“ข้าวโพดหวานลูกผสม พันธุ์ชัยนาท 86-1”

ข้าวโพดหวาน เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี มีฤดูการผลิตสั้น ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูก ประมาณ 200,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 400,000 ตัน

แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญอยู่ในเขตภาคเหนือ ผลผลิตส่วนใหญ่จะถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งออกขายในต่างประเทศ เช่น ข้าวโพดบรรจุกระป๋อง มีปริมาณการส่งออก 157,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5,400 ล้านบาท

ปรับตัวได้ดีกับทุกสภาพแวดล้อม
ปรับตัวได้ดีกับทุกสภาพแวดล้อม

ปัจจุบันศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท รับผิดชอบหลักในการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักสดให้มีผลผลิตสูง และมีคุณภาพการบริโภคดี ใกล้เคียงกับพันธุ์การค้า เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวาน

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 86-1 จากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้ เบอร์ 75 กับสายพันธุ์แท้ เบอร์ 50 ผ่านการคัดเลือกพันธุ์ เปรียบเทียบพันธุ์ และประเมินผลผลิตตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ ระหว่าง ปี 2548-2554 และได้รับการพิจารณาเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร ใน ปี 2556 

ล่าสุดคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ได้พิจารณาประกาศให้ข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 86-1 เป็นพันธุ์รับรองแล้ว

โดยกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาทเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 86-1 เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกรที่จะใช้พันธุ์ไปปลูกเพื่อสร้างรายได้

เบื้องต้นคาดว่า จะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ไม่น้อยกว่า 2 ตัน และช่วยเพิ่มช่องทางการซื้อเมล็ดพันธุ์ราคาถูกให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง

คุณอมรา ไตรศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ได้บอกถึงลักษณะเด่นของข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 86-1 คือให้ผลผลิตสูง ให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือก 2,888 กิโลกรัม ต่อไร่ และผลผลิตฝักสดปอกเปลือก 1,939 กิโลกรัม ต่อไร่ มีอัตราแลกเนื้อ 40 เปอร์เซ็นต์ (สัดส่วนของน้ำหนักเมล็ดทั้งฝักต่อน้ำหนักฝักทั้งเปลือก)

นอกจากนี้ ยังปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม ปลูกได้ทั่วไปทั้งเขตน้ำฝนและในพื้นที่ชลประทาน ทั้งก่อนฤดูการทำนาและหลังฤดูการทำนา ข้อควรระวัง หลีกเลี่ยงการปลูกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคราน้ำค้าง และโรคใบไหม้

 

  

การเตรียมดินปลูก  

การเตรียมดินถือเป็นหัวใจของการปลูกข้าวโพดหวานให้ได้ผลผลิตสูง เพราะถ้าดินมีสภาพดีเหมาะกับการงอกของเมล็ดจะทำให้มีจำนวนต้นต่อไร่สูง ผลผลิตต่อไร่ก็จะสูงตามไปด้วย

การเตรียมดินที่ดีควรมีการไถดะและตากดินทิ้งไว้ 3-5 วัน จากนั้นจึงไถแปรเพื่อย่อยดินให้แตกละเอียด ไม่เป็นก้อนใหญ่ เหมาะกับการงอกของเมล็ด ควรมีการหว่านปุ๋ยคอก เช่น ปุ๋ยขี้ไก่ เป็นต้น อัตราประมาณ 1 ตัน ต่อไร่ ก่อนการไถแปร เพื่อเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น สามารถอุ้มน้ำได้นานขึ้น และยังเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้กับข้าวโพดหวาน

การปลูกควรปลูกเป็นแถวเป็นแนว ซึ่งสามารถปลูกได้ 2 วิธี คือ

การปลูกแบบแถวเดี่ยว ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1 ต้น จำนวนต้นต่อไร่ ประมาณ 7,000-8,500 ต้น จะใช้เมล็ด ประมาณ 1.0-1.5 กิโลกรัม ต่อไร่

การปลูกแบบแถวคู่ มีการยกร่องสูง ระยะระหว่างร่อง 120 เซนติเมตร ปลูกเป็น 2 แถวข้างร่อง ระยะห่างกัน 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร 1 ต้น ต่อหลุม จะมีจำนวนต้น ประมาณ 7,000-8,500 ต้น ต่อไร่ และใช้เมล็ด ประมาณ 1.0-1.5 กิโลกรัม ต่อไร่

การให้น้ำจะปล่อยน้ำตามร่อง ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกดี

 

การให้น้ำ

ระยะที่ข้าวโพดหวานขาดน้ำไม่ได้คือ ระยะ 7 วันแรกหลังปลูก เป็นระยะที่ข้าวโพดกำลังงอก ถ้าข้าวโพดหวานขาดน้ำช่วงนี้จะทำให้การงอกไม่ดี จำนวนต้นต่อพื้นที่ก็จะน้อยลง จะทำให้ผลผลิตลดลงไปด้วย

ระยะที่ขาดน้ำไม่ได้อีกช่วงหนึ่งคือ ระยะออกดอก การขาดน้ำในช่วงนี้จะมีผลทำให้การผสมเกสรไม่สมบูรณ์ การติดเมล็ดจะไม่ดี ติดเมล็ดไม่เต็มถึงปลายหรือติดเมล็ดเป็นบางส่วน ซึ่งฝักที่ได้จะขายได้ราคาต่ำ

โดยปกติถ้าเป็นพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้ควรให้น้ำทุก 3-5 วัน ขึ้นกับสภาพต้นข้าวโพดและสภาพอากาศ แต่ช่วงที่ควรให้น้ำถี่ขึ้นคือ ช่วงที่ข้าวโพดกำลังงอกและช่วงออกดอก

 

การใส่ปุ๋ย

ปุ๋ยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปลูกข้าวโพดหวาน เพราะปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกพืชติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง จึงควรใส่ธาตุอาหารพืช (ปุ๋ย) เพิ่มเติมลงในดิน

การใส่ปุ๋ยในข้าวโพดหวาน มีขั้นตอนดังนี้

การใส่ปุ๋ยรองพื้น สูตรปุ๋ยที่แนะนำ คือ 15-15-15 หรือ 25-7-7 หรือ 16-16-8 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ใส่พร้อมปลูกหรือใส่ขณะเตรียมดิน

ถ้าปลูกด้วยมือ ควรหยอดปุ๋ยที่ก้นหลุมแล้วกลบดินบางๆ ก่อนหยอดเมล็ด ไม่ควรให้ปุ๋ยสัมผัสกับเมล็ดโดยตรง เพราะอาจทำให้เมล็ดเน่าได้

การใส่ปุ๋ยแต่งหน้า ครั้งที่ 1 สูตรปุ๋ยที่แนะนำคือ 46-0-0 (ยูเรีย) อัตรา 25-30 กิโลกรัม ต่อไร่ ใส่เมื่อข้าวโพดมีอายุ 20-25 วัน หลังปลูก โรยข้างต้นในขณะดินมีความชื้นหรือให้น้ำตาม หรือพูนโคนกลบปุ๋ยก็จะเป็นการกำจัดวัชพืชไปในตัว

การใส่ปุ๋ยแต่งหน้า ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดมีอายุ 40-45 วัน หลังปลูก ถ้าแสดงอาการเหลืองหรือไม่สมบูรณ์ ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อไร่ โรยข้างต้นในขณะดินมีความชื้นหรือให้น้ำตาม

 

การกำจัดวัชพืช

ถ้าแปลงปลูกข้าวโพดหวานมีวัชพืชขึ้นมากจะทำให้ข้าวโพดไม่สมบูรณ์ ผลผลิตจะลดลง จึงควรมีการกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก

วิธีการกำจัดวัชพืชสามารถทำได้ดังนี้ การฉีดยาคุมวัชพืช ใช้สารอะลาคลอร์ ฉีดพ่นลงดินหลังจากปลูกก่อนที่วัชพืชจะงอก ขณะฉีดพ่นดินควรมีความชื้นเพื่อทำให้ยามีประสิทธิภาพดีขึ้น ใช้วิธีการเขตกรรม

ถ้าหากจำเป็นต้องใช้สารเคมี ควรได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าหน้าที่โรงงานผู้ส่งเสริมการปลูก

 

“โรคราน้ำค้าง” โรคสำคัญ

ปัจจุบันพันธุ์ข้าวโพดหวานเกือบทุกพันธุ์ที่ขายในประเทศไทยเป็นพันธุ์ที่ไม่ต้านทานโรคราน้ำค้าง ตั้งแต่พันธุ์ไฮ-บริกซ์ 10 และ ไฮ-บริกซ์ 3 จนถึงพันธ์ล่าสุดไฮ-บริกซ์ 9 ซึ่งทุกพันธุ์ได้ผ่านการคลุกยาป้องกันโรคราน้ำค้าง (ยาเมทาแลกซิล) ในอัตรายาที่เหมาะสม เมื่อปลูกแล้วจะไม่พบว่าเป็นโรค

แต่การปลูกที่ผิดวิธีก็อาจเป็นสาเหตุให้เป็นโรคราน้ำค้างได้

การปลูกที่ผิดวิธีที่พบเห็นบ่อยๆ มีดังนี้

การแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำก่อนปลูก เกษตรกรเชื่อว่าการแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำก่อนปลูกจะทำให้การงอกดีและมีความสม่ำเสมอ แต่การแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำก่อนปลูกจะทำให้ยาที่คลุกติดมากับเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นยาป้องกันโรคราน้ำค้างละลายหลุดออกไป ทำให้ยาที่เคลือบเมล็ดมีน้อยลงหรือไม่มีเลย เมื่อนำเมล็ดพันธุ์ที่แช่น้ำไปปลูก ต้นอ่อนที่งอกออกมาจึงเป็นโรคราน้ำค้าง

วิธีแก้ไข คือไม่แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำก่อนปลูกหรือคลุกสารเคมีอื่นเพิ่ม เพราะมีผลต่อความต้านทานโรคราน้ำค้างและความงอกของเมล็ดพันธุ์

อีกความเชื่อคือ ปล่อยน้ำท่วมขังแปลงหลังปลูก เกษตรกรบางรายเมื่อปลูกเสร็จจะปล่อยน้ำท่วมแปลงปลูกหรือปล่อยน้ำท่วมร่องปลูก ซึ่งน้ำจะท่วมขังอยู่เป็นเวลานานกว่าจะซึมลงดินหมด เมล็ดจะแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ยาป้องกันโรคราน้ำค้างที่เคลือบเมล็ดอยู่จะละลายหายไปกับน้ำ ทำให้ต้นอ่อนที่งอกขึ้นมาไม่ได้รับยาป้องกันโรคราน้ำค้าง จึงแสดงอาการเป็นโรคให้เห็น

วิธีแก้ไข คือให้น้ำในแปลงก่อนการปลูกและรอให้ดินมีความชื้น เหมาะกับการงอกของเมล็ด จึงทำการปลูก ยาที่เคลือบเมล็ดจะไม่ละลายหลุดไปกับน้ำ ต้นอ่อนที่งอกออกมาจึงได้รับยาอย่างเต็มที่และไม่เป็นโรคราน้ำค้าง

 

การเก็บเกี่ยว

โดยปกติข้าวโพดหวานจะเก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุ ประมาณ 70-75 วัน หลังปลูก แต่ระยะที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยวที่สุดคือ ระยะ 18-20 วัน หลังข้าวโพดออกไหม 50% (ข้าวโพด 100 ต้น มีไหม 50 ต้น) ข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 10 จะเก็บเกี่ยวที่อายุ ประมาณ 68-70 วัน และพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 จะเก็บเกี่ยวที่อายุ ประมาณ 65-68 วัน หลังปลูก

แต่ถ้าปลูกในช่วงอากาศหนาวเย็น อายุการเก็บเกี่ยวอาจจะยืดออกไปอีก

หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วควรรีบส่งโรงงานหรือจำหน่ายโดยเร็ว เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ หากขาดน้ำจะมีผลต่อเมล็ดและน้ำหนักของฝัก

 

พันธุ์ชัยนาท 86-1
พันธุ์ชัยนาท 86-1

ปัญหาและการแก้ไข ที่พบเห็นบ่อยๆ

ปัญหาที่พบบ่อยคือ ความงอก ปกติเมล็ดพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 10 และไฮ-บริกซ์ 3 ได้ผ่านการทดสอบความงอกมาแล้วจึงจำหน่ายสู่เกษตรกร แต่บางครั้งเมล็ดพันธุ์อาจจะค้างอยู่ในร้านค้าเป็นเวลานานหรือเกษตรกรอาจจะซื้อเมล็ดพันธุ์มาเก็บไว้ที่บ้าน และสถานที่เก็บอาจจะไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้เมล็ดพันธุ์มีความงอกลดลง

วิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดคือ ก่อนปลูกทุกครั้งให้ทดสอบความงอกของเมล็ดที่จะปลูกก่อน โดยการสุ่มเมล็ดจากถุง ประมาณ 100 เมล็ด แล้วปลูกลงในกระบะทรายหรือดิน แล้วรดน้ำเพื่อทดสอบความงอก นับต้นที่โผล่พ้นดินในวันที่ 7 ถ้ามีจำนวนต้นเกิน 85 ต้น ถือว่ามีอัตราความงอกที่ใช้ได้ ก็สามารถนำเมล็ดพันธุ์ถุงนั้นไปปลูกได้

เกษตรกรท่านใดสนใจเมล็ดพันธุ์ “ข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 86-1”สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท 17000 โทร. (056) 405-080-1

1406542692