มฟล.ชูความเป็นเลิศด้าน “เห็ดรา” เร่งขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพานิชย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี มฟล กล่าวถึงรากฐานความสำเร็จของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยยึดแนวทาง “ปลูกป่า สร้างคน” พระราชปณิธานของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ตั้งธงยึดมั่นตั้งแต่วันที่ได้รับการสถาปนาจัดตั้งมหาวิทยาลัย 25 กันยายน พ.ศ.2541 ตลอดระยะเวลา 25 ปี

มฟล. ถือเป็นมหาวิทยาลัยน้องใหม่ (Young University) ที่ดีที่สุดของไทย ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 1 พัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global and Frontier Research) โดยมุ่งเน้นการผลิตผลงาน สร้างความเป็นเลิศด้านการวิชาการ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติอย่างแพร่หลายเพื่อเป็นรากฐานการต่อยอดงานวิจัยที่มีคุณภาพสู่การขยายผลต่อสังคมในสาขาวิชาการต่างๆ

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมุ่งขับเคลื่อนไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของอาเซียนที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่ยั่งยืน (A Leading University in ASEAN with International Recognition Strives for Well-being and Sustainable Future)  จากความเข้มแข็งด้านการวิชาการและวิจัยตลอดระยะเวลา 25 ปี ที่มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ผลงานที่พร้อมจะต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพานิชย์ควบคู่ไปกับการรับใช้สังคม

ทุกวันนี้ ผลงานศึกษาวิจัยด้านเห็ดราของ มฟล. มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ประกอบกับมหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณสนับสนุน โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย หรือ รู้จักกันในนาม Reinventing University System จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( อว.) เป็นกลไกขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย ดึงศักยภาพในทุกมิติ ทั้งการเรียนการสอน การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม การสร้างความเป็นนานาชาติ พัฒนาองค์ความรู้ที่มีต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ทั้ง การแพทย์ อาหาร และเครื่องสำอาง และพร้อมที่จะขยายผลสู่เชิงพานิชย์

ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มฟล. กล่าวว่า มฟล.มุ่งขับเคลื่อนด้านยุทธศาสตร์งานวิจัยและนวัตกรรมด้าน FMFC เพื่อผลักดันพืชสมุนไพรไทยไปสู่ 1) เกษตรนวัตกร (Innovative Farmers)  ทางด้านสมุนไพร โดยศูนย์สมุนไพรจะเข้าไปช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกและการจัดการสมุนไพรแบบอินทรีย์ (ปราศจากยาฆ่าแมลงและโลหะหนัก) 2) ยาแผนไทย (Traditional Medicines) การพัฒนาสมุนไพรให้เป็นยาเพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์ 3) อาหารเพื่อสุขภาพ (Heathy Foods)

ในปี 2565 ได้รับงบประมาณภายใต้โครงการ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงด้วยความเป็นเลิศทางการวิจัยด้านเห็ดรา” เนื่องจากศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา ได้ค้นพบเชื้อราและเห็ดชนิดใหม่มากกว่า 800 ชนิด มีการเก็บรักษาสายพันธุ์เชื้อเห็ดราในคลังสายพันธุ์เห็ดราไว้มากกว่า 14,000 ตัวอย่าง มีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติจำนวนกว่า 900 เรื่อง ทาง อว. เล็งเห็นจุดแข็งในการขับเคลื่อนผลงานวิจัยของ มฟล.จึงสนับสุนนงบประมาณพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านเห็ดราต่อยอดไปสู่มิติต่างๆ ภายใต้กรอบ FMFC ทั้งด้านการแพทย์ อาหาร เครื่องสำอาง โดยประกอบด้วยโครงการย่อยจำนวน 5 โครงการ ดังนี้

1.การพัฒนาต่อยอดและยกระดับความเข้มแข็งของศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา โดยมี Adjunct Professor Dr. Kevin D. Hyde หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา เป็นหัวหน้าโครงการ

Advertisement

2.การพัฒนาวัสดุห้ามเลือดจากไคโตซานเห็ดผสมสารออกฤทธิ์จากสมุนไพร โดยมี รศ.นพ.สิทธิพร บุณยนิตย์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ

3.การพัฒนาเนื้อบดเทียมจากเห็ดและการประยุกต์ใช้เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ในผลิตภัณฑ์ไส้อั่ว สุขภาพ โดยมี รศ. ดร.สาโรจน์ รอดคืน คณบดีสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร เป็นหัวหน้าโครงการ

Advertisement

4.การพัฒนาผลิตภัณฑ์เห็ดแผ่นกรอบโปรตีนสูงเสริมใยอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมี ผศ.ดร.พันธ์สิริ สุทธิลักษณ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร เป็นหัวหน้าโครงการ

5. การใช้ประโยชน์เห็ดราสายพันธุ์ เพื่อเป็นสารออกฤทธิ์ประสิทธิภาพสูงในเครื่องสำอางและเวชสำอาง ผศ. ดร.ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง

จากโครงการดังกล่าวได้สร้างผลลัพธ์จากโครงการ เกิดผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ 8 ฉบับ เน้นในระดับคุณภาพสูง Tier1 และ Q1, ต้นแบบผลิตภัณฑ์รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา 10 ผลงาน, การพัฒนาบุคลากรด้านวิจัย Postdoctoral 8 คน และการค้นพบเชื้อราใหม่กว่า 30 ชนิด นอกจากนี้สถาบันวิจัยและนวัตกรรม (MRii) ยังผลักดันผลงานสู่การนำไปใช้ประโยชน์กับภาคธุรกิจเอกชนต่อยอดโครงการสู่เชิงพานิชย์ เป็นงานวิจัยและนวัตกรรมไม่ขึ้นหิ้ง คือความสำเร็จของการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างแท้จริง