63 ปี วช. มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา ในเวที NRCT Talk เวทีแห่งคนช่างคิด

วันที่ 27 ตุลาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีเสวนา NRCT Talk เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี ภายใต้แนวคิด “63 ปี วช. มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นมาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของฝีมือนักวิจัยไทย โดยมี นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนา ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรมบนเวที “NRCT Talk” ที่จัดขึ้น วช. ให้การสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมโดยมุ่งเน้นการนำความรู้จากผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเด็นท้าทายของสังคม ซึ่งการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร ด้านการวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ประชาชนทั่วไปรวมไปถึงการประชาสัมพันธ์และจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นของ วช.เพื่อสร้างความตระหนัก และการรับรู้ต่อภาครัฐและเอกชนในบทบาทที่ วช. เป็นผู้สนับสนุนและผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ต่อสังคมเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

ซึ่งผลงานที่ร่วมเสวนาบนเวที NRCT Talk เป็นผลงานที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมจาก วช. จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ 1) Beeplus-อาหารเสริมทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์ BIO-FERA-จุลินทรีย์ผสมเอนไซม์ชีวภาพ 2) เครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อนและผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดอบแห้ง และ 3) ตุ๊กตายาดมไทยทรงดำบ้านดอน

ผลงานจากโครงการวิจัยชิ้นที่ 1 : เรื่อง “Beeplus-อาหารเสริมทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์ BIO-FERA-จุลินทรีย์ผสมเอนไซม์ชีวภาพ” โดย ดร.บาจรีย์ ฉัตรทอง และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความโดดเด่นของงานวิจัย คือ ผลิตภัณฑ์ Beeplus-อาหารเสริมทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์ BIO-FERA-จุลินทรีย์ผสมเอนไซม์ชีวภาพนั้น มีโภชนาการที่สำคัญ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แร่ธาตุ และวิตามินดี รวมไปถึงกรดอะมิโนที่จำเป็นครบถ้วน ที่จำเป็นต่อผึ้งในการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต ผลิตภัณฑ์นี้สามารถใช้ประโยชน์ได้ง่ายและลดความยุ่งยากต่อการใช้งาน ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ แตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีราคาสูง

Advertisement

ผลงานจากโครงการวิจัยชิ้นที่ 2 : เรื่อง “เครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อนและผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดอบแห้ง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นนทนันท์ พลพันธ์ และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ความโดดเด่นของงานวิจัย คือ จากปัญหาการเก็บรักษาจิ้งหรีดใช้วิธีการแช่แข็งเป็นหลักทำให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งจิ้งหรีดแช่แข็งมีน้ำหนักมากทำให้ค่าขนส่งแพง คณะผู้วิจัยจึงเลือกวิธีการอบแห้งจิ้งหรีดด้วยเครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อน โดยลดความชื้นจิ้งหรีดปริมาณน้ำอิสระน้อยกว่า 0.6 ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยจากจุลินทรีย์ก่อโรค และยับยั้งการสร้างสารพิษของเชื้อรา

การอบแห้งด้วยเทคนิคนี้ใช้อุณหภูมิในการอบแห้งที่ต่ำ ผลิตภัณฑ์ที่ได้หลังการอบแห้งจึงมีคุณภาพที่ดี และได้ทำการศึกษารูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมในการเก็บรักษาเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดอบแห้ง นับเป็นนวัตกรรมเกษตรเชิงสร้างสรรค์ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

Advertisement

ผลงานจากโครงการวิจัยชิ้นที่ 3 : เรื่อง “ตุ๊กตาไทยทรงดำบ้านดอน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์รุจิราภา งามสระคู และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ความโดดเด่นของงานวิจัย คือ การนำวัฒนธรรมการแต่งกายของไทยทรงดำที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ของชุมชนไทยทรงดำ ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มาผสมผสานในเชิงมิติทางวัฒนธรรมสู่การต่อยอดเพิ่มมูลค่า นับเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า

ตุ๊กตาดินประดิษฐ์ สำหรับบรรจุยาดมและยาหม่อง โดยออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าที่แสดงเอกลักษณ์ภูมิปัญญา การแต่งกายของ ชาย หญิง ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำที่โดดเด่น ผลิตภัณฑ์ยาดมที่มีส่วนผสมของ มะแข่นเป็นเครื่องเทศที่ชาวไทยทรงดำ นำมาประกอบอาหาร และการนำแป้งข้าวโพดมาใช้ในการปั้นตุ๊กตาดินประดิษฐ์ในส่วนของบรรจุภัณฑ์ สมุนไพรที่ไม่ได้มีแค่ไว้ดมแก้วิงเวียนศีรษะเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ และกลุ่มอาชีพตุ๊กตาไทยทรงดำบ้านดอนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

สำหรับเวทีเสวนา NRCT Talk จัดขึ้นในงานวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพจากฝีมือนักวิจัยไทย โดยผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมาร่วมเสวนาในเวทีนี้จะร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ชิม ช็อป เพลิน เดินตลาดงานวิจัย ซึ่งมีผลงานวิจัยพร้อมใช้ประโยชน์มาจัดแสดงอีกมากมาย โดยจะจัดไปถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://63years.nrct.go.th