เกษตรฯ ดึงเอกชน ร่วมวางระบบขนส่งและศูนย์กระจายสินค้า

นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช สมาพันธ์ เอสเอ็มอี ไทย เป็นประธานคณะทำงานร่วมการประชุมคณะทำงานขนส่งและศูนย์กระจายสินค้า ภายใต้คณะทำงานการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิตัล ครั้งที่ 1/2561 โดยมี นายกฤษ อุตตมะเวทิน เลขานุการกรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และผู้แทนจากภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือกำหนดกรอบการดำเนินงานของระบบขนส่งศูนย์กระจายสินค้า ระบบบริหารคลังสินค้า และพื้นที่ตั้งศูนย์จัดจำหน่ายหรือศูนย์กระจายสินค้า เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยยุทธศาสตร์พระพิรุณ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ห้องประชุม 111 อาคาร 1 สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะทำงานขนส่งและศูนย์กระจายสินค้า ภายใต้คณะทำงานการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิทัล ได้ดำเนินการประชุมครั้งที่ 1/ 2561 โดยเชิญคณะทำงานภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วย สมาพันธ์เอสเอ็มอี ไทย บริษัทประชารัฐรักสามัคคีเพชรบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ฟาร์มไม่ตั้งใจ (สมเกียรติ ผักอร่อย)  บริษัท ไฮ-ควอน มัลติมีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นคณะทำงาน พร้อมด้วยเครือข่ายธุรกิจ BIZ Club Thailand  บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เฮ็ลธ์ฟู้ดส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมประชุมหารือถึงกรอบการดำเนินงานของคณะทำงานขนส่งและศูนย์กระจายสินค้า ในเรื่องของการวางแผนเส้นทางการขนส่งสินค้า และการกำหนดพื้นที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center : DC) ให้สัมพันธ์กันครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อจะได้ช่วยลดต้นทุนของสินค้าในการขนส่ง และศูนย์กระจายสินค้าจะต้องมีที่เก็บสินค้าและมีระบบบริหารคลังสินค้าที่มีมาตรฐานสากล ทั้งระบบ hardware และระบบ software ซึ่งไม่ใช่แค่คลังสินค้า (Ware House) เท่านั้น โดยที่ประชุมยังหารือถึงหน่วยงานอื่นที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ เช่น สหกรณ์ กลุ่มสหกรณ์ ที่มีศักยภาพ มีความเข็มแข็ง มีความพร้อม จะเชิญเข้าร่วมคณะทำงานนี้ด้วย

การประชุมครั้งนี้ จะวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อเชื่อมโยงกับคณะทำงานอีก 4 คณะ ได้แก่ 1. คณะทำงานฝ่ายอำนวยการและพัฒนาระบบต้นแบบโครงการและการประชาสัมพันธ์ 2. คณะทำงานระบบเครือข่ายสาขาค้าปลีกและการสนับสนุนเทคโนโลยีการเงิน (Fintech) 3. คณะทำงานระบบค้าส่งสินค้าเกษตรที่มีนวัตกรรมจับคู่การค้า 4. คณะทำงานส่งเสริมผู้ใช้ตลาดเกษตรดิจิทัล  ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิทัล โดยมุ่งเป้าขับเคลื่อนนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยยุทธศาสตร์พระพิรุณ ที่ทำงานด้วยหลักการจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขาย ค้าปลีก ค้าส่ง และระบบขนส่ง บนแพลตฟอร์ม E-Matching Market (EMM)  ซึ่งเริ่มต้นพัฒนาและสามารถใช้งานได้แล้ว ผ่าน www.DGTFarm.com โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จะพัฒนาให้บริการได้บนสมาร์ทโฟน (แอปพลิเคชั่น Hello Trade) ตามยุทธศาสตร์พระพิรุณ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาด ปัญหาการกดราคาโดยผู้รับซื้อ และผลผลิตสินค้าเกษตรที่ไม่รู้จะไปจำหน่ายที่ไหน ซึ่งทำให้สินค้าเกษตรตกต่ำ และเกษตรกรขาดทุน ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว