มังคุดไทย ทางไหนที่ควรเลือกเดิน

มังคุด ราชินีแห่งผลไม้ (Queen of Fruits) โดยสภาพการผลิตมังคุดของประเทศไทย ในแหล่งผลิต สำคัญๆ ทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ มีแนวโน้มพื้นที่ปลูกลดลง โดยลำดับ ซึ่งมีผลสืบเนื่องจากในช่วง  2-3 ปีที่ผ่านมาราคาทุเรียนพุ่งสูงมาก ส่วนมังคุดมีราคาค่อนข้างผันผวน คุณภาพผลผลิตก็แปรปรวนไปตามสภาพภูมิอากาศ ยากแก่การควบคุม ค่าจัดการเก็บเกี่ยวก็สูง ขาดแคลนแรงงานรับจ้าง ฯลฯ ทำให้ชาวสวนมังคุดหลายรายตัดสินใจโค่นต้นมังคุดทิ้ง แล้วหันมาปลูกทุเรียน และพืชอื่นแทนกันอย่างน่าเสียดาย

ความพยายามของหน่วยงานรัฐ และเครือข่ายเกษตรกรในหลายๆ กลุ่ม หลายๆ พื้นที่ ที่ยังรัก หวงแหน และเป็นห่วงเป็นใยอนาคตของมังคุดไทย ที่ยังต้องเจอกับวิบากกรรม บางครั้งก็แพงดั่งทองคำ บางครั้งก็ถูกเหมือนผ้าขี้ริ้ว แม้จะได้จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นกลุ่มแปลงใหญ่มังคุด เป็นชมรมชาวสวนมังคุด หรือเป็นกลุ่มสหกรณ์ต่างๆ แต่สุดท้ายก็มักเจอปัญหาเรื่องราคา วนไปวนมาอยู่บ่อยๆ

บรรยากาศผู้เข้าร่วมเสวนาในห้องประชุม
11 ธันวาคม 2565

ด้วยความเป็นห่วงในเรื่องนี้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนมังคุด ทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยการผลักดันของ ผอ.ชลธี นุ่มหนู อดีต ผอ. สวพ.6 จันทบุรี ที่ได้คิดให้มีเวทีเสวนาทางวิชาการเรื่อง “อนาคตมังคุดไทย ทำอย่างไรให้ยั่งยืน” ในโอกาสจัดงานพืชสวนก้าวหน้าครั้งที่ 17 (Hortex 2022) ในวันที่ 11 ธันวาคม 2565 ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี

การจัดเสวนาในครั้งนี้ได้เชิญผู้มีประสบการณ์ แกนนำชาวสวนมังคุด นักวิชาการ จากหน่วยงานต่างๆ และภาคเอกชน เข้าร่วมระดมความคิด เสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และกำหนดทิศทางการพัฒนาเพื่อหาทางออกให้ มังคุดไทย ว่าควรจะไปทางไหนดี

นายชลธี นุ่มหนู อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี แกนนำคนสำคัญในการจัดงานฯ

โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ (1) ผอ. ชลธี นุ่มหนู อดีต ผอ.สวพ.6 จันทบุรี เป็นผู้ดำเนินการนำเสวนา (2) นายนิพนธ์ สุขสะอาด อดีตเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช (3) นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้า  ผลไม้ยุคใหม่ และ (4) นางสาวดวงพร เวชสิทธิ์ เกษตรกรชาวสวนมังคุดในจังหวัดจันทบุรี

นายนิพนธ์ สุขสะอาด อดีตเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช (สวมสูทสีดำนั่งกลาง) ในนามวิทยากรตัวแทนจากภาคใต้

ผลการดำเนินการจัดเวทีเสวนา สรุปได้ว่า การรวมกลุ่มกันยังเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปลงใหญ่ หรือเป็นสมาคมชาวสวนมังคุดที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพิ่อหาทางช่วยเหลือสมาชิกด้วยกันเอง เพื่อการต่อรองกับพ่อค้า หรือการขับเคลื่อนงานในนามขององค์กรเกษตรกรที่มีความเป็นปึกแผ่น เข้มแข็ง การพัฒนายกระดับคุณภาพผลผลิต การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มช่องทางการตลาด การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากส่วนเหลือ (Zero Waste) ให้มีมูลค่าสูง หรือใช้ทดแทนสารเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิต การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนมังคุดสามารถมีรายได้อย่างมั่นคง รักและหวงแหนต้นมังคุดให้ยั่งยืนตลอดไป

ส่วนการพัฒนามังคุดในภาคใต้ นายนิพนธ์ สุขสะอาด อดีตเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำเสนอคลิปวีดีโอ เรื่องรูปแบบการพัฒนามังคุดให้เป็นช่องทางเลือกการตลาด ตามรสนิยมของลูกค้าหรือผู้บริโภค เป็นรูปแบบต่างๆ เช่น มังคุดภูเขา มังคุดโบราณ มังคุดลายมังกร (มังคุดผิวลาย) มังคุดคัด (มังคุดดิบแกะเปลือก)  มังคุดดำ (สุกคาต้น) มังคุดนอกฤดู  และมังคุดเกรดพรีเมี่ยม ฯลฯ นอกจากนั้น ยังได้สรุปประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนามังคุดในภาพรวม ดังนี้

1) การพัฒนาคนเป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องใส่ใจในการพัฒนาคน ทั้งเกษตรกร เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักวิจัย และคณะทำงานขับเคลื่อนงาน คณะต่างๆ

2) การพัฒนากลุ่ม/เครือข่ายอาชีพ ให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่มีกฎหมายรองรับ ทั้งกลุ่มสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปลงใหญ่ หรือสมาคมชาวสวนมังคุด ฯลฯ

นางปัทมา นามวงษ์ อดีตเกษตรจังหวัดจันทบุรี (สวมสูทสีครีม) ว่าที่นายกสมาคมฯ

3) การพัฒนากระบวนการผลิตมังคุดแบบมืออาชีพ ตามความถนัดและความต้องการของตลาด และได้รับมาตรฐานสากล เช่น การทำมังคุดเกรดพรีเมี่ยม การทำมังคุดนอกฤดู การแปรรูปมังคุดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพที่มีมูลค่าสูง เป็นเวชสำอางค์ ฯลฯ

4) การพัฒนาจุดรับซิ้อและโรงคัดบรรจุ ที่ได้มาตรฐานสากล โดยภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการพัฒนาโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่ได้มาตรฐาน GMP หรือมาตรฐานอื่นๆตามที่กฎหมายกำหนด

5) จัดระเบียบการตลาดมังคุด มีการขึ้นทะเบียนผู้ซื้อ (ล้ง) และผู้ประกอบการในพิ้นที่ทุกราย รวมทั้งการจัดทำข้อตกลง หรือมาตรการทางสังคม ที่เป็นข้อตกลงร่วมระหว่างผู้ซิ้อ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เกี่ยวข้อง

6) การพัฒนานักการตลาดชุมชน การคัดเลือกและพัฒนา/สนับสนุน ตัวแทนกลุ่มที่มีใจรักในการเป็นนักการตลาด ให้ทำหน้าที่ในฐานะนักการตลาดเพื่อขายสินค้าของตนเอง ของกลุ่ม และของชุมชน เน้นตลาดภายในประเทศ หรือรวบรวมให้กับพ่อค้าส่งออก

7) การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า และพัฒนาส่วนเหลือ การศึกษาวิจัยในเรื่องการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ามังคุด เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนเหลือ ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์

8) การพัฒนาสวนมังคุดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตร “ตลาดท่องเที่ยวเกษตร คือตลาดเดียวในมือเกษตรกร” ที่เกษตรกรสามารถกำหนดรูปแบบ วิธีการ ราคา และเงื่อนไขต่างๆ ในการบริการได้เอง เช่น ถนนผลไม้ ตลาดนัดชุมชนงานเทศกาลผลไม้ บุฟเฟ่ต์ผลไม้ การจัดประกวดแข่งขันต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับความสำคัญของผลไม้ไทย และเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี

9) การพัฒนาสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ และมีการจัดทำเรื่องราวที่น่าจดจำ (Story) เพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น มังคุดคัด มังคุดโบราณ มังคุดภูเขา มังคุด GI ฯลฯ

10) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรกรสามารถมีรายได้จากกิจกรรมการเกษตริทั้งในรูปผลผลิตสด อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ได้ตลอดปี

ข้อสรุปและแนวทางพัฒนาหลังจากเสร็จสิ้นการเสวนา ได้มอบหมายให้แกนนำกลุ่ม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ช่วยกันออกแบบในการจัดตั้งองค์กรชาวสวนมังคุด กำหนดโครงสร้างการบริหารองค์กร ในรูปแบบ “สมาคมชาวสวนมังคุดไทย”  เป้าหมายเกษตรกรทั้งในภาคตะวันออก และภาคใต้ืในทุกจังหวัดที่มีการปลูกมังคุด ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้นางปัทมา นามวงษ์ อดีตเกษตรจังหวัดจันทบุรี ทำหน้าที่ว่าที่นายกสมาคมฯ เพื่อรวบรวมแกนนำมาร่วมกันยกร่างระเบียบ และเงื่อนไขการสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฯ และจะได้นัดคุยรายละเอียดกันอีกครั้งในเร็วๆนี้ เพื่อจัดตั้งเป็นสมาคมมังคุดไทย ให้เร็วที่สุด

นิพนธ์ สุขสะอาด / เรียบเรียง