‘โกโก้’ งานวิจัยพืชเศรษฐกิจ ที่แม่ฮ่องสอน

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดโครงการนำสื่อมวลชนศึกษาดูงานแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้เขียนได้ติดตามชมผลงานของศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในส่วนความรับผิดชอบของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน กรมวิชาการเกษตร โดยมี คุณมณเทียน แสนดะหมื่น นักวิชาการเกษตร รักษาการหัวหน้าศูนย์ให้คำบรรยายและนำชมแปลงปลูกโกโก้ สรุปได้ว่า

โกโก้ มีการพัฒนาพันธุ์มาจาก 3 สายพันธุ์ คือ

พันธุ์คริโอโล ลักษณะผลใหญ่มีสีแดงหรือเขียว ผลสุกมีสีเหลือง เปลือกบางนิ่ม ผิวขรุขระ ก้นแหลม เมล็ดใหญ่สีขาวหรือม่วงอ่อน กลิ่นหอม รสชาติดี ผลผลิตต่ำ ไม่ต้านทานโรค

สายพันธุ์ฟอรัสเทอร์โร่ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เวสต์แอฟริกัน อมีโลนาโด และอับเปอร์อะเมซอน

โกโก้ ถูกอัดด้วยแรงดันสูง เป็นช็อกโกแลต

สายพันธุ์ตรินิทาริโอ

นอกจากนี้ จะเป็นสายพันธุ์ลูกผสม คือ พันธุ์ลูกผสมชุมพร 1 รับรองโดยกรมวิชาการ เมื่อ 17 มิถุนายน 2537 ลักษณะผลป้อม ร่องค่อนข้างตื้น ผิวเรียบ ผลแก่สีเขียว เมื่อสุกผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เนื้อในเมล็ดสีม่วง เริ่มให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวได้หลังจากปลูก 2 ปี ลักษณะเด่นคือ ออกผลเร็ว ให้ผลผลิตสูง เฉลี่ย 127.2 กิโลกรัม มีความสม่ำเสมอในการให้ผลผลิต เมล็ดมีขนาดตรงตามมาตรฐานสากล คือไม่เกิน 110 เมล็ด ต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม เมล็ดมีไขมันสูง ร้อยละ 57.27 ทนทานต่อโรคกิ่งแห้งค่อนข้างสูง และทนทานต่อโรคผลเน่าดำปานกลาง สายพันธุ์ UITI x NA 32 ขนาดผลค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักเมล็ดโดยเฉลี่ย 0.99 กรัม ต่อเมล็ด ผลผลิตเมล็ดแห้งโดยเฉลี่ย 130-150 กิโลกรัม ต่อไร่

คุณมณเทียน แสนดะหมื่น

พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกโกโก้ ลักษณะดินควรเป็นดินร่วน ปริมาณอินทรียวัตถุในดินสูง หน้าดินลึก การระบายน้ำในดินค่อนข้างดี สภาพความเป็นกรดด่าง อยู่ระหว่าง 5.5-7.0 ปริมาณน้ำฝนควรกระจายสม่ำเสมอ ระหว่าง 1,500-2,000 มิลลิลิตร ต่อปี

Advertisement

วิธีปลูกโกโก้ สามารถปลูกได้ 2 ระบบ ปลูกแบบพืชเชิงเดี่ยว แต่วิธีนี้ไม่นิยมปลูก เนื่องจากมีความยุ่งยากในการดูแลทั้งโกโก้และพืชร่มเงา ระยะแรกที่ปลูกโกโก้ จำเป็นต้องสร้างร่มเงาให้โกโก้ก่อนจึงตัดร่มเงานั้นออกภายหลัง ระบบปลูกเป็นพืชแซมในสวนมะพร้าวและผลไม้อื่น เช่น กล้วย แคฝรั่ง กระถินยักษ์ สะตอ ต้นโกโก้ที่มีขนาดเล็กหรือระยะก่อนให้ผลผลิต ต้องการแสงแดดประมาณร้อยละ 30 และต้องการมากขึ้นประมาณร้อยละ 60-70 เมื่อต้นโกโก้ให้ผลผลิตแล้ว ระยะปลูกโกโก้นิยมปลูก 3×3 เมตร

บางพันธุ์สีสวย

แต่หากปลูกในสวนมะพร้าวหรือไม้ผลอื่นๆ ระยะปลูก 8.50×8.50 เมตร หรือ 9×9 เมตร หรือ 10×10 เมตร จะได้ต้นโกโก้ประมาณ 120-150 ต้น หลุมปลูกต้นโกโก้ควรขุดลึก 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยกาบมะพร้าว เพื่อช่วยให้อุ้มน้ำได้ดีขึ้น ใส่ปุ๋ยหินฟอสเฟต ประมาณ 200 กรัม ในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ควรใส่ปุ๋ยคอกผสมกับดินปลูก ประมาณหลุมละ 2-3 กิโลกรัม การใส่ปุ๋ยโดยใช้วิธีหว่านบริเวณทรงพุ่ม แบ่งใส่ปีละ 2-3 ครั้ง การตัดแต่งกิ่ง เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเป็นการลดการระบาดของโรคและแมลง ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

Advertisement

ระยะแรกที่ปลูกโกโก้จะแตกใบอ่อนบริเวณโคนต้นและบริเวณลำต้น ต้องหมั่นตัดกิ่งเหล่านี้ออก เพื่อเลี้ยงลำต้นเดี่ยว เมื่อต้นโกโก้สูงประมาณ 1.50 เมตร เริ่มปล่อยให้ต้นโกโก้แตกคาคบ บริเวณนี้ตัดแต่งให้เหลือเพียง 3 กิ่ง การให้น้ำ โกโก้เป็นพืชที่ชอบอากาศค่อนข้างชุ่มชื้น ในช่วงฤดูแล้งถ้าฝนทิ้งช่วงนานกว่า 3 เดือน จะต้องให้น้ำทันที

แปลงทดสอบ ปลูกตั้งแต่ ปี 2557

โรคที่สำคัญคือ

โรคกิ่งแห้ง ลักษณะของโรคคือ ปลายยอดจะแห้ง บริเวณนี้จะเกิดตาข้างแตกออกมามาก แต่จะเน่าตายก่อนพัฒนาเป็นกิ่ง ป้องกันกำจัดโดยตัดบริเวณที่เป็นโรคออกและให้เลยเข้าไป ประมาณ 1 ฟุต เพื่อไม่ให้เชื้อราลุกลามไปยังส่วนอื่น

โรคผลเน่า เกิดจากเชื้อราเข้าไปทำลายส่วนของผล เกิดแผลสีน้ำตาลเข้มจนถึงเกือบดำ ลักษณะฉ่ำน้ำลุกลามไปทั่วผล การป้องกันกำจัด ควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง เพื่อลดร่มเงา เก็บผลโกโก้สุกออกให้หมด เพื่อลดแหล่งสะสมโรค หลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ เพราะความชื้นสูงที่เป็นสาเหตุให้โรคระบาดอย่างรวดเร็ว ฉีดพ่นด้วยสารคูปราวิท คอปเปอร์ออกไซด์ 2 สัปดาห์ ต่อครั้ง

ผลโกโก้

มวนโกโก้ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของแมลงชนิดนี้ จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและผลอ่อน ระยะวางไข่ตัวแก่จะวางไข่ฝังลงในเปลือกผิวของโกโก้ แล้วเจริญเติบโตออกมาทำลายผลและยอดอ่อน การป้องกันและกำจัด ควรเผาทำลายผลโกโก้ที่ตกค้างบริเวณโคนต้นให้หมด ฉีดพ่นด้วยสารเคมีจำพวกเซฟวิน และอโซดรินธีโอดาน ฉีดพ่นสลับกันห่าง 7-10 วัน

ด้วงกินใบ ที่พบส่วนใหญ่เป็นด้วงกุหลาบ ด้วงงวง แมลงค่อมทอง ป้องกันกำจัดด้วยการฉีดพ่นสารเคมีจำพวก เซฟวิน อโซดรินธีโอดาน ฉีดพ่นทุก 7-10 วัน ในช่วงที่เกิดการระบาด

ผลิตภัณฑ์จากโกโก้

การหมักโกโก้ หลังจากที่ตัดผลโกโก้ที่ใช้มีดตัดขั้วผล ไม่ควรใช้มือบิดผล เพราะที่รอยผลเดิมจะออกเป็นผลใหม่ต่อไปอีก เก็บรวบรวมผลหรือฝักโกโก้อย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้ได้ปริมาณมากและลดปริมาณน้ำในผล หมักโดยการทุบผลโกโก้ หรือใช้มีดผ่าผล แกะเมล็ด ดึงไส้ที่ติดมากับเมล็ดออก นำเมล็ดผึ่งแดดนาน 3-4 ชั่วโมง นำลงหมักในภาชนะหมักที่มีช่องระบายของเหลวที่เกิดจากการสลายตัวของเยื่อหุ้มเมล็ด ปริมาณที่หมักในลังไม้ไม่ควรน้อยกว่า 40 กิโลกรัม หากหมักในเข่ง ไม่ควรน้อยกว่า 60-80 กิโลกรัม หมักนาน 6 วัน มีการกลับทุกวันใน 3 วันแรก ด้านบนปิดด้วยกระสอบหลายๆ ชั้น เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อน จากนั้นนำไปตากแดดหรืออบแห้งที่อุณหภูมิไม่เกิน 80 องศาเซลเซียส นาน 1-1.5 วัน จากนั้นนำไปบรรจุเพื่อเตรียมส่งจำหน่ายต่อไป หรืออาจจะนำไปบดย่อยให้ละเอียด นำไปทำเป็นโกโก้ผง หรือนำเข้าเครื่องอัดแรงดันสูงเพื่อทำเป็นเครื่องดื่มช็อกโกแลต หรือใส่บรรจุภัณฑ์ทำเป็นช็อกโกแลตก้อนหรือช็อกโกแลตแท่งต่อไป

เมล็ดโกโก้แห้ง

ขอขอบคุณ คุณวาสนา ไก่แก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดแม่ฮ่องสอนและทีมงาน นำสื่อมวลชนไปชมวิธีการปลูก การผลิตแปรรูปโกโก้ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 กรมวิชาการเกษตร 193 หมู่ที่ 5 ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร. 053-684-377 หรือ คุณมณเทียน แสนดะหมื่น 089-998-0425