กะเพรา ราชินีแห่งสมุนไพร

หลายมุมของเมืองไทยเรา ที่มีร้านอาหารตามสั่ง มีเมนูมากมายให้เลือก สำหรับคนหิวข้าว แม้ไม่ใช่คนที่หิวโหย เพียงแต่ท้องมันเรียกร้องหาอาหาร เพื่อให้อิ่มท้องมีกำลังในการดิ้นรนไปตามเส้นทางชีวิตของตน มีหลายคนที่เข้าไปถึงร้านอาหารแล้ว ต้องใช้เวลาพักใหญ่ มองดูเมนูอาหาร เลือกกับข้าวที่จะกิน และหลายคนที่เข้าไปถึงร้านข้าวแล้วสั่งทันที เหมือนกับว่าจะเป็นคนคุ้นเคย ประเภทที่สั่งโดยไม่ต้องเลือกเมนูและตัดสินใจ จนพรรคพวกหลายคนเรียกมันว่า สั่งอาหารสิ้นคิด โถ!มันก็เป็นแค่ “กะเพราไก่ไข่ดาว” คิดยากนะนี่

คำว่า “กะเพรา” เป็นชื่อของพืชชนิดหนึ่ง อยู่ในกลุ่มพืชผักสวนครัว มักมีคนเขียนผิดเป็น “กระเพา” มั่งก็ “กระเพรา” ก็เขียนเมนูอาหารให้มันถูกก็แล้วกัน แต่ถึงบางทีแม้เมนูจะเขียนผิด แม่ค้าก็มักจะแย้งกลับว่า แล้วมันใช่อันเดียวกันหรือไม่ สั่งอาหารแล้วมาเสิร์ฟให้เหมือนกับที่ต้องการหรือไม่ ก็ว่ากันตามสะดวก วกกลับมาเรื่องกะเพรา ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชินีแห่งสมุนไพร” เป็นพืชที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ใช้เป็นพืชผักประกอบอาหาร ใช้เป็นส่วนผสานยารักษาโรค เป็นอาหารเสริมบำรุงสุขภาพ และบำรุงธาตุในกาย เป็นยารักษาโรคทั้งภายในภายนอก มีสารเบต้าแคโรทีนสูงมาก ช่วยต้านทานอนุมูลอิสระ ตัวก่อปัญหามะเร็ง เป็นยาอายุวัฒนา และเป็นอะไรอีกสารพัดอย่าง

กะเพรา มีชื่อสามัญว่า Sweet Basil หรือ Holy Basil หรือ Sacred Basil

ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum sanctum Linn.

วงศ์ LABIATAE

เป็นพืชล้มลุก ต้นเป็นพุ่มสูง 30-60 เซนติเมตร ลำต้นโดยเฉพาะส่วนโคนต้น แข็ง ต้นสีเขียวอมเทา ยอดอ่อนมีขนนุ่มสีขาวคลุม ใบรูปไข่กลมรี กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร ใบออกตรงข้ามกัน ปลายใบแหลม บางช่วงปลายใบมน โคนใบแหลม ขอบใบจัก ดอกสีขาวแกมม่วง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกัน กลีบดอกแยกเป็น 2 ปาก 4 แฉก ผลเป็นผลแห้งมีผลย่อยภายใน 4 ผล ติดเป็นช่อยาวตามก้านดอก มีเมล็ดกลมสีดำอยู่ภายใน ทุกส่วนของต้นกะเพรามีกลิ่นหอม กะเพรามี 2 ชนิด คือ กะเพราขาว และกะเพราแดง เรียกตามสีที่เห็น ตามลำต้น กิ่งก้าน ใบดอก ส่วนใหญ่ใช้กะเพราขาวทำอาหาร กะเพราแดงเป็นยา กลิ่นฉุนกว่ากัน อร่อยพอๆ กัน

การปลูก ใช้เมล็ดโรยบนแปลงที่ทำไว้ หาฟางหรือเศษหญ้าคลุมบางๆ รดน้ำให้ชุ่ม ประมาณ 20 วัน แยกปลูกได้ ปลูกระยะห่าง 25×50 เซนติเมตร บำรุงปุ๋ยยูเรียให้ใบดกบ้าง และเมื่อต้นเริ่มแก่ ต้องหมั่นตัดช่อดอกทิ้ง ไม่ค่อยมีศัตรูรบกวน ที่เคยเห็นจะมีด้วงหมัดผักลงบ้าง แต่ก็ทำอะไรกะเพราไม่ค่อยได้ หลังจากย้ายลงปลูก รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย แค่ 30 วัน เริ่มเด็ดยอดและใบอ่อนไปใช้ประโยชน์ได้แล้ว ระยะแรกๆ ใบกะเพราจะสมบูรณ์ ใบใหญ่ พอเริ่มยอดชุดใหม่ หรือออกดอกอ่อน จะเริ่มเล็กลง แต่มียอดมากขึ้น ยอดเดิม 1 ยอด เด็ดแล้วแตกยอดใหม่มากกว่า 2 ยอด ขยันเด็ดก็ยิ่งแตกยอด มีนักเกษตรเคยทำข้อมูลไว้ว่า ผลผลิตมากถึง 1,600 กิโลกรัม ต่อไร่ ถ้าเด็ดยอดเหมาขาย เอาแค่กิโลกรัมละ 10 บาท หักต้นทุน ไร่ละ 4,500 บาท ได้กำไรเป็นหมื่นเชียวนะ

กะเพรา เป็นยาสารพัด ใบใช้เป็นยาบำรุงธาตุไฟ ขับลม แก้ปวดท้องอุจจาระ แก้เป็นลม จุกเสียด คลื่นเหียน อาเจียน บิด หมอพื้นบ้านใช้กวาดคอเด็ก ลดการไอ เม็ดตุ่มในคอ ใบบดผสมน้ำผึ้ง หยอดเด็กแรกเกิด เพื่อถ่ายขี้เทา ตำบีบน้ำผสมมหาหิงคุ์ ทารอบสะดือเด็ก แก้เด็กปวดท้อง ใบและกิ่งสด ใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยโดยการต้มกลั่น ได้น้ำมันหอมระเหย เป็นสารตัวตั้งทำยาธาตุ ขับลม แก้จุกเสียด ปวดท้อง น้ำมันหอมระเหย และสารยูจินอล (Eugenal) ช่วยขับน้ำดี ย่อยไขมัน ลดอาการจุกเสียด ท้องมวน โรคผิวหนัง ลมพิษ เป็นหูด ใบและราก บดแห้งชงน้ำดื่ม แก้ธาตุพิการ ยอดสดต้มน้ำดื่ม แก้ปวดท้องท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เมล็ดแช่น้ำให้พองเป็นเมือก ใช้พอกตาเมื่อผงหรือฝุ่นละอองเข้าตา ขจัดผงฝุ่นที่เข้าตาไม่ให้ตาช้ำ รากใช้ต้มน้ำดื่มแก้โรคธาตุพิการ น้ำสกัดจากต้น กิ่ง และทุกส่วน ช่วยการบีบตัวของลำไส้ รักษาแผลในกระเพาะ ขับน้ำดี ช่วยย่อย และลดไขมันที่ทำให้เกิดโรคอ้วน รักษาไข้หวัด หอบหืด หลอดลมอักเสบ เครียด ต้านพิษงู แมงป่อง ไล่ยุง และมีการนำมาขยี้เอาสารยูจินอล ใช้ล่อแมลงวันทอง ในสวนผลไม้ได้เป็นอย่างดีด้วย

ส่วนที่ใช้ประกอบอาหารคือ ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน ส่วนใหญ่จะใช้เป็นผัก ผัดกับวัตถุดิบอื่น เช่น ไก่ หมู เนื้อ กุ้ง ปลาหมึก แกงป่า หรือใส่โรยหน้าชามต้มยำ มีคุณค่าทางอาหารสูง ประกอบด้วย เบต้าแคโรทีน 7,857 ไมโครกรัม วิตามินซี 22 มิลลิกรัม และมีสารอาหารอื่นๆ อีกมาก เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ เป็นต้น กะเพรา เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

หลายพื้นที่อาจจะเรียกชื่อไม่เหมือนกัน เช่น ภาคอีสาน เรียก “อีตู่ไทย”, “อีตู่ข้า” แถบแม่ฮ่องสอน เรียก “อิ่มคิมหลำ”, “ห่อกวอซู”, “ห่อตูปลู” เชียงใหม่บางพื้นที่ เรียกปนกับโหระพา แมงลัก กะเพรา ว่า “กอมก้อ” หรือ “กอมก้อดง” แต่ที่รู้จักกันดีอยู่ทั่วไป และแน่นอนก็คือ “กะเพรา…ราชินีแห่งสมุนไพร (Queen of Herbs)” นั่นแล