มกอช.เดินสายหนุนมาตรฐาน GAP ในสถานศึกษา นำร่องโรงเรียน ในจ.น่าน

นางสาวนลิลทิพย์ เพณี ผอ. กองส่งเสริมมาตรฐาน มกอช. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ล่าสุด ทาง มกอช. ได้ สร้างแนวคิดในการส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานศึกษาระดับมัธยม โดยเบื้องต้นมีการอบรมนำร่อง 6 โรงเรียน ในจังหวัดน่าน สร้างกิจกรรมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในเรื่องมาตรฐาน GAP อาหารปลอดภัย และปฏิบัติได้จริง พร้อมไปสู่การเป็นสถานศึกษาผลิตผัก ผลไม้ (พืชอาหาร) ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP โดยเริ่มต้นใน ตั้งแต่ วันที่ 2-7 กรกฎาคม 2561 เป็นครั้งแรก ซึ่งทาง มกอช. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการฝึกอบรม ความรู้ให้กับ 6 โรงเรียน ในจังหวัดน่าน เพื่อเป็นการนำร่อง

ซึ่งการฝึกอบรม จะเน้นการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร ซึ่งกลไกที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เกิดประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นนั้น ต้องทำให้เกิดการนำมาตรฐานไปใช้ในทุกระดับการผลิตของห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหาร (From Farmto Table) เพื่อให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพและมีความปลอดภัย ซึ่ง มกอช. เห็นความสำคัญของการส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตรในสถานศึกษา ซึ่งได้มีโครงการที่เกี่ยวข้อง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมหาวิทยาลัย (ความร่วมมือโครงการพัฒนาหลักสูตรผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ในระดับมหาวิทยาลัย) ระดับอาชีวศึกษา (โครงการเกษตรเพื่อชีวิต) และระดับมัธยมศึกษา (โครงการส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานศึกษาระดับมัธยม) ซึ่งการผลิตที่ดีต้องเริ่มต้นที่ฟาร์ม ด้วยการนำ มาตรฐาน GAP (GoodAgriculturalPractices ; GAP) มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้ผลิตผลสินค้าเกษตรมีคุณภาพ ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งส่งเสริมและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานที่เกษตรกรโดยตรง

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จังหวัดน่าน อาทิ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรน่าน จึงร่วมกันดำเนินโครงการส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานศึกษาระดับมัธยม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานศึกษาระดับมัธยม และสร้างสื่อการเรียนรู้ในรายวิชาชีพเกษตร มีกลุ่มเป้าหมายคือ สถานศึกษาระดับมัธยมที่มีการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดน่าน จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ่อเกลือ อ.บ่อเกลือ โรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ  โรงเรียนน่านปัญญานุกูล อ.ภูเพียง โรงเรียนน่านประชาอุทิศ อ.เมืองน่าน โรงเรียนนันทบุรีวิทยา อ.เมืองน่าน และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 อ.เวียงสา มีนักเรียนเป้าหมายในโครงการครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 300 คน

นอกจากนั้น มกอช. ได้นำร่องส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานศึกษาระดับมัธยม ด้วยการจัดกิจกรรมสร้างแปลงสาธิตเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่คณะครู อาจารย์ และนักเรียน เกี่ยวกับมาตรฐาน GAP สร้างจิตสำนึกทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคสินค้าและอาหารที่ปลอดภัย และสนับสนุนให้เกิดการนำองค์ความรู้ไปปฏิบัติได้จริง ด้วยการฝึกปฏิบัติจริงในทุกๆ ข้อกำหนด เพื่อให้มีความพร้อมไปสู่การรับรองตามมาตรฐาน GAP ซึ่งจะทำให้คณะครูอาจารย์ และนักเรียน ได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องมาตรฐานอาหารปลอดภัย และนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องต่อไป

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นจากเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเยี่ยมที่โรงเรียนนันทบุรีวิทยา ในพระบรมราชานุเคราะห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโรงเรียนมุ่งเน้นให้นักเรียน เรียนรู้ด้านวิชาการไปพร้อมๆ กับการลงมือปฎิบัติจริงในวิชาชีพต่างๆ ซึ่งด้านเกษตรกรรมก็เป็นอีกวิชาหนึ่งที่เด็กนักเรียนให้ความสนใจ และต้องการที่จะผลิตพืชอาหารปลอดภัย จึงมีรับสั่งให้ทาง มกอช. ได้ดำเนินการส่งเสริมให้ความรู้ในด้านนี้แก่โรงเรียน จึงเกิดเป็นโครงการส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานศึกษาระดับมัธยมขึ้นมา ซึ่งได้เป็นหนึ่งในหลักสูตรความรู้ เรื่อง GAP ในรายวิชาชีพเกษตรของทั้ง  6 โรงเรียนนำร่องในเบื้องต้น และในอนาคตจะมีการขยายการฝึกอบรมไปในโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป ด้วย