“ปลูกป่า รักษ์น้ำ สืบสาน พระราชปณิธาน” พื้นที่ผลสัมฤทธิ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

“รู้สึกปลาบปลื้มก็เหมือนพระองค์ท่านมาด้วยตัวเอง ยินดีมากๆ ชีวิตจากการทำเกษตรพอเพียงแบบผสมผสานทำให้ชีวิตไม่ต้องดิ้นรน ทำตามพระพระราชดำรัสของพระองค์ท่านวันนี้อยู่ดีกินดี” นางรุ่งทิพย์ ดีเด่น ราษฎรหมู่ที่ 8 ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี กล่าวระหว่างรอต้อนรับ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ในโอกาสเดินทางติดตามผลสัมฤทธิ์โครงการอ่างเก็บน้ำทุ่งขามอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

นางสาวรุ่งทิพย์ ดีเด่น หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำทุ่งขามฯ ซึ่งเดิมทำงานในโรงงาน แต่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายจึงกลับมาทำการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง ด้วยการเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ปลูกกล้วยหอมทองส่งโรงงาน แต่ก็ไม่ยั่งยืนเพราะปลูกกล้วยหอมทองอย่างเดียวหรือเรียกทั่วไปว่าปลูกพืชเชิงเดี่ยว ช่วงผลผลิตมากราคาจะตกต่ำทำให้ขาดทุน ขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่งานศึกษาทดลองและขยายผลจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี มาเยี่ยมและเชิญชวนให้เข้าเป็นสมาชิกของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ

เมื่อปี 2557 จึงได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรต่างๆ เช่น การนำวัสดุเหลือใช้มาทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำหมักชีวภาพ การปลูกไม้ผล ต่อมาจึงนำความรู้มาปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกเป็นปลูกไม้ผลที่มีอายุยืนหลากหลายชนิด เริ่มจากมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์บ้านแพ้ว ผสมผสานกับโกโก้ กล้วย มะม่วง และฝรั่ง ทำให้เกิดการเกื้อกูลระหว่างราคากับผลผลิต ขณะที่ราคาผลผลิตพืชชนิดหนึ่งตกต่ำก็จะมีอีกชนิดหนึ่งเข้ามาทดแทน ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำทุ่งขามฯ ทำให้การปลูกพืชผักไม้ผลเจริญงอกงามได้ผลผลิตดีขึ้น

“เดิมได้ใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคจากสระเก็บน้ำของหมู่บ้านซึ่งรับน้ำจากน้ำฝน และน้ำซึมใต้ดินโดยห่างจากบ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ต่อมามีโครงการอ่างเก็บน้ำทุ่งขามฯ จึงได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำโดยรับน้ำผ่านคลองส่งน้ำลงสู่สระพักน้ำในบริเวณบ้าน จากนั้นส่งเข้าระบบน้ำหยดและสปริงเกลอร์ในแปลงเพาะปลูก ทำให้มีน้ำเพียงพอทั้งอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 25,000 บาท” นางรุ่งทิพย์ ดีเด่น กล่าว

และเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทรงให้ความสำคัญในการดูแลรักษาป่าไม้ และแหล่งน้ำ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จึงจัดทำโครงการร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ ประจำปี 2565 “ปลูกป่า รักษ์น้ำ สืบสาน พระราชปณิธาน” ขึ้น ณ โครงการอ่างเก็บน้ำทุ่งขามอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดย พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลางเป็นประธานเปิดโครงการ มีกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติและปรับภูมิทัศน์อ่างเก็บน้ำฯ ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนและการท่องเที่ยว การปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดและพันธุ์กุ้ง ตลอดถึงการซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น

การนี้องคมนตรีได้กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งขามอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างมาแล้ว 41 ปี นับเป็นอ่างพวงชุดแรกของประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้จัดทำขึ้น เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ลักษณะเขื่อนดิน ความจุ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) หัวหิน-ชะอำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม อ่างเก็บน้ำไม้ตาย อ่างเก็บน้ำทุ่งขาม อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด อ่างเก็บน้ำห้วยทราย (หุบกะพง) และบ่อพักน้ำเขากะปุก ในรูปแบบการบริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

โดยอ่างเก็บน้ำทุ่งขามฯ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2524 มีการบริการจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพของน้ำต้นทุนที่สูงกว่า โดยใช้แรงโน้มถ่วงตามสภาพธรรมชาติ ห้วย คลอง ระบายน้ำข้ามลุ่มน้ำลงอ่างเก็บน้ำทุ่งขามฯ ปัจจุบันสามารถส่งน้ำสนับสนุนด้านการเกษตรให้แก่ประชาชนหมู่ที่ 1, 2, 3, 4, 5 และ 7 ในพื้นที่ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ประมาณ 8,000 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับใช้ทำประปาหมู่บ้านให้แก่หมู่ที่ 1, 2, 3 และ 8 ของตำบลไร่ใหม่พัฒนา อีกด้วย

“ได้พบกับชาวบ้านทุกหมู่บ้าน ที่มาแสดงกิจกรรมต่างๆ ชาวบ้านทุกคน ทุกครอบครัวมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ 40 กว่าปีที่แล้ว ที่พระองค์ได้พระราชทานโครงการฯ ปัจจุบันราษฎรในพื้นที่มีความสุข และได้ร่วมกันพัฒนากิจกรรมเพื่อการทำกิน ทำให้สินค้าในหมู่บ้านสามารถนำออกมาขายได้อย่างกว้างขวาง ทำให้คนที่ไปทำงานในต่างถิ่นก็กลับมาร่วมพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง เพราะที่นี่มีรายได้ มีช่องทางทำกิน และวันนี้ตลอดไปในอนาคตที่นี่จะน่าอยู่ผู้คนก็จะมีความสุข” องคมนตรีกล่าว