปสรรคและเป็นจุดอ่อนอย่างมาก ส่วนอาหารก็มีความสำคัญต้องบำรุง ต้องควบคู่กันไปเพื่อให้ได้กล้ามเนื้อที่ดี

สำหรับเคล็ดลับความสำเร็จคุณครูเล่าให้ฟังว่า เด็กต้องมีวินัย หลังเลิกเรียนจะฝึกถึง 3 ทุ่มครึ่ง พอถึงเวลาแข่งขันก็จะอัดเทปส่งไปแต่การอัดเทปมีอุปสรรคอย่างมากเนื่องจากเด็กจะไม่มีแรงกระตุ้นในการแข่งเมื่อเทียบกับการแข่งในสนามจริง ในการแข่งขันจะแข่งตามสถิติที่กำหนด ส่วนการซ้อมจะเน้นเรื่องความเร็ว ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่าง เราเป็นครูต้องทำหน้าที่สอนในห้องเรียนก่อน แล้วจึงค่อยมาเป็นโค้ชให้เด็กๆ ในเวลาว่าง ทำให้มีเวลาซ้อมน้อย ได้ซ้อมเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้น

“กีฬากระโดดเชือกเป็นกีฬาใหม่ จึงขาดโค้ชมาสอน เด็กๆ ต้องอดทน ขยันซ้อมซึ่งในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไทยออยล์ได้สนับสนุนโค้ชจากประเทศเกาหลีมาอบรมให้กับเด็กๆ และครู สอนในเรื่องเทคนิค ได้คัดเลือกเด็กไป 5 คน ให้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ทุกคนเรียนรู้เอง ตั้งเป้า อยากได้ถ้วยรางวัลรวมจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10” ครูสุนีย์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้คือความภูมิใจของบริษัทไทยออยล์ที่มีส่วนในการสร้างความฝันและผลักดันเด็กๆ รอบโรงกลั่นหันมาออกกำลังกายด้วยกีฬากระโดดเชือกจนสามารถก้าวสู่ระดับโลกสำเร็จ