กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เร่งแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลตรังเสื่อมโทรม 

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 คณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม บริเวณเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง รวมถึงตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภาคสนาม โดย ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ นายนิติพล ผิวเหมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้

ร้อยเอก รชภู พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม บริเวณเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พบว่าหญ้าทะเลตายไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ทำให้ระดับน้ำลดลง 30-40 เซนติเมตร เมื่อน้ำลดทำให้หญ้าทะเลตากแห้งเป็นเวลานาน ทำให้หญ้าทะเลตาย อีกส่วนหนึ่งนั้นมาจากตะกอนดินที่มีจากการขุดลอกตะกอนดิน ในการขุดล่องน้ำเพื่อการเดินเรือ เมื่อเกิดเหตุการณ์หญ้าทะเลตายนั้น ต้องมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและศึกษาแนวทางแก้ไข

กระทรวงได้สั่งการให้หน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยสนับสนุนงานวิชาการและองค์กรการศึกษา เร่งหาสาเหตุที่ชัดเจนความเสื่อมโทรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหญ้าทะเลและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งระบบนิเวศและทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมโดยใช้หลักการ สำหรับพื้นที่ขนาดเล็กที่มีความสำคัญ ตลอดจนเร่งการศึกษาวิจัยด้านการฟื้นฟูและเสริมความแข็งแรงของระบบนิเวศ ให้หญ้าทะเลได้มีโอกาสพื้นฟูตัวเองได้โดยธรรมชาติ แต่ระหว่างการพักฟื้นเราก็สามารถช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวได้โดยไม่สร้างมลพิษหรือภัยคุกคามเพิ่มเติม

ร้อยเอก รชภู กล่าวว่า จึงขอความร่วมมือไปยังชาวบ้านในพื้นที่ ประมงชายฝั่ง ผู้ประกอบการเดินเรือ และโรงแรม ให้เดินเรือหรือสัญจรทางน้ำอย่างระมัดระวัง ไม่ทำประมงในแหล่งหญ้าทะเล งดปล่อยน้ำเสียลงในทะเล และไม่ก่อสร้างที่จะก่อให้เกิดตะกอนชะล้างลงสู่ทะเล นอกจากนี้ ต้องขอขอบคุณทีมงานทุกท่านที่สละเวลาอันมีค่ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติภารกิจพิทักษ์รักษาทรัพยากรทางทะเล แหล่งหญ้าทะเล และพะยูน อันเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศชาติ ให้คงอยู่คู่กับท้องทะเลตรังสืบไป

ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ตนเองในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ได้จัดทำแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมเป็นการเร่งด่วน พร้อมทั้งประชุมหารือและลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนาม เบื้องต้นพบการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในจังหวัดตรังที่เกิดจากสาเหตุหลายประการร่วมกัน ได้แก่ 1. ระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้หญ้าทะเลอ่อนแอลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อเนื่องต่อสภาพอากาศที่รุนแรงและแปรปรวนมากขึ้น แน่นอนว่าหญ้าทะเลซึ่งเป็นระบบนิเวศหนึ่งในทะเลย่อมได้รับผลกระทบ

2. การทับถมและการเปลี่ยนสภาพของตะกอนในแหล่งหญ้าทะเล จากการศึกษาตะกอน ในเบื้องต้นบริเวณท่าเทียบเรือเกาะมุก พบว่าลักษณะตะกอนชั้นบน 0-4 เซนติเมตรเป็นทรายละเอียดปนเลนและเปลือกหอยมีสีขาวปนเทา มีสักษณะอัดแน่นทำให้พื้นค่อนข้างแน่นแข็งไม่มีการจมตัว ตะกอนชั้น 3-6 เซนติเมตรเป็นชั้นทรายละเอียดอัดแน่นมีสีดำเล็กน้อยของไฮโดรเจนซัลไฟด์ พบเศษเหง้าหญ้าทะเลตายเล็กน้อยที่ชั้นตะกอน 5-6 เซนติเมตรเป็นทรายละเอียดอัดแน่น คล้ายกับตะกอนดินที่พบหญ้าทะเลตายที่เกาะสิบง

3. การระบาดของโรคในหญ้าทะเล หรือปัจจัยอื่นๆ ทางทีมวิจัยมีการศึกษาปัจจัยอื่นๆ ที่อาจซ้ำเติมให้หญ้าที่มีความอ่อนแอให้อยู่ในสภาพแย่ลงไปอีก ได้แก่ โรคระบาดในหญ้าทะเล หรือประเด็นเรื่องสารพิษ จากการศึกษาต้านโรคในหญ้าทะเล มุ่งเน้นการตรวจหาโรคที่เกิดจากเชื้อราเมือก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลตายเป็นบริเวณกว้างในหลายประเทศ ตัวอย่างหญ้าคาทะเลที่มีลักษณะใบกุดจากจังหวัดกระบี่และเกาะมุก จังหวัดตรัง พบเชื้อราแท้จริงที่พบได้ทั่วไปในแหล่งหญ้าทะเลและบนใบหญ้าทะเลเนื่องจากเชื้อราที่พบมีหน้าที่สลายใบที่เน่าเสียรวมถึงจากพืชจากสัตว์ในแหล่งหญ้าทะเลตามธรรมชาติอยู่แล้ว ในภาพรวมถึงแม้จะพบว่ามีราเมือก แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าการเกิดการตายของหญ้าทะเลเป็นบริเวณกว้างนี้เกิดจากเชื้อรา ทั้งนี้ อาจมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้หญ้าทะเลอ่อนแอมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เช่น อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น การผึ่งแห้งนานขึ้นในขณะน้ำลง

ในประเด็นเรื่องสารพิษ มีการตรวจสอบแหล่งมลพิษที่เป็นโรงงานน้ำยาง พบว่าไม่มีการทิ้งลงแหล่งน้ำทะเลโดยตรง การศึกษาการปนเปื้อนของโลหะหนัก และมีสารอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน ในตะกอนดินและหญ้าทะเลจากบริเวณแนวหญ้าทะเลจังหวัดตรังเก็บตัวอย่างตะกอนผิวหน้าและชั้นตะกอน พบว่าลักษณะของตะกอนส่วนใหญ่เป็นทราย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของลักษณะตะกอนจากอดีตที่มีลักษณะเป็นโคลนปนทราย จากการเก็บตัวอย่างแบบแท่งตะกอน สังเกตได้ว่าขั้นตะกอนมีสีเทาอ่อน ซากอินทรีย์น้อย มีกลิ่นซัลไฟล์เล็กน้อย ซึ่งตัวอย่างตะกอนทั้งหมดนี้จะนำไปวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก มลสารอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน ซัลไฟต์ สารอินทรีย์ แคลเซียมคาร์บอนเนต และขนาดตะกอนอีกด้วย

นอกจากนี้ กรมได้กำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม โดยจำเป็นต้องทราบ สาเหตุที่ชัดเจนก่อน หากเป็นเรื่องของการทับถมของตะกอนจากการขุดลอกร่องน้ำ ก็ต้องมีแนวทางลดผลกระทบจากการขุดลอกให้ได้ก่อนทั้งในระยะดำเนินการ และการป้องกันผลกระทบในระยะยาว เช่น นำตะกอนมาฝังกลบในพื้นที่บนฝั่งแทน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการเคลื่อนย้ายของตะกอนไปยังแหล่งหญ้าทะเลอีก

อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาที่แผ่ขยายเป็นพื้นที่กว้าง โดยเริ่มมีรายงานพบหญ้าทะเลที่ใบชาดในประเทศอื่นๆ ทำให้สมมุติฐานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความเป็นไปได้สูง เช่น การคัดเลือกและสะสมพันธุ์หญ้าทะเลที่มีความทนทานสูงโดยรวบรวมจากหลายพื้นที่เพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมของหญ้าทะเล การพัฒนาเทคนิคการลงปลูกในแหล่งธรรมชาติ โดยใช้ต้นแบบจากแปลงปลูกที่ประสบความสำเร็จแล้ว เช่น พื้นที่บริเวณบ้านบางพัฒน์ จังหวัดพังงา ที่กรมได้ดำเนินการร่วมกับชุมชนประสบความสำเร็จในเนื้อที่กว่า 100 ไร่ อีกทั้งยังส่งเสริมไห้มีการเพาะขยายพันธุ์โดยใช้บ่อพักน้ำทะเลหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพื่อสร้างความพร้อมในการนำไปปลูกเสริมในสภาพธรรมชาติต่อไป นอกจากนี้ ยังได้สำรวจเพื่อหาสถานปลูกหญ้าทะเล หลังจากน้ำทะเลลด หญ้าทะเลจะใช้เวลาตากแห้งไม่นาน

ด้าน นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเล โดยเฉพาะพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นที่ใกล้สูญพันธ์ุ จังหวัดตรัง จึงดำเนินการขับเคลื่อนการทำแผนการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเลจังหวัดตรัง และผลักดันให้เกิดแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ร่วมกับกรมทะเล และกรมอุทยานฯ รวมถึงจัดวางหุ่นแสดงแนวเขตอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล เพื่อแสดงขอบเขตการกำหนดมาตรการพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพะยูนทั้งแหล่งหากินและแหล่งอาศัย ลดการรบกวน ลดปัจจัยที่จะส่งผลกระทบกับพะยูน ซึ่งมีที่มาจากการจัดกติการ่วมกันของชุมชนในการเข้าไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งร่วมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการปฏิบัติตามมาตรการแก้ไขปัญหาและพื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในจังหวัดตรัง ให้ฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์และไม่เกิดภาวะสูญพันธุ์ ทั้งนี้ ตนเองในฐานะพ่อเมืองพร้อมจะให้ความร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมในทุกๆ ด้าน เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป