ส้มสีทอง รสหวานกลมกล่อม ส้มดีที่หาดรั่ว เมืองแพร่

ระหว่าง วันที่ 6-7 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา จังหวัดแพร่ ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ สำนักงานเกษตรอำเภอวังชิ้น ได้จัดงาน “วันส้มเขียวหวานและของดีเมืองแพร่” ประจำปี 2561 ณ บริเวณลานหน้าที่ว่าการอำเภอวังชิ้น เจตนารมณ์ของการจัดงานก็เพื่อต้องการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดส้มเขียวหวานของจังหวัดแพร่ ที่ผ่านการพัฒนาคุณภาพได้มาตรฐาน GAP และอินทรีย์ สู่ตลาดเกษตรปลอดภัย และกระจายสินค้าสู่ตลาดสากล

กิจกรรมภายในงาน มีการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ส้มเขียวหวาน ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และ OTOP การแสดงผลงานของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก. อำเภอวังชิ้น) การจัดเวทีเสวนาการพัฒนาส้มเขียวหวาน และที่สำคัญจัดการประกวดผลผลิตส้มเขียวหวาน

สร้างงานทำเงิน

อำเภอวังชิ้น เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดแพร่ มีคำขวัญว่า

“พระธาตุขวยปูคู่บ้าน        พระธาตุพระพิมพ์คู่เมือง

ลือเลื่องถิ่นส้มเขียวหวาน  อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย

หัตถกรรมเครื่องใช้เถาวัลย์ อัศจรรย์น้ำพุร้อน”

จากคำว่า ลือเลื่องถิ่นส้มเขียวหวาน นี่คือ ที่มาและที่จะกล่าวต่อไปจากการอารัมภบทการเดินเนื้อเรื่องตามหัวข้อ “ส้มเขียวหวาน” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอวังชิ้นและจังหวัดแพร่

ตามไปที่งานการประกวดส้มเขียวหวาน…ผลการตัดสินของคณะกรรมการ หนึ่งในผู้ชนะการประกวด เป็นผลผลิตส้มเขียวหวานจากแปลงปลูกของ คุณกรณ์ธนา สอนสี บ้านหาดรั่ว แสดงถึงผลผลิตส้มเขียวหวานของคุณกรณ์ธนามีคุณภาพที่ยอมรับได้ จึงขอตามไปดูแปลงปลูกส้มเขียวหวานแห่งนี้ว่ามีกระบวนการผลิตการดูแลอย่างไร

ได้รับความนิยม

พบกับคุณกรณ์ธนา ที่บ้านหาดรั่ว คุณกรณ์ธนากล่าวสรุปให้ฟังว่า ตนเองเริ่มปลูกส้มเขียวหวานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เนื้อที่ 20 ไร่ (1 ไร่ ปลูกส้มเขียวหวานได้ 80 ต้น) ต้นส้มเขียวหวานมีอายุต่างกัน คือ 5 ปี 6 ปี และ 12 ปี คุณภาพของส้มเขียวหวานหาดรั่วและวังชิ้น ที่ผู้บริโภคต้องการนั้น เกษตรกรมักจะดูแลเอาใจใส่แปลงส้มเขียวหวานเป็นอย่างดีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดินหลังการตรวจสอบวิเคราะห์ความเป็นกรด-ด่าง และธาตุอาหารแล้ว เรื่องน้ำ การป้องกันโรคและแมลง ระยะเวลาตั้งแต่ดอกส้มเขียวหวานบานจนถึงระยะเวลาเก็บผลส้มได้ต้องมีความพอดี ไม่เก็บก่อนระยะเวลาหรือเก็บผลไว้บนต้นนานเกินไป อย่างเช่นการปฏิบัติดูแลเอาใจใส่แปลงส้มเขียวหวานของคุณกรณ์ธนา

คุณกรณ์ธนา สอนสี คุณสาวิตรี นิพนธ์ ภรรยา คุณปฏิวัติ วงศ์รัตนธรรม เกษตรอำเภอวังชิ้น และผู้เขียน ได้ไปชมแปลงส้มเขียวหวานเพื่อให้เห็นภาพของจริงนำมาสื่อสารยังท่านผู้อ่าน

คุณกรณ์ธนา เล่าให้ฟังว่า การขยายพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานของตนได้ดำเนินการไปเรื่อยๆ เพราะยังมีพื้นที่ว่างอยู่และบางพื้นที่ต้นส้มเขียวหวานมีอายุมากแล้ว คุณกรณ์ธนาก็จะนำกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานลงปลูกระหว่างต้นที่แก่แล้ว เมื่อถึงเวลาที่จะตัดออก ต้นส้มเขียวหวานที่ปลูกใหม่ก็จะเติบโตให้ผลผลิตต่อเนื่องกัน โดยคุณกรณ์ธนาใช้กิ่งพันธุ์ที่ตนเองตอนเอาไว้ เมื่อรากงอกออกมาจนมีความแข็งแรงก็จะตัดนำลงแปลงปลูก

การปลูก และการดูแล

คุณกรณ์ธนา บอกว่าตนเองได้นำเอาทุนมรดกทางการเกษตรสมัยพ่อแม่กลับมาสร้างและรื้อฟื้นวิธีการปลูกส้มเขียวหวาน แต่มิได้นำมาใช้ทั้งหมด แต่ได้ผ่านการคัดกรองเลือกสรรบางวิธีการมาใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ยังคงหลักการทางวิชาการเกษตรไว้บ้างตามที่ได้ไปอบรมมา

วิธีการปลูก ส้มเขียวหวานนั้น คุณกรณ์ธนา บอกว่า จะปรับพื้นที่ตามลักษณะภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ลาดเชิงเขาสลับกับพื้นราบ ขุดหลุมกว้างxยาวxลึก (50 เซนติเมตร) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักชนิดผง ซึ่งกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ร่วมกันผลิตนำมาคลุกเคล้ากับดินแล้วใส่ในหลุม นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกแล้วใช้ไม้ไผ่ทำเป็นหลักผูกกับกิ่งพันธุ์กันโค่นเมื่อโดนลมพัดแรงๆ ก็เป็นอันเสร็จการ คุณกรณ์ธนาแนะนำว่าควรปลูกส้มเขียวหวานในช่วงฤดูฝนดีที่สุด เป็นการประหยัดน้ำ และพื้นดินโดยทั่วไปมีความชื้นเหมาะสมกับการเติบโตของต้นส้ม

จากซ้าย คุณปฏิวัติ วงศ์รัตนธรรม คุณกรณ์ธนา สอนสี และ คุณสาวิตรี นิพนธ์

การดูแล แปลงส้มเขียวหวาน คุณกรณ์ธนาเล่าให้ฟังว่าต้นส้มมีอายุต่างกัน ต้นแก่อายุมากก็มี แต่ละปีก็ปลูกเพิ่มหรือปลูกเสริม ต้นส้มเขียวหวานที่ยังอายุน้อยๆ ก็ดูแลให้ต้นและใบเจริญเติบโตด้วยดี ส่วนต้นที่ให้ผลผลิตแล้วก็จะเข้าสู่วัฏจักรของการให้ผลผลิต ซึ่งส้มเขียวหวานจะออกผลเป็นรุ่นๆ ไปในแต่ละปี ให้การดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่เรื่องน้ำ โดยที่แปลงปลูกแห่งนี้วางระบบน้ำด้วยสปริงเกลอร์ ต้นละ 1 หัว เนื่องจากต้นส้มเขียวหวานเป็นไม้ผลที่ทนแล้ง การให้หรือการถอยน้ำได้อาศัยประสบการณ์และความรู้ในการสังเกต เพราะเกี่ยวข้องกับการผลิตส้มเขียวหวาน

ส้มเขียวหวานแต่ละรุ่นจะให้ผลผลิตตรงตามที่ตลาดต้องการ รุ่นใดต้องการให้ออกผลมากน้อย ดิน น้ำ ปุ๋ย มีส่วนสำคัญ บวกกับความเอื้ออำนวยของสภาพลมฟ้าอากาศ คุณกรณ์ธนามีประสบการณ์และความรู้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะคุณกรณ์ธนาเป็นประธานศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน และประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ดังนั้น วิธีการและกำหนดการระยะเวลาในการให้ปุ๋ยกับต้นส้มเขียวหวาน จึงมีความพอดีและเหมาะสม คุณกรณ์ธนาบอกว่าก่อนถึงช่วงจังหวะเวลาที่ส้มเขียวหวานจะผลิดอกออกผล จะผสมปุ๋ยด้วยสูตร 46-0-0 บวกกับ สูตร 15-15-15 และปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 1:2:2 นำไปใส่รอบทรงพุ่ม ต้นละ 1-1.5 กิโลกรัม ตามขนาดของลำต้น แล้วให้น้ำทันที เพื่อให้ปุ๋ยละลาย ทั้งนี้ จะต้องจัดการตัดแต่งกิ่งที่แห้ง กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ เล็กๆ น้อยๆ ไปด้วย

กิ่งตอน

หลังจากได้เตรียมความพร้อมให้แก่ต้นและใบแล้ว ก็ต้องมีกระบวนการในการจัดการให้ต้นส้มเขียวหวานเกิดอาการเครียดด้วยการงดน้ำ สังเกตใบส้มแสดงอาการเหี่ยวเฉา จึงให้น้ำอย่างเต็มที่ และให้ปุ๋ย หลังให้ปุ๋ย 1 วัน ก็จะฉีดพ่นธาตุอาหารทางใบ พร้อมกับสาหร่ายทะเลสกัด กระตุ้นตาดอก ก็จะเกิดการผลิดอกออกมาให้เห็น คุณกรณ์ธนาอธิบายเพิ่มเติมว่า ต้นส้มเขียวหวานต้องการทั้งธาตุอาหารหลัก ซึ่งเปรียบเสมือนที่คนเราต้องกิน หมู ไก่ ปลา เป็นวัตถุดิบ กับต้องการธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม เพื่อช่วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบ ให้เป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมกิน จึงมีความสำคัญต่อการออกดอกของส้มเขียวหวาน

หลังจากนั้น ก็ดูแลไปตามปกติ ไม่ให้มีโรคและแมลงมารบกวน ถ้าเห็นว่าอาจจะมีก็จะใช้วิธีการป้องกันมากกว่าการรักษาเมื่อเกิดการระบาดแล้ว ด้วยการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือราเขียว ฉีดพ่นป้องกันโรค กับผลิตเชื้อราบิวเวอเรีย หรือราขาว ฉีดพ่นป้องกันแมลง ซึ่งกระบวนการผลิตส้มเขียวหวานของคุณกรณ์ธนาผลิตตามมาตรฐาน GAP

จากการฝึกฝนและเป็นประธานศูนย์ฯ คุณกรณ์ธนาจึงสามารถใช้ประสบการณ์และความรู้ในการอธิบายสาเหตุ อาการของต้นและใบส้มเขียวหวานว่าอาการเช่นนั้นเช่นนี้ส้มกำลังขาดธาตุอาหารใด หรือเป็นอาการของโรคอะไร โดยคุณกรณ์ธนาได้พาไปดูในแปลงและชี้ให้เห็นลักษณะอาการบางอย่าง แม้จะหาไม่ค่อยพบแต่ก็มีบ้าง คุณกรณ์ธนาอธิบายว่า ส้มเขียวหวานก็เป็นพืชที่ต้องการธาตุอาหารเช่นเดียวกับไม้ผลอื่นๆ ถ้าได้รับครบทุกธาตุมากน้อยต่างกันของระยะการเจริญเติบโตจะส่งผลให้ต้น กิ่ง ก้าน ใบ เจริญเติบโตให้ผลผลิตที่ดีทั้งปริมาณและคุณภาพ

ที่แปลงส้มเขียวหวานของคุณกรณ์ธนาจึงต้องใช้ทั้งปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ ผสมกันเพื่อให้ต้นส้มเขียวหวานได้รับธาตุอาหารอย่างเพียงพอ ถ้าต้นแข็งแรงโรค/แมลงก็จะมีน้อย ดังนั้น การขาดธาตุอาหารใดธาตุหนึ่ง หรือหลายๆ ธาตุ อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของส้มเขียวหวานด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอาการ ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรที่ช่างสังเกต เพื่อจะได้วินิจฉัย ป้องกันได้ถูกต้องหรือหากไม่แน่ใจว่าอาการนั้นๆ ขาดธาตุอาหารใดแน่ อาจตัดกิ่ง ใบ ที่มีอาการให้นักวิชาการดูก็ได้

ปลูกบนที่ลาดเชิงเขา

สำหรับคุณกรณ์ธนาแล้วบอกว่า จากประสบการณ์ของตนสังเกตอาการของส้มเขียวหวานพอประเมินได้ว่า ถ้าอาการสีของใบส้มเขียวหวานที่เปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเหลือง หากขาดต่อเนื่องอาจขาดธาตุไนโตรเจน แต่ถ้าต้นแคระแกร็นใบบิดเบี้ยวไม่แบนราบอาจเป็นอาการของการขาดธาตุฟอสฟอรัส หรือถ้าอาการใบเหลือง ใบแห้งโดยเฉพาะบริเวณขอบหรือปลายใบ กรณีใบแห้งอาจพบเป็นจุดๆ เริ่มที่ใบแก่ก่อนจะลุกลามสู่ใบอ่อน การเจริญเติบโตของรากจะไม่ดี ทำให้เติบโตช้า อ่อนแอ ง่ายต่อการเข้าทำลายของโรค/แมลง ผลส้มมีขนาดเล็กลักษณะเหี่ยวย่นให้นึกถึงธาตุโพแทสเซียม ส่วนอาการอื่นๆ ที่เคยพบก็เช่น ผลแตก ใบเขียวเข้มผิดปกติ ใบด่าง มักจะขาดธาตุอาหารเสริมบางธาตุต้องนำ ผล ใบ ไปสอบถามนักวิชาการอีกทีหนึ่ง

“แต่ทั้งนี้ อาการต่างๆ อาจจะเกิดจากการขาดธาตุอาหารใด ธาตุอาหารหนึ่ง หรือหลายธาตุ จากการสังเกต อาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการเกษตรเสียทั้งหมด ประสบการณ์ที่มีก็ได้มาจากการไปอบรม สอบถามผู้รู้ และเป็นคนช่างสังเกต การเรียนรู้เรื่องส้มเขียวหวานไม่มีที่สิ้นสุด” คุณกรณ์ธนา กล่าว

ส่วนอาการของโรคพืชนั้น ในแปลงส้มเขียวหวานแห่งนี้ก็มีอยู่บ้าง แม้จะใช้วิธีการป้องกันมากกว่าการกำจัดด้วยสารเคมี แต่เท่าที่พบก็มีไม่มาก คุณกรณ์ธนา ชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างบางลักษณะจากอาการเข้าทำลายของโรคแคงเกอร์ โรคราสนิม โรคราดำ อันมักจะเกิดในฤดูฝน การป้องกันคุณกรณ์ธนาบอกว่าก็จะฉีดพ่นด้วยไตรโคเดอร์มา 2 ครั้ง ช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน หรืออย่างแมลงที่เข้าทำลายเห็นได้ที่ใบและผลส้ม อย่างเพลี้ยอ่อนพบช่วงแตกใบอ่อน เพลี้ยไฟช่วงติดดอก หากผลส้มโตก็จะเป็นผลลาย ไรแดง หนอนชอนใบ ต้องป้องกันด้วยบิวเวอเรีย ฉีดพ่น 15 วัน ต่อครั้ง เพียง 2 ครั้ง ก่อนแตกตาดอก และติดผลอ่อน

คุณกรณ์ธนา ย้ำว่า การปฏิบัติการของตนมิได้ดำเนินการทุกครั้ง เพียงแต่ใช้การสังเกตการคาดการณ์เกี่ยวกับลมฟ้าอากาศที่พยากรณ์ประกอบไปด้วย แต่หากพิจารณาแล้วว่าจากการสำรวจตรวจนับแล้วพบเจอก็ต้องฉีดพ่น เพราะหากปล่อยให้เกิดการระบาดแล้วมากำจัดด้วยสารเคมี จะทำให้ต้นทุนสูงและตนเองก็จะมีความเสี่ยงด้านสุขภาพไปด้วย

ผลดกมาก

เก็บผลผลิตส้มเขียวหวานให้ได้คุณภาพ

คุณภาพของส้มเขียวหวานได้จากการนับอายุของผลเมื่อจะถึงเวลาเก็บเกี่ยว คุณกรณ์ธนาบอกว่านับตั้งแต่ส้มเขียวหวานดอกบาน นับเวลา 10 เดือน ดูผลส้มว่าสุกได้ที่พอดี ผิวเหลือง เปลือกบาง ชิมดูมีรสหวาน เคยวัดความหวานได้ 12 องศาบริกซ์ ก็เก็บขายได้ตามที่ผู้ซื้อต้องการ ซึ่งขนาดของผลส้มที่เก็บได้จะมีขนาด เบอร์ 0 ถึงเบอร์ 1 เป็นส่วนใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาด ผลผลิตที่เก็บได้มากที่สุดจะเป็นรุ่นที่ 2 ราวๆ เดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม ปลายๆ รุ่นจะมีสีผิวเป็นส้มเขียวหวานสีทอง แต่ถ้าเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม ผิวส้มจะเป็นสีทองเกือบทั้งหมด ทั้งนี้สภาพลมฟ้าอากาศหนาวเย็นเป็นปัจจัยหลัก

เนื่องจากการเก็บผลส้มเขียวหวานยังไม่สามารถใช้เทคโนโลยีใดๆ มาเก็บผลได้ ต้องอาศัยเทคนิคในการดูผล เก็บผล และเลือกพิจารณาเป็นผลๆ ไป จึงต้องใช้แรงงานในครอบครัวกับภรรยา คือ คุณสาวิตรี นิพนธ์ ผลผลิตที่เก็บได้ถ้าเป็นต้นส้มเขียวหวานที่อายุ 8-12 ปี จะได้ 5 ตัน ต่อไร่ แต่ทั้งสวนโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2 ตัน ต่อไร่

ลักษณะเด่นของส้มเขียวหวานจากสวนคุณกรณ์ธนา เป็นส้มเปลือกบาง ล่อน แกะง่าย ผลแป้น น้ำหนักดี เนื้อกุ้งฉ่ำน้ำ ผิวเกรียนไม่ติดลาย รสชาติหวานกลมกล่อม ที่สำคัญเป็นส้มปลอดภัย

ผิวสีสวยงาม

ตลาดส้มเขียวหวาน ปีนี้ตลาดตอบรับดี

ด้านการตลาด คุณกรณ์ธนา ระบายความรู้สึกว่าแรกๆ ก็พะว้าพะวังว่าราคาจะขึ้นหรือจะลง เพราะปีก่อนราคาส้มเขียวหวานไม่ดีเลย แต่ละปีของวงจรการผลิตตนเองมีความตั้งใจที่จะดูแลผลผลิตส้มเขียวหวานให้มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่ปีนี้เป็นช่วงจังหวะโอกาสดี ส้มเขียวหวานมีราคาเป็นที่พอใจ ถ้าขายตามขนาด เบอร์ 0 สวยที่สุด ราคาจากสวนขายได้กิโลกรัมละ 22 บาท ส่วน เบอร์ 1 ขายได้กิโลกรัมละ 18 บาท

คุณกรณ์ธนา ฝากความหวังไว้ว่า ส้มเขียวหวานหาดรั่ว วังชิ้น จะเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค จึงต้องการการแก้ไขปัญหาด้านราคา จะด้วยวิธีการใดก็ได้ที่เกษตรกรมีความมั่นใจที่จะผลิตส้มคุณภาพออกสู่ตลาด เพื่อไม่ให้มีการต้องมาตัดต้นส้มเขียวหวานทิ้งขว้างดังเช่นพืชตัวอื่นๆ

ผู้ค้าปลีก ค้าส่ง หรือร้านค้า ห้างสรรพสินค้า สนใจจะสั่งซื้อหรือสั่งจองส้มเขียวหวานคุณภาพบ้านหาดรั่ว วังชิ้น  ติดต่อ คุณกรณ์ธนา สอนสี บ้านเลขที่ 40/1 หมู่ที่ 6 ตำบลวังชิ้น อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ โทร. 099-945-475

คุณภาพดี

หน่วยงานรัฐให้การส่งเสริม

ขับเคลื่อนทั้งปริมาณและคุณภาพ

คุณปฏิวัติ วงศ์รัตนธรรม เกษตรอำเภอวังชิ้น ได้ให้ข้อมูลโดยรวมของพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานว่า อำเภอวังชิ้นเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานมากที่สุด 16,048 ไร่ จำนวนเกษตรกรผู้ปลูก 1,334 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2561) ซึ่งมีปลูกกระจายอยู่ทั่วทุกตำบล มากน้อยแล้วแต่บริบทของแต่ละพื้นที่ อย่างเช่น ตำบลนาพูน ปลูกมากที่สุด รองลงไปเป็นตำบลวังชิ้น แม่เกิ๋ง คุณปฏิวัติ มองว่าสถานการณ์ส้มเขียวหวานในปัจจุบันยังเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค เมื่อปี 2561ที่ผ่านมา ฝนฟ้าอากาศดี ผลผลิตส้มเขียวหวานในอำเภอวังชิ้น เกษตรกรขายได้ราคาดีสมเหตุสมผล

การส่งเสริมของสำนักงานเกษตรอำเภอวังชิ้น ทั้งเกษตรอำเภอและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้ติดตามส่งเสริมแนะนำอย่างต่อเนื่อง อย่างเกษตรแปลงใหญ่ส้มเขียวหวาน ซึ่งมีอยู่แล้ว 1 แห่ง ในอนาคตจะส่งเสริมให้มีเกษตรแปลงใหญ่ทุกตำบล เพื่อต้องการให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เช่น แนะนำเรื่องการตรวจวิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยสั่งตัดตามค่าการวิเคราะห์ดิน การงดใช้สารเคมี โดยให้ความรู้การสำรวจตรวจนับในแปลงปลูกส้มเขียวหวาน ก่อนจะใช้สารชีวภัณฑ์ หรือสารเคมี และเพื่อการเพิ่มผลผลิตจากการแนะนำการตัดแต่งกิ่งป้องกันหรือให้ปราศจากโรคและแมลง เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตจากผลส้มที่เป็นผลเล็กให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวานได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP ครบทุกแปลง ให้ผู้บริโภคได้บริโภคส้มเขียวหวานที่ปลอดภัย ซึ่งตนเองมองว่าเกษตรกรวังชิ้นมีการใช้สารเคมีน้อยมาก ส่งผลให้ส้มเขียวหวานวังชิ้นมีคุณภาพที่ดี มีรสชาติกลมกล่อม อร่อย

ด้านการตลาดนั้น คุณปฏิวัติเห็นว่า ต้องการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดส้มเขียวหวานสู่ตลาดปลอดภัย และกระจายผลผลิตสู่ตลาดสากล ซึ่งมีความต่อเนื่องที่จะป้อนผลผลิตสู่ตลาด แนวทางหนึ่งที่ผ่านการประชาสัมพันธ์ก็ด้วยการจัดให้มีการประกวดผลผลิตส้มเขียวหวานเพื่อคัดเลือกผลผลิตคุณภาพสื่อไปยังตลาดผู้บริโภคทุกระดับ

ในอนาคตอันใกล้นี้วางแผนไว้ว่าจะดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวาน เพื่อจัดการองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรอย่างครบวงจร ให้เกษตรกรได้มีโอกาสพบปะกันบ่อยๆ โดยจะจัดทำหลักสูตรของโรงเรียนเกษตรกร ควบคู่กันไปด้วย ความมุ่งมั่นดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่ายจึงจะประสบความสำเร็จ โดยคำนึงถึงประโยชน์และความมั่นคงในการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวานเป็นสำคัญ

สำนักงานเกษตรอำเภอวังชิ้น โทร. 054-589-115