เผยแพร่ |
---|
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมเสวนาการประชุมผู้นำอุตสาหกรรมไก่เนื้อระดับโลก International Poultry Council 2023 พร้อมแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ แนวทางปฏิบัติที่ดีเลิศของซีพีเอฟ รวมถึงความสำเร็จด้านความยั่งยืน จากการเลี้ยงไก่โดยยึดหลักสวัสดิภาพสัตว์ ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มเข้ามาสนับสนุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพดูแลไก่ในทุกขั้นตอน ช่วยสร้างอาหารปลอดภัย ปลอดสาร สู่ผู้บริโภคทั่วโลก
น.สพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองผู้อำนวยการ ด้านมาตรฐานฟาร์ม และข้อกำหนดลูกค้า ซีพีเอฟ ได้แบ่งปันความรู้ในหัวข้อ Sustainable broiler farming in Thailand แชร์ความสำเร็จด้านการเลี้ยงไก่ด้วยหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีให้กับผู้นำในอุตสาหกรรมไก่เนื้อ จาก 27 ประเทศทั่วโลก โดยได้ชูความสำคัญของหลักอิสรภาพสัตว์ 5 ประการ ตามมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ การดูแลสัตว์ให้อยู่สุขสบาย มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง ไม่จำเป็นต้องใช้ปฏิชีวนะหรือฮอร์โมนเร่งการเติบโต ลดความเสี่ยงปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อไก่
“การเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี ส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม ตามหลักการ One Health หรือสุขภาพหนึ่งเดียว เพราะสัตว์ที่มีสุขภาพดี จะแข็งแรง เติบโตเร็วตามธรรมชาติ มีอัตราการแลกเนื้อที่ดี รวมถึงอัตรารอดสูง จึงเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรในการเลี้ยงสัตว์ เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง” น.สพ.พยุงศักดิ์ กล่าว
ซีพีเอฟ ได้นำเทคโนโลยี Smart Farming โดยใช้ IoT และระบบอัจฉริยะ พร้อมทั้งมีการเก็บข้อมูล บน I Cloud ร่วมกับอุปกรณ์อัตโนมัติ และโรงเรือนระบบปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ เพื่อลดการสัมผัสระหว่างคน และสัตว์ ซึ่งระบบ IoT ช่วยควบคุมการจัดการเลี้ยงไก่ภายในโรงเรือนอย่างแม่นยำ อีกทั้ง เพื่อให้ไก่มีสุขภาพด้านจิตใจที่ดี โดยมีการนำอุปกรณ์ของเล่นให้ไก่ เช่น ลูกบอล หรือมีคอนให้ไก่ได้เกาะ เพื่อผ่อนคลาย มีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจตลอดเวลา
นอกจากนี้ บริษัทได้คิดค้นนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์ด้วยโปรไบโอติกส์ที่ดีต่อสุขภาพสัตว์ ช่วยปรับสมดุลในลำไส้ไก่ เป็นการเสริมภูมิคุ้มกันให้สัตว์แข็งแรงตามธรรมชาติ มีสุขภาพพื้นฐานดี จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเร่งการเจริญเติบโต
ทั้งนี้ ซีพีเอฟยังได้ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero ในปี 2593 โดยในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ไก่สดของซีพีเอฟ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ไก่สดในประเทศไทยถึง 50%
“แนวทางปฏิบัติในการเลี้ยงสัตว์ของซีพีเอฟ เป็นการตอบโจทย์ของสังคม นอกจากนี้ เรายังได้พยายามยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารให้สูงขึ้นต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในสินค้าทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย สวัสดิภาพสัตว์ ไปจนถึงด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งหน้าสู่การเป็นครัวของโลกอย่างยั่งยืน” นสพ.พยุงศักดิ์ กล่าว
งาน International Poultry Council 2023 เป็นการรวมตัวของผู้นำในอุตสาหกรรมไก่เนื้อระดับโลก เพื่อแบ่งปันความรู้ให้อุตสาหกรรมสัตว์ปีกเดินหน้าอย่างยั่งยืน สำหรับการประชุมที่ประเทศไทยในครั้งนี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6 – 7 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท มีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ดร.ธนวรรษ เทียนสิน Director Animal Production and Health Division, Food and Agriculture Organization (FAO) ผู้แทนจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) ผู้แทนหน่วยงานองค์กรการค้าโลก (WTO) ผู้แทนธนาคาร Rabobank และผู้แทนองค์กรธุรกิจชั้นนำในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกจากทั่วโลก