เครือข่าย 9 มทร. ร่วมกับ บพท. กระทรวง อว. ผนึกกำลังสร้างแพลตฟอร์มขจัดความยากจนของประเทศ สร้างรายได้สู่ชุมชน

วันที่ 26 มีนาคม 2567 ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นประธานในการเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ RMUT Appropriate Technology Symposium 2024 “Appropriate Technology for Sustainable Living” “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง และผู้บริหารจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ คุณจิริกา นุตาลัย, คุณสมประสงค์ พยัคฆพันธ์, คุณเบญจมาศ ตีระมาศวณิช, รศ.นภัทร วัจนเทพินทร์ นักวิจัยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารส่วนราชการ ภาคีเครือข่าย เข้าร่วมกว่า 300 คน โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมคริสตัลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


.
ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า ภาพรวมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ในทักษะเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของภาคประกอบการ และสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสู่ระดับท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมีการดำเนินการร่วมกันในการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เครือข่ายกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทมหาวิทยาลัยรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ (University Transformation for National Projects) ผ่านรูปแบบการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม สังคม และชุมชน (University-Partnership Linkages) ให้มีการปรับตัวตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศในอนาคต บนพื้นฐานความโดดเด่นและอัตลักษณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย ผสานกับเทคโนโลยี นวัตกรรม ความสร้างสรรค์ และองค์ความรู้ท้องถิ่น โดยใช้เครือข่ายและความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภายนอกและภายในกลุ่มมหาวิทยาลัย และการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agents) ร่วมกันออกแบบข้อเสนอการปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัย

ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมุ่งเน้นการแบ่งปันข้อมูล วิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหา และปรับปรุงแนวคิดและกระบวนการให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ประเทศไปสู่การปฏิบัติจริง ดังนั้น งานสัมมนาทางวิชาการ RMUT Appropriate Technology Symposium 2024 เป็นหนึ่งหมุดหมายที่เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลได้ร่วมกันทำงาน โดยการสนับสนุนของหน่วย บพท. ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยได้ขานรับอาสาเป็นเจ้าภาพในการทำงานตอบโจทย์ เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ดังเสนอในรูปแบบของผลงานและนิทรรศการที่จัดแสดงภายในงาน แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ เพื่อการแก้โจทย์วิจัยและแก้ปัญหาของชุมชนสังคม
.
ด้าน ผศ.ประภาศรี ศรีชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยว่า ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการงานสัมมนาทางวิชาการ RMUT Appropriate Technology Symposium 2024 เกิดขึ้นจากการศึกษาข้อมูลเชิงพื้นที่ ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นประเด็นหลักของการพัฒนาประเทศ

ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่แทรกซึมอยู่กับบริบทสังคมไทยเป็นเวลายาวนาน ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาและความเข้าใจ เข้าถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาความยากจน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเชิงลึก รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในปี 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้พัฒนากรอบ “พื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม (SRA)” เพื่อสร้างแพลตฟอร์มขจัดความยากจนของประเทศ สำหรับแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ด้วยการเพิ่มโอกาสของการเข้าถึงการพัฒนาอาชีพ การศึกษา เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้อย่างตรงจุดและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ผ่านการจัดสรรงบประมาณรูปแบบทุนวิจัย ภายใต้กองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)

โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้ร่วมกันจัดทำแผนงานวิจัยขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประเทศ ภายใต้แผนงานวิจัย “การประยุกต์ใช้และขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างขีดความสามารถและโอกาสทางสังคม สำหรับคนจนเป้าหมายในพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย

ซึ่งได้ดำเนินการวิจัยครอบคลุมในพื้นที่ทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ 1. จังหวัดลำปาง 2. จังหวัดกาฬสินธุ์ 3. จังหวัดร้อยเอ็ด 4. จังหวัดมุกดาหาร 5. จังหวัดพัทลุง 6. จังหวัดปัตตานี และ 7. จังหวัดยะลา เพื่อสร้างแพลตฟอร์มขจัดความยากจนของประเทศ สำหรับแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงประยุกต์ใช้และขยายผลนวัตกรรมพร้อมใช้/เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำไปใช้ในการช่วยเหลือคนจนกลุ่มเป้าหมาย

โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง มีความร่วมมือทางวิชาการ วิจัยและนวัตกรรม มาอย่างต่อเนื่อง มีความเข้มแข็งในการทำงานและมีระบบการบริหารจัดการงานวิจัยที่คล่องตัว รวมทั้งสถาบันวิจัยและพัฒนา ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ได้รวบรวมผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้/เทคโนโลยีที่เหมาะสม มาพัฒนาเป็นระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีที่เหมาะสม มากกว่า 1,000 ผลงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปช่วยเหลือคนจนกลุ่มเป้าหมาย โดยมีความมุ่งหวังในการมีส่วนช่วยยกระดับรายได้ให้เพิ่มขึ้นและยกระดับความเป็นอยู่ ยกระดับฐานะทางสังคม ให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน


.
ดังนั้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และเครือข่ายการวิจัย 9 มทร. จึงได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาทางวิชาการ RMUT Appropriate Technology Symposium 2024 “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” ในครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 26-27 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมคริสตัล โฮเต็ล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 263 คน โดยงานสัมมนาวิชาการในครั้งนี้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย จากนักวิจัยภายใต้แผนงานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ทั้ง 7 SRA และผลงานวิจัยจากนักวิจัยภายใต้โครงการวิจัย Appropriate Technology กิจกรรมการบรรยายพิเศษ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ท่าน รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และ รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาฯ และกิจกรรมการเสวนาจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง มีการนำเสนอข้อเรียนรู้ และถอดความสำเร็จของแผนงานวิจัยการประยุกต์ใช้และขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสม เป็นต้น เชื่อว่า กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่จะได้ข้อเรียนรู้ต่างๆ นำไปปรับใช้กับงานของตนเองได้ต่อไป