เผยแพร่ |
---|
ผลงานเปลี่ยนขยะเป็น “กราฟีน” โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) คว้า Bronze Award จากงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2566 ชูของเหลือทิ้งให้กลายเป็นวัสดุมีค่าแห่งอนาคต
กรุงเทพมหานคร – ดร.ศรายุทธ ตั้นมี หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “ผลงานเปลี่ยนขยะเป็นกราฟีนมูลค่าสูง ผลงานวิจัยของ ดร.พัฒนพงศ์ จันทร์พวง หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเทคนิคและวิศวกรรม ได้รับ Bronze Award จากงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2566 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุม ชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ”
“ผลงานดังกล่าวเป็นงานวิจัยที่นำขยะมาผลิตเป็นกราฟีน ด้วยระบบสังเคราะห์กราฟีนด้วยการให้ความร้อนฉับพลัน โดยเลือกขยะที่มีไฮโดรคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ขวดน้ำเกลือ ขวดพลาสติก ยางรถยนต์ กาบมะพร้าว ซังข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งช่วยลดการเผาขยะชีวมวล ช่วยจัดการขยะ และหมุนเวียนคาร์บอนกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น นำกราฟีนไปผสมคอนกรีตเพื่อเพิ่มความแข็งแรง สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ และนับเป็นการเปลี่ยนของเหลือทิ้งให้กลายเป็นวัสดุแห่งอนาคตที่มีมูลค่าสูงได้” ดร.ศรายุทธ ตั้นมี กล่าว
“งานวิจัยดังกล่าวเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่สถาบันฯ ส่งเข้าร่วมจัดแสดงภายในงานมหกรรมวิจัยฯ ปีนี้ และยังมีตัวอย่างผลงานอื่นๆ อีก เช่น การพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟอราบิก้าไทยด้วยแสงซินโครตรอน การพัฒนาแก้วเพื่อเป็นวัสดุสำหรับแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาฟิล์มคาร์บอนเสมือนเพชรเพื่อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น” ดร.ศรายุทธ ตั้นมี กล่าว