เกษตรกรปทุมธานี ทำเกษตรผสมผสาน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

เกษตรทฤษฎีใหม่ ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากเป็นการทำที่ได้รับผลสำเร็จ เกษตรกรสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตได้จริง หลักการสำคัญคือ พออยู่ พอกิน พอใช้

คุณนฤมล ชูทรัพย์ เจ้าของสวน

คุณนฤมล ชูทรัพย์ อยู่บ้านเลขที่ 58/2 หมู่ที่ 8 ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เล่าว่า เริ่มจากการทำงานในโรงงานแห่งหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2540 ทำมาได้สักระยะหนึ่งทางโรงงานต้องย้ายที่ทำการไปอยู่จังหวัดลำปาง และด้วยอุปสรรคเรื่องระยะทางที่แสนไกล ทำให้ต้องคิดหาอาชีพใหม่ ซึ่งในช่วงนั้นนึกถึงที่ดินที่พ่อกับแม่เคยให้ไว้เป็นมรดก ก็เลยตัดสินใจลาออกจากการทำงานในโรงงาน หันมาทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นชาวไร่ ชาวสวนธรรมดา ที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยเป็นเกษตรแบบผสมผสานที่นำมาประกอบเป็นอาชีพนั้น ถือว่ามีความหลากหลาย เริ่มตั้งแต่อาชีพหลักอย่าง การทำนา การเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่ ไปจนถึงการปลูกกล้วยและพืชตระกูลผักสวนครัว อย่าง พริกขี้หนู เพื่อนำไปขายสร้างรายได้ต่อไป

เนื้อที่ 11 ไร่ ที่ใช้ในการประกอบอาชีพนั้น ส่วนใหญ่แล้วใช้เป็นที่นาปลูกข้าว เสริมด้วย การเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา และปลูกพืชผักสวนครัว ที่เหลือจากการกินก็นำไปขาย เพื่อเป็นช่องทางในการหารายได้เสริม ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่สอนให้ พออยู่ พอกิน พอใช้

ต้นกล้าพริกขี้หนู

เกษตรผสมผสาน ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นในเรื่องของการเพิ่มกำไรและลดต้นทุนเป็นหลัก อย่างเช่น การเลี้ยงปลา ที่ก่อนหน้านี้มีการเลี้ยงปลาอย่างเดียว และเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูป จึงทำให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ไม่ทัน เนื่องจากว่าอาหารสำเร็จรูปมีต้นทุนที่แสนแพง จึงต้องหาวิธีแก้เพื่อที่จะได้ลดต้นทุนในการเลี้ยงปลา และนี่คือ เหตุผลเดียวที่ต้องเลี้ยงไก่ขึ้นมา เพราะว่ามูลไก่สามารถนำไปให้เป็นอาหารปลาได้ หรือแม้กระทั่งการนำปลายข้าวที่ได้จากการทำนามา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถลดต้นทุนในการเลี้ยงปลาได้

ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ลาออกจากลูกจ้างในโรงงานแล้วหันมาทำการเกษตร รู้สึกมีความสุขและภาคภูมิใจทุกครั้งเพราะเป็นงานที่ไม่หนัก ว่างเมื่อไรก็สามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีกินมีใช้ เพราะตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้วถือเป็นวิชาชีวิตที่สอนทุกอย่างในการดำรงชีวิตอย่างไรให้มีความสุข มีความพอดี และรู้จักแบ่งปันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรให้ชาวบ้านเข้ามารับความรู้เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดต่อไป

ผลผลิตกล้วย

“สำหรับรายได้ในการทำการเกษตรที่เข้ามาหลังจากหักต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่มี คำว่า ขาดทุน เพราะการทำเกษตรแบบผสมผสานนั้น เป็นการทำการเกษตรที่เน้นพออยู่ พอกิน พอใช้ จึงไม่มีปัญหาตามมา โดยปัญหาที่พบบ่อยนั้น มักจะเป็นปัญหาแมลงที่เข้ามาคุกคามพืชทางการเกษตร ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่ต่างต้องยอมรับและหาวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะกำจัดคุณนฤมล บอก

คุณนฤมล บอกต่อว่า การได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าการที่หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญกับเกษตรกรนั้น ทำให้เพิ่มความมั่นใจในการลงทุนแก่เกษตรกรมากยิ่งขึ้น ซึ่งในกรณีนี้จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการปรับตัว และเพิ่มอัตราของนักลงทุน แม้ว่ากระแสเศรษฐกิจในปัจจุบันจะดิ่งลงไปบ้าง แต่ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตร ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น

ในส่วนการบริหารจัดการพื้นที่ของเกษตรผสมผสานนั้น แน่นอนต้องมีการบริหารจัดการเวลาให้ดี อาจจะแบ่งตามความเหมาะสมของพืชก็ได้ แต่ควรที่จะให้ความสำคัญเท่าๆ กัน อย่างเช่น ช่วงเช้าอาจจะไปดูแลในเรื่องของนาข้าว และพอมาถึงช่วงสายๆ ก็กลับมาให้อาหารปลา และอาหารไก่ ต่อมาในส่วนของพืชผักสวนครัวนั้นก็สามารถรดน้ำในช่วงเย็นก็ได้ ซึ่งอาจจะรดน้ำวันเว้นวัน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนและบริหาร ทำให้ผลผลิตที่ออกมาเป็นที่น่าประทับใจทั้งผู้ปลูกและผู้ซื้อ

ให้อาหารปลา

“สำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้นทำเกษตรแบบผสมผสานนั้น แน่นอนจะต้องมีการศึกษา ก่อนที่จะลงมือทำ เพราะการทำเกษตรแบบผสมผสานจำเป็นต้องใช้ความรู้จากต้นแบบ จึงจะสามารถประสบความสำเร็จได้ ซึ่งความรู้ต้นแบบที่ว่านั้นก็คือ ความรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดั่งคำว่า พออยู่ พอกิน พอใช้  นั่นเอง” คุณนฤมล แนะนำ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนฤมล ชูทรัพย์ หมายเลขโทรศัพท์ 084-697-4153

ไก่สร้างรายได้
เตรียมนำผลผลิตไปขาย

…………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ.2562