อุตรดิตถ์บูมปลูก “มะม่วงหิมพานต์” ปั้นแบรนด์ “ควีน” โปรโมตแหล่งผลิต

อุตรดิตถ์ส่งเสริมเกษตรกรปลูกมะม่วงหิมพานต์ 2.4 หมื่นไร่ รายได้พุ่ง 249 ล้านบาท ผู้ว่าฯชูแบรนด์ “ควีน” โปรโมตแหล่งผลิตแนวเขื่อนสิริกิติ์ อ.ท่าปลา ด้านวิสาหกิจชุมชนเผยความต้องการสูง ดันราคาผลสดพุ่งเท่าตัว พ่อค้าต่างถิ่นรุกซื้อถึงที่ ชี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

นายอำนาจ ปาลาศ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่เพียงแต่ทุเรียนเท่านั้นที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์ ยังมีเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัด โดยมีพื้นที่ปลูกมะม่วงหิมพานต์ทั้งหมด 24,728 ไร่ มีพื้นที่ที่สามารถให้ผลผลิต 16,000-17,000 ไร่ หรือคิดเป็น 60-70% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งจะได้ผลผลิตไร่ละ 423 กิโลกรัม (กก.) หรือประมาณ 7,000 ตัน/ปี โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกกว่า 600 คน ปัจจุบันพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอท่าปลา โดยเฉพาะบริเวณเขื่อนสิริกิติ์ และขณะนี้เริ่มมีการขยายไปที่อำเภอน้ำปาด ฟากท่า และบ้านโคก โดยพืชชนิดนี้ทนต่อสถานการณ์แล้งได้ดี ดังนั้นในช่วงหน้าแล้งจึงไม่ได้รับผลกระทบ โดยจะใช้ระยะเวลาในการปลูก 3 ปี จึงจะได้ผลผลิต

สำหรับปี 2559 ที่ผ่านมา การจำหน่ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์สร้างรายได้ให้จังหวัดกว่า 249 ล้านบาท โดยผลผลิตสดจำหน่ายในราคา 35 บาท/กก. ส่วนเม็ดที่กะเทาะเปลือกแล้ว แต่ยังไม่สามารถรับประทานได้ ต้องนำไปแปรรูปอีกครั้งหนึ่ง ราคาอยู่ที่ 150-200 บาท/กก.

ทั้งนี้ ผลผลิตที่ผ่านการแปรรูปเป็นสินค้าหลากหลายรูปแบบ นอกจากการนำไปทอด อบน้ำเกลือแล้ว ยังได้พัฒนาไปสู่เม็ดมะม่วงหิมพานต์รสชาติต่าง ๆ เช่น เกสรผึ้ง ต้มยำ ปาปิก้า บาร์บีคิว โนริสาหร่าย เป็นต้น จะส่งจำหน่ายตามร้านค้าชุมชน ร้านจำหน่ายสินค้าโอท็อปของจังหวัด และปัจจุบันมีเอกชนเข้ามาติดต่อซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์จากเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ เพื่อนำไปจำหน่ายต่อทั้งในและต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจา

ฮอตฮิต – จังหวัดอุตรดิตถ์มีพื้นที่ปลูกมะม่วงหิมพานต์ 24,000 ไร่ สร้างรายได้ให้จังหวัดกว่า249 ล้านบาท ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มขยายพื้นที่ปลูกอีก 3 อำเภอ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตั้งแบรนด์ผลิตภัณฑ์เม็ดมะม่วงหิมพานต์ชื่อว่า ควีน (QUEEN) หรือราชินีเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ให้เป็นแบรนด์กลาง เนื่องจากปัจจุบันการจำหน่ายสินค้ามีหลากหลายแบรนด์ ซึ่งยังไม่มีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ทั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้ซื้อถึงแหล่งผลิต โดยคำว่า ควีน นั้นหมายถึง เขื่อนสิริกิติ์ ที่ตั้งอยู่ที่ อ.ท่าปลา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกขนาดใหญ่

ด้านนางวันทา ผ่านคำ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านหาดไก่ต้อย ต.หาดล้า อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนมีสมาชิก 63 คน โดยมารวมตัวกันแปรรูปที่วิสาหกิจกว่า 30 คน โดยสมาชิกบางรายก็เป็นเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงหิมพานต์ด้วย โดยผลผลิตจะออกช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมเท่านั้นทำให้ผู้ประกอบการแปรรูปจะต้องตุนผลผลิตไว้ โดยผลผลิตสด 5 กก.จะสามารถแปรรูปเป็นเม็ดมะม่วงหิมพานต์พร้อมทานได้เพียง 1 กก. ประกอบกับการแปรรูปมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องใช้ระยะเวลา จึงทำให้มีราคาสูง โดยเม็ดมะม่วงหิมพานต์พร้อมรับประทาน ราคาอยู่ที่ 300-400 บาท/กก.

ทั้งนี้ ราคาผลสดที่รับซื้อเพื่อมาแปรรูปนั้น ในปี 2559 ราคาอยู่ที่ 33-35 บาท/กก. แต่ในปี 2560 ราคาสูงขึ้นเกือบเท่าตัว อยู่ที่ 60 บาท/กก. เนื่องจากปริมาณผลผลิตได้เท่าเดิม แต่ความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันเริ่มมีพ่อค้านอกพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดน่าน มารับซื้อผลสดมากขึ้น ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายมีราคาตั้งแต่ 25-400 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยทำงาน โดยจัดจำหน่ายในร้านค้าและห้างสรรพสินค้าในจังหวัด

อย่างไรก็ตามในปี 2559 ที่ผ่านมา วิสาหกิจสามารถแปรรูปจำหน่ายได้ทั้งหมด 30-40 ตัน/ปี ซึ่งในปี 2558 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านหาดไก่ต้อย มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กว่า 12 ล้านบาท สร้างรายได้ให้สมาชิกรายละ 7,000-8,000 บาท/เดือน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์