ชิม “ทุเรียนทองผาภูมิ” คุณภาพจากความตั้งใจ ส่งให้ผู้บริโภคโดยตรง

“เมืองกาญจนบุรี” มีทุเรียนพันธุ์ดี รสชาติอร่อย เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่มที่ได้ยินชื่อเสียงมานมนาน โดยปลูกกันมากที่ “อำเภอทองผาภูมิ” จึงได้หมายมั่นปั้นใจบึ่งรถไปให้ถึงที่ โดยมีปลายทางคือ “สวนสกุลรุ่ง” ตั้งอยู่ตำบลหินดาด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่ทางสวน ร่วมกับ “กลุ่มผู้ปลูกทุเรียนคุณภาพทองผาภูมิ” จัดงาน “ชิมทุเรียนคุณภาพ… อำเภอทองผาภูมิ” พอดิบพอดี…

หลังได้ลองลิ้มชิมรสทุเรียนทองผาภูมิแล้ว ทานอร่อย สมคำร่ำลือ ทั้งหอม หวาน  เนื้อแห้งสุกกำลังลังพอดี จึงสอบถามไปที่นายประสาน ปานคง” เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี ที่มาร่วมงานวันนี้ด้วย ถึงเอกลักษณ์ของทุเรียนที่นี่ทำไมถึงรสชาติดี แตกต่างจากทุเรียนทั่วไปอย่างชัดเจน ก็ได้รับคำตอบว่า ด้วยสภาพพื้นที่ของทองผาภูมิ ซึ่งมีความเหมาะสมกับการปลูกไม้ผลได้เกือบทุกชนิด ทั้งยังให้ผลผลิตและรสชาติที่ดีด้วย อย่างเงาะถือเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของทองผาภูมิ เป็นเงาะที่อร่อย มีรสชาติดี ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเลยทีเดียว

“ ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ปลูกได้ดีในพื้นที่นี้ เฉพาะในอำเภอทองผาภูมิมีพื้นที่ปลูกทุเรียนรวมประมาณ 4,000-5,000 ไร่ ซึ่งมากที่สุดในจัดหวัดกาญจนบุรี ที่มีพื้นที่ปลูกทุเรียนรวม 9,000 ไร่ ทำให้มีชื่อเสียงมานานปีเช่นกัน และในขณะนี้ก็กำลังดำเนินการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) คาดว่าจะได้รับในเร็ววัน เพราะด้วยเอกลักษณะที่โดดเด่น ลักษณะผลมีสีเหลืองทอง ไม่เป็นสีเขียวเหมือนทุเรียนทั่วไป เนื้อมีลักษณะพิเศษ คือ เนื้อแห้ง เนื้อละเอียด ส่วนรสชาติมีความหวาน มัน กรอบ ทุกคนที่ได้ชิมต่างติดใจ”

นายประสานบอกว่า พื้นที่ปลูกทุเรียนตั้งแต่ป่าละอู เพชรบุรี มาถึงทองผาภูมิ จนไปถึงจังหวัดตาก จะมีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเส้นทางของทุเรียนที่มีลักษณะพิเศษ เนื่องจากอยู่ในภูมิประเทศเดียวกัน คือ อยู่ตามแนวเทือกเขาตระนาวศรี แต่ทุเรียนทองผาภูมิมีความโดดเด่นกว่าที่อื่นตรงที่ เวลาทานแล้วจะไม่มีการเรอเหมือนทานทุเรียนทั่วไป เนื่องจากมีปริมาณแก๊สไม่มาก ตรงนี้เป็นอีกลักษณะพิเศษของทุเรียนที่นี่

“ในฐานะหน่วยงานของรัฐ นอกจากให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกและการจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย ให้ตัดทุเรียนช่วงที่แก่จัด ตรงนี้ก็เชื่อมต่อไปยังผู้บริโภคที่ได้รับทุเรียนคุณภาพไปรับประทาน โดยได้ส่งเสริมให้เกษตรกรพยายามนับวันหลังจากการออกดอก อย่างเช่นพันธุ์หมอนทอง หลังจากออกดอก 120 วัน ทุเรียนถึงจะแกพอที่ตัดได้ ก็ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวตามนั้น แต่อย่างไรก็ตามต้องดูองค์ประกอบอื่นรวมด้วย เช่นสภาพอากาศ มีฝนตกไหม หากมีอาจต้องยืดอายุการเก็บออกไปอีกเป็นต้น”

เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุเรียนที่ผลิตเพื่อส่งออกส่วนใหญ่แล้ว มักตัดที่ความแก่ 70 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าความหวาน มัน ความอร่อยยังไม่เต็มที่เท่าที่ควร แต่สำหรับทุเรียนเพื่อบริโภคของทองผาภูมิแนะนำให้ตัดที่ความแก่ 90-95 เปอร์เซ็นต์ ถ้านำมาบ่มต้องไม่เกิน 3 วัน สุกรับประทานได้ ก็เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ  มีรสชาติอร่อยตรงตามความนิยมของผู้บริโภคอย่างแน่นอน

Advertisement

“สวนสกุลรุ่ง” มุ่งผลิตทุเรียนทองผาภูมิคุณภาพ

จากนั้นได้พูดคุยกับ “คุณเวโรจน์ รุ่งประเสริฐวงศ์” เจ้าของสวนสกุลรุ่ง ซึ่งเป็นพ่องานในครั้งนี้ ทั้งยังเป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนคุณภาพทองผาภูมิ ที่มีสมาชิกอยู่ 10 กว่าราย รวมพื้นที่ปลูกไม่น้อยกว่า 100 ไร่ โดยการรวมกลุ่มกันขึ้นมาก็เพื่อ พัฒนาการผลิตให้ผู้บริโภคได้รับทุเรียนคุณภาพ เพราะที่ผ่านมาการผลิตทุเรียนของชาวสวนส่วนใหญ่ เมื่อได้ผลผลิตแล้วก็จำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางเป็นหลัก ส่วนหนึ่งอาจนำไปส่งออกต่างประเทศ ส่วนหนึ่งก็จำหน่ายในประเทศ ซึ่งการผลิตในเป้าหมายดังกล่าวนี้ เกษตรกรไม่ได้รับผิดชอบเรื่องของการตัด เพราะฉะนั้นคุณภาพเมื่อถึงมือผู้บริโภคเป็นอย่างไร ชาวสวนไม่ได้รับรู้

Advertisement
ซ้าย – คุณเวโรจน์ รุ่งประเสริฐวงศ์ ขวา -นางพินิจนันท์ ปังประเสริฐโชค นายก อบต.กลอนโด ร่วมพิธีตัดทุเรียนหมอนทองส่วนสกุลรุ่ง

“หลังจากได้มุ่งหน้าเข้าหาภาคการเกษตรตามความรักความผูกพันธ์ตั้งแต่วัยเด็กอย่างเต็มตัวเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ก็ต้องใจผลิตไม้ผลคุณภาพเพื่อสนองความต้องการทั้งของตัวเองและผู้บริโภคมาตั้งแต่แรก โดยเริ่มจากการทำสวนเงาะตามพื้นที่ดั้งเดิมที่ทำอยู่ก่อน แต่ในปีที่ 2 ก็ปลูกทุเรียนแซมในสวนเงาะ เพราะมองเห็นโอกาสและแนนวโน้มของตลาดที่เติบโตในอนาคตมากกว่า ปัจจุบันทางสวนมีพื้นที่ปลูกกว่า 10 ไร่ รวมทุเรียนประมาณ 200 ต้น ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หมอนทองที่ผู้บริโภคนิยมมากที่สุด และมีพันธุ์อื่นๆ อยู่บ้างเล็กน้อย”

คุณเวโรจน์บอกว่า จริงๆ แล้วในพื้นที่ก็มีเกษตรกรปลูกทุเรียนกันมานานแล้ว ซึ่งก็เป็นที่รับรู้ของผู้บริโภคทั่วไป แต่ช่วงที่ตนเริ่มปลูกได้สักปีที่ 3 ก็ไปเที่ยวงานผลไม้และของดีทองผาภูมิ ปรากฏว่าผลตอบรับเรื่องทุเรียนที่จำหน่ายกันส่วนใหญ่ค่อนไปทางด้านลบ เนื่องจากมีทุเรียนอ่อนและทุเรียนที่รสชาติไม่ดีปะปนจำนวนมาก จึงได้พูดคุยกับชาวสวนที่เห็นพ้องต้องกันว่าต้องการทำทุเรียนที่ดี มีคุณภาพให้ผู้บริโภค จึงมุงหน้าพัฒนาการผลิตมาตั้งแต่วันนั้น

ปัญหาจริงๆ ของทุเรียนไม่ได้คุณภาพ คือ การตัดทุเรียนอ่อนเกินไป ทำให้ไม่สุก ทานไม่ได้ หรือทานได้รสชาติก็ไม่ดี ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคประสบพบเจอมาทุกยุคสมัย แม้มีกฎหมายบังคับสำหรับการจำหน่ายทุเรียนอ่อน แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เท่าที่ควร ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาดังกล่าวต้องแก้ไขได้จากต้นทางการผลิต นั่นก็คือ ที่ตัวเกษตรกรเอง ซึ่งทุเรียนที่จำหน่ายให้ผู้บริโภคต้องตั้งตั้งเป้าการผลิตเพื่อผู้บริโภค ตัดที่ความแก่ 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ไม่ใช่ผลิตเพื่อการส่งออกซึ่งตัดที่ความแก่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือค่อยมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคภายในประเทศ อย่างนี้ก็แก้ปัญหาเรื่องทุเรียนอ่อนไม่ได้ เพราะตั้งใจตัดอ่อนตั้งแต่แรก

“ การตั้งเป้าการผลิตเพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งชาวสวบต้องรับผลิตชอบเรื่องคุณภาพตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง กล่าวคือตั้งแต่ปลูกไปจนถึงเก็บผลผลิต รวมถึงขึ้นตอนการบ่ม การขนส่ง จำผู้บริโภคได้รับประทาน ตรงนี้ถือว่าเป็นความยาก เพราะการผลิตทุเรียนปกติก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยากอยู่แล้ว การดูแลรักษา การจัดการแต่ละระยะ ปุ๋ยที่ให้ก็ต้องถูกสูตร ถูกระยะ ถูกเวลา ถูกปริมาณ ล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการปลูกทุเรียนทั้งสิ้น ยิ่งต้องทำแบบให้ได้ทุเรียนคุณภาพไปถึงผู้บริโภค ถือเป็นเรื่องยากกว่าเดิมเป็นสองเท่าเลยทีเดียว”

คุณเวโรจน์บอกอีกว่า ทุเรียนทองผาภูมิเรามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอยู่แล้ว ทั้งเรื่องเนื้อสสัมผัสที่เป็นครีม มีรสชาติหวานมัน เนื้อละเอียด ไม่มีเส้นใย ซึ่งก็เป็นที่รับรู้ของผู้บริโภคที่ได้เคยลิ้มลองเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามแม้มีข้อได้เปรียนในเรื่องของสภาพอากาศ ภูมิประเทศที่เหมาะสมแล้ว การที่ได้มาซึ่งทุเรียนคุณภาพ ต้องอาศัยการจัดการที่ดีของเกษตรกรร่วมด้วย โดยเฉพาะเรื่องการตัดเก็บผลผลิต เกษตรกรต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าทุเรียนที่เก็บมา มีความแก่ที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป เหมาะที่นำมาบริโภคและให้รสชาติได้ดีที่สุด

อย่างทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มีมาตรฐานพันธุ์อยู่แล้วว่า ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม นับจากดอกบานอยู่ที่ประมาณ 120-135 วัน ดังนั้นเกษตรกรที่ปลูกก็ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนด้วยว่า ทุเรียนลูกไหนอายุเท่าไร จำเป็นอย่างอย่างที่ต้องมีเครื่องหมายหรือรายละเอียดระบุวันทุกลูก แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวผลผลิตตามความคิดของตนเอง โดยดูลักษณะภาพนอกของผลเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ได้เป็นตัวที่บ่งบอกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเป็นทุเรียนแก่ ดังนั้นต้องมีจำนวนวันเป็นองค์ประกอบร่วมกันด้วย

“ทุเรียนทุกลูกของที่สวน มีระบุจำนวนวันไว้ด้วย โดยเริ่มนับจากวันที่หางแย้ไหม้หมด จากนั้นก็เริ่มต้นนับเป็นวันที่ 1 และหลังจากนั้นอีกประมาณ 120 วัน ก็ถึงกำหนดที่เก็บทุเรียนได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันด้วย โดยเฉพาะเรื่องของสภาพอากาศ หากอากาศร้อยกว่าปกติ อายุอ่าจไม่ถึง 120 วัน เพียงแค่ 105-106 วันก็เก็บผลผลิตได้ แต่หากอากาศหนาวเย็นหรือมีฝนตกลงมา อาจยื่นอายุการเก็บเกี่ยวออกไปเป็น 130-135 วันก็ได้ ตรงนี้เป็นตัวแปรจากธรรมชาติที่กำหนดไม่ได้ ไม่ใช่ดูแค่จำนวนวันอย่างเดียว มีองค์ประกอบหลายอย่าง ถึงทำให้ได้ทุเรียนคุณภาพออกมาถึงผู้บริโภค”

“การตลาด” แบบผู้บริโภคต้องเข้าหา

เจ้าของสวนสกุลรุ่งเล่าว่า หลังจากมุ่งผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อผู้บริโภคมาประมาณ 5 ปี ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้หยุดไม่ได้ในการที่จะพัฒนา หาปัญหา นำมาวิเคราะห์ หารือกันว่าจะทำทุเรียนที่มีคุณภาพให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างไร อย่างที่ผ่านมาแม้ผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพออกมา แต่บ่อยครั้งเมื่อถึงมือลูกค้ากลับไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจ เนื่องจากมีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ แล้วส่งสินค้าผ่านขนส่ง ซึ่งระหว่างทางเราควบคุมไม่ได้ อาจมีการทบทบกระแทก การส่งที่ล่าช้าเกินไป ทำให้คุณภาพที่ผู้บริโภคได้รับไม่ดีเท่าที่ควร หรือบางครั้งเมื่อผู้บริโภคได้รับสินค้าแล้วก็แกะเนื้อออกทันที ไม่รอตามวันที่กำหนด ก็ทำให้ได้ทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพเช่นกัน ซึ่งทุเรียนที่ประสบปัญหาต่างๆ ไม่ว่ากรณีใด ทางสวนยินดีคืนเงินให้เต็มจำนวน

“เห็นว่า การส่งสินค้าผ่านทางบริษัทขนส่ง ไม่ใช่แนวทางที่ผู้บริโภคจะได้รับทุเรียนคุณภาพ ทำให้ปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ โดยการจำหน่ายผลผลิตภายในสวนเท่านั้น กล่าวคือผู้บริโภคหากต้องการรับประทานทุเรียนคุณภาพทองผาภูมิ ต้องมาซื้อที่สวน ทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างมีความมั่นใจในคุณภาพ ที่สำคัญทำให้ได้เห็นภาพจริงๆ ตั้งแต่การเก็บ ที่ไม่ได้โยนจากต้นลงมาใส่กระสอบเหมือนที่อื่น การขนส่งเป็นไปอย่างทนุถนอมเพื่อไม่ให้ผิวเสียหาย การบ่ม การจัดการทุกๆ ขั้นตอน ก่อนจะมาเป็นทุเรียนคุณภาพให้ซื้อกลับบ้าน”

คุณเวโรจน์บอกว่า หลายคนสงสัยว่ามีผลผลิตเป็น 10 ไร่ จะจำหน่ายหมดหรือไม่ ซึ่งจากการดำเนินงานมาสักระยะ ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอที่จำหน่ายด้วยซ้ำ เพราะในเมื่อตั้งใจที่ทำของที่ดี มีคุณภาพขนาดนี้ออกมาแล้ว และคนที่ได้ทานต่างกระประทับใจในรสชาติ เนื้อนุ่มกำลังทาน เนื้อแห้ง เหนียวนุ่ม หวานมัน ที่เป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนทองผาภูมิ คนซื้อก็พร้อมจ่าย ขอให้มีผลผลิตลักษณะนี้ออกมา มีเท่าไรก็ไม่เพียงพออย่างแน่นอน

“ทุกวันนี้ก็ได้พยายามประชาสัมพันธ์ เรื่องของสวน เรื่องของกลุ่ม เรื่องของการจัดการให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ ว่าแหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพทองผาภูมิมีอยู่ตรงไหนบ้าง ถ้าหากต้องการทุเรียนคุณภาพ ก็มาที่นี่ได้ และไม่เฉพาะที่ส่วนสกุลรุ่ง หรือเกษตรกรภายในกลุ่มเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ก็มีการผลิตแบบคุณภาพ ที่มุ่งสู่ผู้บริโภคโดยตรงอยู่หลายส่วนเช่นกัน ขอให้มาแล้วหาให้เจอ รับรองได้ทุเรียนที่อร่อยกลับบ้านแน่นอน”

การจัดงานชิมทุเรียนคุณภาพ… อำเภอทองผาภูมิครั้งนี้ คุณเวโรจน์บอกว่า ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงรสชาติของทุเรียนทองผาภูมิว่าอร่อยแค่ไหน ทั้งยังทำให้เห็นถึงขั้นตอนในการผลิตทุเรียนคุณภาพของทางกลุ่ม ที่มุ่งจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ว่าเป็นเช่นไร ให้รู้ว่าอำเภอทองผาภูมิเรามีของดี ซึ่งทุเรียนที่นำมาให้ชิมเป็นของดีของทองผาภูมิ เป็นทุเรียนคุณภาพ นำมาให้ชมเพียงอย่างเดียวไม่มีการจำหน่าย เพราะอยากให้ทุกคนที่มาร่วมงานเข้าถึงรสชาติทุเรียนทองผาภูมิได้โดยทั่วกัน เมื่อทุกคนได้มาชิมถึงแหล่งผลิต ได้มารับรู้ถึงรสชาติของทุเรียนทองผาภูมิจริงๆ  ก็ทำให้รู้ว่าทุเรียนคุณภาพเป็นแบบไหน ก็เกิดความต้องการ มีการซื้อขายกันในอนาคตเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ดี แม้ต้องการให้ผู้บริโภคมาซื้อทุเรียนกับสวนโดยตรง แต่ก็ยังไม่ได้เปิดเป็นลักษณะทัวร์มาที่สวนครั้งละมากๆ เนื่องจากความพร้อมเรื่องของการจัดการและความถนัดในการดูแล หากจัดการไม่ดี มีนักท่องเที่ยวเข้ามาครั้งละมากๆ อาจสร้างความเสียหายให้กับต้นทุเรียนได้ จึงเปิดเข้าเป็นลักษณะครอบครัวหรือทัวร์ขนาดเล็กมากกว่า แค่นี้ก็เพียงพอที่ทำให้ผลผลิตของแต่ละสวนขับเคลื่อนการจำหน่ายได้เป็นอย่างดีแล้ว

คุณเวโรจน์ฝากบอกว่า ผลผลิตทุเรียนคุณภาพ มีช่วงประมาณ ปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ทำให้ขณะนี้ผลผลิตของที่สวนหมดเกลี้ยงแล้ว แต่ส่วนอื่นๆ ก็ยังพอมีบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ถ้าพูดถึงเรื่องของคุณภาพ องค์ประกอบหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือเรื่องของธรรมชาติและควบคุมไม่ได้ ดังนั้น ผลไม้ที่สัมผัสน้ำฝนในปริมาณมากๆ รสชาติก็จืดจาง ความหวาน มัน ความสุกงอม สารต่างๆ ก็ยอมเจือจางเป็นธรรมดา สำหรับฤดูกาลหน้า สามารถติดตามได้ที่ faebook fanpage : สวนสกุลรุ่ง Camping & Cafe’ ซึ่งรวบรวมข้อมูลทุเรียนคุณภาพทองผาภูมิ แต่ละสวนแต่ละสายพันธุ์ รวมถึงช่วงเวลาที่มีมาจำหน่ายด้วย

“อยากประชาสัมพันธ์ออกไปว่า เรามีทุเรียนคุณภาพให้มาเลือกซื้อหาได้ และการซื้อก็อยากให้สละเวลาอันมาค่ามาด้วยตัวเอง มาสนองความสุขความต้องการของตัวเอง ได้มารับประทานทานทุเรียนที่อร่อย เพราะถ้าตัวเองอยากแต่ไม่ยอมมา แล้วชีวิตนี้ต้องการอะไร ซึ่งการมาทองผาภูมิ ไม่ได้มีแค่ทุเรียนเท่านั้น แต่ได้มาท่องเที่ยว ได้มาพักผ่อน ซึ่งที่นี่ก็มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย มาแช่น้ำร้อนลิ่นถิ่น น้ำพุร้อนหินดาด มาดูเขื่อน หรือจะเลยไปปิล็อก อิต่องก็ได้ หรือแค่มานอนสูดอากาศที่นี่ ก็คุ้มค่าแล้ว…” คุณเวโรจน์ กล่าวในที่สุด…