เผยแพร่ |
---|
มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย คณะ “เทคนิคการแพทย์-เศรษฐศาสตร์-สถาปัตยกรรมศาสตร์” ร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม สร้างงาน สร้างรายได้ รับเทรนด์สังคมสูงวัยในไทยพุ่ง 13 ล้านคน คาดผู้ป่วยติดเตียงมี 1.3% หรือ 1.7 แสนคน ริเริ่ม “โครงการพัฒนาส่งเสริมการผลิตเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยชุมชน” นำร่องส่ง 5 เตียงต้นแบบสู่การใช้งานจริง 2 ชุมชน ตำบลบ้านโต้นและตำบลหนองแวง อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น พร้อมอัปเกรดเวอร์ชั่นใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น เตรียมผลักดันสู่วิสาหกิจชุมชน ติวเข้มทักษะช่างพร้อมรับออร์เดอร์ผลิตเตียงที่เข้าใจผู้ป่วยและผู้ดูแลในราคาเอื้อมถึง
สถานการณ์ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยตัวเลขจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สะท้อนว่า ปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 13,064,929 คน คิดเป็น 20.8% ของประชากรทั้งประเทศรวม 66,052,615 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงมากถึง 174,409 คน คิดเป็น 1.3% ของผู้สูงอายุ (ที่เข้าระบบ) พร้อมคาดการณ์ว่า ในปี 2574 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 28.87% หรือ 18,000,000 คน และมีประชาชนป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้น 234,000 คน (ไม่รวมผู้ป่วยนอกระบบ)
จากแนวโน้มดังกล่าวนำมาสู่การริเริ่ม “โครงการพัฒนาส่งเสริมการผลิตเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยชุมชน” โดยคณะเศรษฐศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นดำเนินการภายใต้โครงการ CIGUS (C – community, I – industry, G – government, U – university, S – society) มีวัตถุประสงค์นำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชนในมิติสาธารณสุข สังคมและเศรษฐกิจ โดยมีพื้นที่นำร่องใน 2 ชุมชน ได้แก่ ตำบลบ้านโต้นและตำบลหนองแวง อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น
ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ อาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า โครงการนี้มีแนวคิดพัฒนาเตียงอัจฉริยะที่ช่วยลดแผลกดทับโดยเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยสูงวัยและผู้ดูแลคนป่วย พร้อมกับพัฒนาทักษะช่างให้สามารถนำมาพัฒนาต่อยอด สร้างงานและสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ทั้งนี้ ได้พัฒนาเตียงพลิกตัวและนำไปมอบให้กับเทศบาลตำบลบ้านโต้นจำนวน 3 เตียง และเทศบาลตำบลหนองแวงจำนวน 2 เตียง พร้อมอบรมให้ความรู้และวิธีการใช้เตียงพลิกตัวอย่างถูกต้อง ภายหลังติดตามการใช้งานพบว่า เตียงช่วยพลิกตัวและลดแผลกดทับนี้ นำมาซึ่งประโยชน์ทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแล และชุมชน โดยประโยชน์ของเตียงพลิกตัวช่วยป้องกันแผลกดทับในผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงคนป่วยที่มีภาวะอ่อนแรงไม่สามารถพลิกตัวเองไม่ได้ เพราะเตียงนี้แค่กดปุ่มก็ตะแคงได้ ผู้ดูแลทำงานง่ายขึ้นหรือถ้าไม่มีคนดูแล ผู้ป่วยกดปุ่มแล้วเตียงตะแคงเองได้
ส่วนผู้ดูแลที่เป็นญาติและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงผู้ดูแล Caregiver เตียงอัจฉริยะนี้ช่วยลดระยะเวลาในการดูแลผู้ป่วยลงทำให้ไม่เป็นภาระมากจนเกินไป สามารถนำเวลาส่วนนี้ไปทำประโยชน์และสร้างรายได้จากงานส่วนอื่นๆ
“ในสองตำบลนี้ มีผู้ป่วยติดเตียง 22 คน ในช่วงแรกสามารถจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วยติดเตียง 5 คนเท่านั้น ในอนาคตคาดว่าผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น แบ่งได้เป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง 80% อีก 10% เป็นภาวะอ่อนแรง อีก 10% ติดเตียงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้” ศ.ดร.วิชัย กล่าว
ในมิติของชุมชน เตียงพลิกตัวช่วยให้ชุมชนสามารถมีรายได้จากการผลิตเตียง นำแบบที่พัฒนาโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ไปดำเนินการพร้อมรับการอบรมฝึกทักษะฝีมือช่าง มีต้นทุนการผลิตประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อเตียง อยู่ระหว่างการปรับรายละเอียดของแบบเพื่อให้เตียงในเวอร์ชั่นใหม่สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี เช่น ปรับความสูงของเตียงให้ต่ำลง รวมถึงปรับขนาดของเตียงเพื่อให้เคลื่อนย้ายเข้าบ้านของชุมชนได้ เป็นต้น
ผศ.ดร.สุรกานต์ รวยสูงเนิน อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ประเด็นหลักของการออกแบบเตียงจะคำนึงถึงสภาพจิตใจผู้ป่วยและผู้ดูแลก่อนเป็นลำดับแรก พยายามลดภาระผู้ดูแลและให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด นำไปสู่การมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น เมื่อผู้ดูแลลดภาระลงจากที่เคยพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง เปลี่ยนมาเป็นแค่ช่วงเวลาหลักๆ ได้แก่ ตอนทานอาหาร ทำความสะอาดร่างกาย
“ขนาดของเตียงที่ออกแบบ จะพัฒนาเป็นขนาด S M L เพื่อให้สอดรับกับผู้ป่วยที่มีความแตกต่างกัน แต่เป็นช่วงแรกจึงพัฒนาเป็นขนาด L ทำให้พบข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายเตียงเข้าสู่ภายในบ้าน ต่อมาจึงปรับขนาดลดลงเป็น 900×2 เมตร จากเดิมขนาด 1.2×2 เมตร มีต้นทุนการผลิตประมาณ 15,000-20,000 ไม้ โดยใช้วัสดุดิบที่หาซื้อได้จากร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป เช่น ไม้ยางพารา และไม้เนื้อแข็ง สามารถรับน้ำหนักผู้ป่วยได้มากถึง 200 กิโลกรัม” ผศ.ดร.สุรกานต์ กล่าว
สำหรับแนวคิดของการต่อยอดโครงการนั้น ผศ.ดร.สุรกานต์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาเตียงเพื่อผู้สูงวัยที่ป่วยติดเตียงได้สร้างประโยชน์ทั้งในมิติในสังคมและเศรษฐกิจ ในอนาคตสามารถต่อยอดไปสู่วิสาหกิจชุมชนจะเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก เพราะวิธีการผลิตง่าย ทักษะช่างไม้ที่มีอยู่ในชุมชนสามารถดำเนินการได้เลยตามแบบและคู่มือการประกอบที่เตรียมจัดทำขึ้น ขณะที่อุปกรณ์มอเตอร์ไฟฟ้าก็หาได้ง่ายในร้านค้าชุมชน ถ้าเป็นการผลิตในปริมาณที่มากขึ้นในอนาคตจะยิ่งลดต้นทุนลงเหลือ 10,000 บาทต่อเตียง เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนรวมทั้งเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเตียงของกลุ่มผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย
รศ.ดร.นรชิต จิรสัทธรรม หัวหน้าสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในมุมเศรษฐศาสตร์ประเมินแล้วว่าการผลิตเตียงในโครงการนี้ ช่วยลดค่าเสียโอกาสได้มาก เช่น ผู้ดูแลที่เป็นญาติ หรือ Caregiver จากที่ปกติใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการดูแลผู้ป่วยสามารถลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือเพียงชั่วโมงเศษเท่านั้น นำเวลาที่ลดลงนี้ นำไปทำประโยชน์ได้อีกมาก
“คนอาจจะคิดว่าทำไมไม่บริจาคแล้วไปซื้อเตียงให้ผู้ป่วยเลยซึ่งเร็วกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ประโยชน์จะเกิดในส่วนเดียว เมื่อเทียบกับโครงการที่ดำเนินการอยู่นี้ พัฒนาเตียงขึ้นมาสามารถลดแผลกดทับได้ดีและทำให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมและช่างฝีมือมีรายได้ สร้างประโยชน์ได้หลายส่วนพร้อมกัน เป็นการกระจายและหมุนเวียนผลประโยชน์ในชุมชน ผมอยากเห็นการพัฒนาไปสู่เตียงที่ปรับแบบใหม่ ช่างได้รับการอบรมและยกระดับเป็นกลุ่มอาชีพทางสังคมที่ช่วยทำเตียง รับออร์เดอร์งานได้ต่อไป โดยโอกาสและศักยภาพสามารถต่อยอดได้อีกมากจากแนวโน้มการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุในไทย” รศ.ดร.นรชิต กล่าว
นายชัยชาญ เพชรสีเขียว ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตเตียงในชุมชน กล่าวว่า ภายหลังจากได้รับเตียงอัจฉริยะที่ทาง มข. ส่งมาให้ผู้ป่วยในชุมชนก็ได้เริ่มเข้าไปเรียนรู้วิธีการใช้งานกับผู้ป่วยติดเตียงว่าเตียงนี้มีข้อดีคือ มีปุ่มให้กด สามารถนั่ง เอนซ้าย เอียงขวาได้ ส่งผลดีทั้งต่อผู้ป่วย ช่วยให้อากาศถ่ายเท ไม่เกิดแผลกดทับ ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแลด้วย ผมเริ่มบอกกล่าวช่างในหมู่บ้านซึ่งส่วนหนึ่งทำงานประจำและบางส่วนว่างงาน ได้รับทราบถึงโครงการนี้ และจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่อไป
สำหรับผู้สนใจเตียงดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 043-202-267