มูลนิธิดั่งพ่อสอน โชว์ผลงานสร้างสรรค์สังคมของกลุ่มนักธุรกิจจิตอาสาในงาน “หยั่งรากสู่ยั่งยืน 2566”

มูลนิธิดั่งพ่อสอน โชว์ผลงานสร้างสรรค์สังคมของกลุ่มนักธุรกิจจิตอาสาในงาน “หยั่งรากสู่ยั่งยืน 2566” งานแห่งความภาคภูมิใจสำหรับ SMEs ไทยที่เดินตามรอยพ่อ พร้อมมอบรางวัล XMEs Awards 2023

มูลนิธิดั่งพ่อสอน โดย ศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนประชาคมเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืน (PRIME CENTRE) จัดงาน “หยั่งรากสู่ยั่งยืน 2566” งานแห่งความภาคภูมิใจสำหรับ SMEs ไทยที่เดินตามรอยพ่อ โชว์ผลงานสร้างสรรค์สังคมของกลุ่มนักธุรกิจจิตอาสา พร้อมมอบรางวัล XMEs Awards 2023 ให้แก่ผู้ประกอบการตามแนวทฤษฎีใหม่ ที่มีผลงานการดำเนินธุรกิจโดดเด่นในด้านพึ่งพาตนเอง รวมกลุ่มเข้มแข็ง และเชื่อมโยงสู่สังคม

นายณัฐวรรธน์ ภรนรา ประธานมูลนิธิดั่งพ่อสอน เปิดเผยถึงการจัดงาน “หยั่งรากสู่ยั่งยืน 2566” ว่าเป็นงานที่จัดขึ้นเชื่อมโยงมาจากการจัดงานมอบรางวัล XMEs Awards ในแต่ละปี ซึ่งทางมูลนิธิดั่งพ่อสอนได้มอบให้กับผู้ประกอบการตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยในปีนี้นอกจากการมอบรางวัล XMEs Awards 2023 แล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานของกลุ่มนักธุรกิจจิตอาสา ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มาร่วมแบ่งปันในโครงการ CSR ต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ผลงานและแนวคิดของการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา หรือดูแลสังคมในด้านต่าง ๆ ด้วย และยังมีการประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการประยุกต์ใช้งานวิจัยและข้อมูลเชิงลึกเพื่อองค์กรที่ยั่งยืนด้วย

นางรสรี ซันจวน ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนประชาคมเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืน (PRIME CENTRE) กล่าวว่า ในปีนี้การดำเนินโครงการ CSR ต่าง ๆ ของกลุ่มนักธุรกิจจิตอาสา ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในโครงการพัฒน์ ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักในพัฒนาธุรกิจ ต่างประสบความสำเร็จ และจะได้รับการต่อยอดขยายผลในวงที่กว้างขึ้นต่อไปในทุกโครงการ อาทิ

โครงการเพาะรักษ์ ที่มุ่งสร้างคุณค่าให้แก่ผู้สูงอายุ จากการมองเห็นความสำคัญว่าผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีคุณค่าต่อสังคม เนื่องจากยังมีความรู้ความชำนาญ มีประสบการณ์และภูมิปัญญาที่ได้รับสืบทอดมา เหมาะที่จะเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่ครอบครัว ชุมชน และประชาคม จึงได้เปิดอบรม “ครูอารยะสยาม” ผู้มีใจรักและให้คุณค่าแก่แผ่นดิน โดยรับสมัครผู้สูงอายุ 55 ปีขึ้นไป ที่มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งหรือมากกว่า ในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร ถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ถึงโรงเรียนขนาดใหญ่ ผู้สูงอายุในชุมชน และจิตอาสา

โครงการ “ศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม” โดย ศิลป์พิพัฒน์ ศูนย์ส่งเสริมอนุรักษ์ ศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย มูลนิธิดั่งพ่อสอน ร่วมกับวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จัดโครงการรณรงค์เนื่องใน “วันดินโลก” เพื่อส่งเสริม เชิดชู เรียนรู้  ความสำคัญของ ” แผ่นดิน” โดยใช้ศิลปะในการขับเคลื่อน ผ่านการประกวดทัศนศิลป์ และนำผลงานที่ได้รับรางวัลมาจัดแสดงนิทรรศการ ภายใต้ชื่อ “สืบศาสตร์ สานศิลป์ จากดินสู่ยั่งยืน” ในงานวันดินโลก ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จ.ฉะเชิงเทรา และจะนำไปจัดแสดงต่อเนื่อง ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม – 15 มกราคม 2567

โครงการเต็มใจ เป็นโครงการจัดการประกวดกิจกรรมรณรงค์บริจาคโลหิตในกลุ่มเยาวชน ระดับอุดมศึกษา โดยร่วมมือกับสภากาชาดไทย และสถาบันการศึกษา จัดกิจกรรมรณรงค์บริจาคโลหิต 1,000,000 ล้านซีซี ในแคมเปญต่าง ๆ จนสามารถรับการบริจาคโลหิตได้ทั้งสิ้น 1,724,850 ซีซี โดยมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 27 แห่ง มีผู้สมัครเข้าร่วมประกวดกว่า 3 พันคน ซึ่งแชมป์รางวัลยอดโลหิตสูงสุด ได้แก่ ทีมมหาวิทยาลัยศรีปทุม ส่วนรางวัลแคมเปญยอดเยี่ยมแห่งปี ได้แก่ ทีมสถาบันพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ซึ่งผู้ชนะเลิศประเภททีมยอดโลหิตสูงสุด จะได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และจากความสำเร็จในการดำเนินโครงการปีแรกนี้ ได้ส่งผลให้เกิดโครงการเต็มใจปีที่ 2 เพื่อรณรงค์รับบริจาคโลหิตตั้งเป้า 72 ล้านซีซี ภายใต้ชื่อแคมเปญ “รวมใจไทย 72 ล้านซีซี  เทิดพระเกียรติ 72 พรรษา”ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 30 พฤศจิกายน 2567

โครงการเต็มใจวัยอนุบาล หนึ่งในการรณรงค์เพื่อปลูกฝังจิตสาธารณะในวัยเด็ก ส่งเสริมการให้ และการเสียสละเพื่อผู้อื่น ซึ่งจะเป็นรากฐานให้เติบโตเป็นเยาวชนและพลเมืองที่ดี โดยให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์กระตุ้นให้ประชาชนมาร่วมบริจาคโลหิต ผ่านโครงการประกวดคลิปเต้นรณรงค์ของเด็กปฐมวัย ที่ใช้ความน่ารักสดใส มาเป็นตัวกระตุ้นความสนใจให้ประชาชนหันมาบริจาคโลหิตมากขึ้น

โครงการเก็บเล็กผสานน้อย เป็นโครงการที่มุ่งแก้ไขปัญหาทางการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก โดยการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 5 โครงการย่อย ตามปัจจัย 4 และครู ได้แก่

โครงการก่อร่างสร้างครัว เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนอาหารกลางวัน ผ่านกิจกรรมเล่นได้อร่อยด้วย โดยดำเนินโครงการในโรงเรียน 7 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านนาคูหา จ.แพร่ โรงเรียนคลองชวดบัว จ.นครนายก โรงเรียนวัดบันลือธรรม ลาดบัวหลวง และโรงเรียนประสิทธิ์วิทยา จ.พระนครศรีอยุธยา โรงเรียนวัดประสาทนิกร จ.ชุมพร โรงเรียนวัดโกรกหว้า และโรงเรียนบ้านบึงไทย จ.นครราชสีมา โรงเรียนวัดบ้านดอน จ.ลำพูน
โครงการตัดเสื้อน้องแต่พอตัว เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชุดนักเรียนอย่างยั่งยืน โดยผลักดันให้เกิดสหกรณ์นักเรียน เพื่อให้เกิดสวัสดิการเครื่องแบบนักเรียน ผ่านโมเดลสหกรณ์ออมชุด และกิจกรรมร้านค้า โดยดำเนินงานร่วมกับโรงเรียนวัดคลองโมง จ.สุพรรณบุรี และโรงเรียนวัดเจริญสุขาราม จ.สมุทรสงคราม
โครงการปลูกโรงเรียนตามใจผู้อยู่ เป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมการแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างและสภาพแวดล้อมในโรงเรียนขนาดเล็กพิเศษ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก โดยการทำกิจกรรมร่วมกับ 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านปง(วัฒนาวิทยาคาร) จ.แพร่ โรงเรียนบ้านน้ำยาว จ.น่าน โรงเรียนชุมชนบ้านมั่ว จ.ลำปาง และโรงเรียนวัดโพธิ์แตงใต้ “ปัญญานุวัตร” จ.พระนครศรีอยุธยา
โครงการคบเด็กสร้างโรงพยาบาล เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดูแลปัญหาด้านสาธารณสุขของเด็กและชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ ผ่านกิจกรรมการให้ความรู้เด็ก ปฏิบัติจนเกิดความสามารถ นำไปแสดงออกสร้างรายได้ และนำรายได้ไปดูแลสาธารสุขชุมชน เช่น การสานปลาตะเพียน การเพ้นท์ถุงผ้า การแสดงด้านวัฒนธรรม เป็นต้น โดยได้ดำเนินโครงการร่วมกับ 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้าสมุทรปราการ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนสารสาสน์วิเทศน์โคราช และโรงเรียนวัดปากคลองบางคู้ จ.ลพบุรี
โครงการอยู่ดีมีครู เป็นโครงการที่มุ่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยและพัฒนาการของเด็กเล็ก และสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน โดยการร่วมสนับสนุนการออกแบบต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน และเชื่อมโยงกับตลาดภายนอกภ ภายใต้แบรนด์ XKRUSIVE (เอ็กซ์ครูซีพ) เพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุดลิมิเต็ด อิดิชัน มาจัดจ้างครู พร้อมส่งเสริมให้เกิดครูแม่แบบจากปราชญ์ท้องถิ่นและผู้นำชุมชน

งานนี้นอกจากจะเป็นการจัดแสดงผลงานการดำเนินโครงการ CSR ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในโครงการพัฒน์ มูลนิธิดั่งพ่อสอนแล้ว ภายในงานยังมีการมอบรางวัล SMEs Award 2023 สาขาต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความโดดเด่นในการดำเนินงาน ซึ่งในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลสาขาต่าง ๆ  ได้แก่ รางวัลสุดยอดผู้นำแห่งปี คุณโกวิท สุดเสียง จากแบรนด์ LIFE CONNECT รางวัลพัฒนาตนเองอย่างพอเพียงแห่งปี ได้แก่ แบรนด์ KITCHEN FORT และแบรนด์ ANGRY BEEF เนื้อหอม และ SNACK BOX รางวัลการสื่อสารยอดเยี่ยมแห่งปี ประเภทองค์กรได้แก่ โครงการศิลป์พิพัฒน์ รางวัลเปลี่ยนธุรกิจด้วยนวัตกรรมยอดเยี่ยมแห่งปี ได้แก่ แบรนด์น้ำส้มอมยิ้ม รางวัล PRODUCT DESIGN ได้แก่ แบรนด์ BALLOON ART รางวัลธุรกิจที่มีการเติบโตสูงสุดแห่งปี ได้แก่ แบรนด์ COMPAX WORLD รางวัลธุรกิจที่เกิดจากความร่วมมือยอดเยี่ยมแห่งปี ได้แก่ แบรนด์ กระทะไฮโซ รางวัลการรวมกลุ่มธุรกิจเข้มแข็ง ได้แก่ KID AND FAMILY รางวัล CSR ยอดเยี่ยมแห่งปี ได้แก่ โครงการเต็มใจ รางวัลแคมเปญสร้างสรรค์เพื่อสังคมยอดเยี่ยม ได้แก่ แคมเปญ SWEET PARTY แบรนด์ NEW SEASON และรางวัลธุรกิจพัฒนาอุตสาหกรรม ได้แก่ แบรนด์ BALLOON ART

นางกนกภรณ์ มิตซูโมโต้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒน์ ภายใต้มูลนิธิดั่งพ่อสอน กล่าวเสริมถึงโครงการพัฒน์ว่า มีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ในด้านเศรษฐกิจของคนไทย โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนและกลุ่มชาวบ้าน โดยให้การศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ที่จําเป็นต่อการประกอบธุรกิจ โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักการสําคัญในการพัฒนา รวมถึงการอบรมความรู้ด้านวิชาการที่ทัดเทียมและใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ