โครงการรณรงค์เนื่องใน “วันดินโลก”เพื่อส่งเสริม เชิดชู เรียนรู้ความสำคัญของ “แผ่นดิน”

มูลนิธิดั่งพ่อสอน ร่วมลงนาม MOU กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง มุ่งเน้นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยนำศิลปะมาผลักดัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับจิตใจ ร่วมจัดโครงการรณรงค์เนื่องใน “วันดินโลก”เพื่อส่งเสริม เชิดชู เรียนรู้ความสำคัญของแผ่นดิน  ส่งภารกิจแรก จัดกิจกรรมประกวดงานทัศนศิลป์ ในกลุ่มเยาวชนและประชาชนทั่วไป ใน วันที่ 5 ธันวาคม ภายใต้ชื่อโครงการ “ศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม” ตั้งเป้าสร้างผลงานศิลปะกว่า 30,000 ชิ้น

เบิกฤกษ์ดี 13 กรกฎาคม 2566 ในพิธีไหว้ครูช่างและบายศรีสู่ขวัญ 110 ปี วิทยาลัยเพาะช่าง ประจำปี 2566  ได้ถือวันดีวันนี้ร่วมลงนามความร่วมมือ ระหว่างมูลนิธิดั่งพ่อสอนและวิทยาลัยเพาะช่าง เพื่อที่จะนำศิลปะเป็นแกนในการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนในด้านต่างๆ ของคนในสังคม  โดยในปี 2566 นี้ ได้ริเริ่มโครงการแรก “ศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม” ซึ่งเป็นโครงการจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องใน “วันดินโลก” โดยเชิญชวนกลุ่มเยาวชนระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประกวดงานทัศนศิลป์ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของแผ่นดิน และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านความยั่งยืนทางด้านอาหารและการเกษตรผ่านผลงานศิลปะ

นายณัฐวรรธน์  ภรนรา ประธานมูลนิธิดั่งพ่อสอน ได้กล่าวถึง ความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “มูลนิธิดั่งพ่อสอนมีเป้าหมายในการพัฒนาทรัพยกรมนุษย์  และทางวิทยาลัยเพาะช่างเองก็มีเจตนารมณ์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เช่นกัน จึงได้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนการประกอบกิจกรรมด้านศิลปะ การศึกษา ค้นคว้า การวิจัยทางการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม วัฒธรรม และสิ่งแวดล้อม ผ่านความร่วมมือทางด้านวิชาการและการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบัณฑิตไทยและสร้างความเข้มเข็งแก่ภาคธุรกิจ SMEs ของประเทศให้มีความยั่งยืน”

ทางด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัฐ  บุญทรง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงการให้ความร่วมมือครั้งนี้ว่า “วิทยาลัยเพาะช่างมีเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ จึงได้สนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพิ่มขีดความสามารถของนักศึกษา ผ่านการฝึกอบรมและสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริง และเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลที่ให้มหาวิทยาลัยดำเนินงานแบบบูรณาการ”

จากการทำความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำโครงการศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม เป็นโครงการนำร่อง ประธานมูลนิธิดั่งพ่อสอนได้กล่าวถึงที่มาโครงการนี้ว่า “สืบเนื่องจากที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ  (FAO) ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันดินโลก World Soil Day ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรดินต่อการพัฒนาด้านการเกษตร โภชนาการ และความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประทศ โดยในวันดังกล่าวทั่วโลกได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงพัฒนาทรัพยากรดินมาโดยตลอดรัชสมัยของพระองค์ ดังนั้นทางมูลนิธิดั่งพ่อสอน จึงได้น้อมนำเอา ศาสตร์พระราชา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาด้านการเกษตร และคุณค่าของความเป็นไทย มาจัดทำโครงการศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม เพื่อส่งเสริม เชิดชู เรียนรู้ ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของแผ่นดิน ผ่านงานศิลปะร่วมกับวิทยาลัยเพาะช่าง”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัฐ บุญทรง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง กล่าวถึงบทบาทในการให้ความร่วมมือในโครงการครั้งนี้ว่า…“ในฐานะที่วิทยาลัยเพาะช่างเป็นสถาบันทางด้านศิลปะมายาวนานถึง 110 ปี จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนในทุกมิติของโครงการนี้ โดยเฉพาะการนำองค์ความรู้เชิงช่างศิลปกรรม เพื่อนำศิลปะประจำชาติ หัตถกรรมศิลป์ วิจิตรศิลป์ การออกแบบ มาร่วมสร้างสรรค์และเผยแพร่สู่สาธารณะชน ดังเช่นเรื่องการทำถ้วยรางวัลเพื่อมอบให้กับผู้ชนะการประกวดในครั้งนี้ ทางวิทยาลัยเพาะช่างได้นำคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมสร้างสรรค์ศิลปะเชิงช่างร่วมกับการออกแบบของ อ.ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ เพื่อให้ถ้วยรางวัลนี้เป็นถ้วยรางวัลที่ทรงคุณค่า ทั้งด้านศิลปะและความหมายจากอาจารย์ช่วง และด้านความปราณีตงดงามจากครูช่างศิลปกรรม

ในด้านของการประกวด วิทยาลัยเพาะช่างมีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในแต่ละสาขาวิชา ได้มาเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน พร้อมทั้งเรียนเชิญศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อร่วมกันสร้างมาตรฐานให้เป็นงานประกวดระดับประเทศ นอกจากนั้นก็ยังนำนิสิตของวิทยาลัยเพาะช่างและศิษย์เก่า เข้ามาร่วมดำเนินงานในการขับเคลื่อนโครงการอีกด้วย”

โครงการศาสตร์ ศิลป์ ดินสยาม จะเริ่มดำเนินการระหว่าง กรกฎาคม ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจเข้าร่วมด้วยการส่งผลงานเข้าประกวด เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของ “วันดินโลก” ร่วมกัน

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

https://web.facebook.com/profile.php?id=100094914211001&sk=about