สถาบันปิดทองหลังพระฯ ติดตามโครงการต่อยอด กำปังโมเดล ต้นแบบการบูรณาการเพื่อการบริหารจัดการน้ำและเกษตรทฤษฎีใหม่

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เป็นประธานการจัดกิจกรรมเก็บเกี่ยวข้าวแปลงนาทดลองและปลูกพืชทางเลือกสร้างรายได้ทดแทนการทำนาปรัง ณ บ้านจานเหนือ ม.13 ต.กำปัง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อยอดจากโครงการซ่อมแซมเสริมศักยภาพระบบกระจายน้ำคลองลุง ที่ได้รับงบประมาณในการจัดทำระบบชักน้ำขึ้นที่สูง เพื่อดึงน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ต่ำกว่าพื้นที่ของเกษตรกร จากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดยกิจกรรมเริ่มต้นด้วยการลงแขกเกี่ยวข้าวแบบวิถีดั้งเดิม การหาบข้าวขึ้นลาน การตีข้าว การสีข้าว การสับหญ้าเนเปียร์เลี้ยงสัตว์ การหว่านเมล็ดปอเทือง 2 ไร่ การหว่านเมล็ดถั่วเขียว 1 ไร่ การจับปลาในร่องนาข้าว การมอบเมล็ดปอเทือง 300 กก. ถั่วเขียว 100 กก. และการมอบโคพื้นเมือง จำนวน 2 ตัว นายกฤษฎา บุญราช กล่าวว่า “กำปังโมเดล ต้นแบบการบูรณาการเพื่อการบริหารจัดการน้ำและเกษตรทฤษฎีใหม่นั้น” ต้องสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรให้ได้ โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงตลาดให้กับเกษตรกร และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่ตลาดต้องการ เพื่อขยายตลาดไปยังห้างสรรพสินค้าและสร้างเสริมรายได้ให้มากขึ้นต่อไปในอนาคต สำหรับผลจากกิจกรรมต่อยอดอาชีพของเกษตรกรหลังจากมีน้ำใช้ พบว่า แปลงทดลองทำนาดำ มีกำไรมากกว่าการทำนาหว่านถึง 4,244 บาท และการทำนาหว่านแบบเดิมที่ใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว กับนาหว่านที่มีระบบกระจายน้ำจากสถาบันปิดทองหลังพระฯ พบว่า มีกำไรมากกว่าการใช้น้ำฝน 1,102 บาท

นอกจากนี้ การทดลองให้หญ้าเนเปียร์เป็นอาหารแก่โค กระบือ และแพะ พบว่าสัตว์มีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าการเลี้ยงแบบปล่อยไล่ทุ่ง รวมถึงการขุดร่องรอบนาข้าว เพื่อเลี้ยงปลาตะเพียน ปลานิล ปลาหมอ เป็นรายได้เสริมซึ่งเป็นโครงการของประมงจังหวัด ซึ่งหากเกษตรกรนำไปจำหน่าย จะมีรายได้กว่า 14,200 บาท และแปลงทดลองหลุมพอเพียง ตามเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มีการปลูกพืชสวนครัว โดยนำไปบริโภคและจำหน่าย รวมเป็นเงิน 1,100 บาท และยังมีกิจกรรมหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2566 อาทิ มีเกษตรกร 13 ราย งดทำข้าวนาปรัง มีการปลูกปอเทืองและถั่วเขียวเพื่อปรับปรุงดินและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยการสนับสนุนจากสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงการปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวและฟักทองด้วย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสนับสนุนโค กระบือให้กับเกษตรกรยืมเพื่อการผลิต จำนวน 2 ราย รวมถึงการบูรณาการทำงานของท้องที่ ท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโครงการจึงประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร

นอกจากนี้ จังหวัดนครราชสีมา ยังพิจารณาว่า โครงการซ่อมแซมเสริมศักยภาพระบบกระจายน้ำคลองลุง สามารถใช้เป็นต้นแบบแก้ไขปัญหาการกระจายน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรกรในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากเป็นโครงการที่เกิดจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ จึงพิจารณานำโครงการระบบระบายน้ำดังกล่าวเป็น “กำปังโมเดล ต้นแบบการบูรณาการเพื่อการบริหารจัดการน้ำและเกษตรทฤษฎีใหม่” ในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรในพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดนครราชสีมาต่อไป