กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนโครงการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนในประเทศไทย มุ่งพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันสู่มาตรฐานสากล

กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือกรมวิชาการเกษตรและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ) GmbH ผลักดันโครงการผลิตน้ำมันปาล์ม เพื่อมุ่งสู่การยกระดับปาล์มน้ำมันในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม (RSPO) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมากที่สุดขณะนี้

นายสำราญ สาราบรรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการผลิตน้ำมันปาล์มมากเป็น อันดับ 3 ของโลก มีโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มที่ลงทะเบียนมากกว่า 100 รายและพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนภายในประเทศไทยนั้นค่อนข้างมีจำกัด คิดเป็นเพียง 2% ของการผลิตน้ำมันปาล์มที่ผลิตได้ทั้งหมด สวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของพื้นที่ปาล์มน้ำมันในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ยังขาดองค์ความรู้และศักยภาพด้านการจัดการสวนปาล์ม ขาดการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายที่ช่วยเหลือกันตามแนวทางการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ส่งผลให้คุณภาพและผลผลิตของปาล์มน้ำมันในประเทศไทยมีคุณภาพไม่ดีนัก กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนินโครงการความร่วมมือในการผลิตน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการผลิตน้ำมันปาล์มและเพิ่มความยั่งยืนทางนิเวศวิทยาและสังคมในการผลิตปาล์มน้ำมัน

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอุปสงค์และอุปทานของการผลิตปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนในประเทศไทย เป็นการปลดล็อกศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยและปรับปรุงวิถีชีวิตของเกษตรกร ส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชตามความเหมาะสมของที่ดิน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดเดียวกันในพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุน ส่งเสริมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเพื่อให้มั่นใจถึงคุณภาพของพืชและสิ่งแวดล้อม การป้องกัน และเชื่อมโยงเกษตรกรเข้าสู่ตลาด ให้เป็นไปตามแผน “Big Farm Farming Scheme” (เกษตรแปลงใหญ่) ภาคปาล์มน้ำมัน โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก Ministry of the Environment, Nature Conservation and Nuclear Safety (BMU) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สำหรับการดำเนินโครงการในประเทศไทย โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนถึง พ.ศ. 2565 รวม 4 ปี

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตร มีบทบาทหน้าที่ในการแต่งตั้งผู้ประสานงานโครงการและรับผิดชอบงานด้านวิชาการในส่วนกลางและระดับท้องถิ่น โดยเปิดให้ใช้พื้นที่ทำงานหรือสำนักงานท้องถิ่นสำหรับเจ้าหน้าที่โครงการในพื้นที่ นำร่อง ได้แก่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร รวมถึงเปิดศูนย์ฝึกอบรมในจังหวัดกระบี่เพื่อฝึกอบรมวิทยากรและเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พร้อมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม โดยดำเนินการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกสอน คือ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ และผู้นำเกษตรกร รวมถึงให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินแก่เกษตรกรพร้อมเตรียมศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ตำบลเขาคราม อำเภอเมืองจังหวัดกระบี่ ให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติเป็นโรงเรียนปาล์มน้ำมัน มีแปลงปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับฝึกปฏิบัติ พร้อมร่วมพัฒนาฐานข้อมูลดิจิตอลเพื่อติดตามและรายงานผลการดำเนินงานของเกษตรกรในพื้นที่นำร่องตามฐานข้อมูลเดิมที่กรมส่งเสริมการเกษตรมีอยู่ เช่น mobile app, web-base พร้อมสนับสนุนการดำเนินโครงการให้สามารถพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันของไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล RSPO

โดยคาดว่า ผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2565 จะมีเกษตรกรรายย่อยกว่า 3,000 ราย ที่ได้รับความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ สามารถผลิตวิทยากรหลักจากโครงการมากกว่า 50 คน มีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 10 โรงงาน ลดต้นทุนในการผลิตได้ถึง 20% และสามารถลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 5,000 ตัน