เกษตรกรนครศรีธรรมราช สร้างกลุ่มผลิตทุเรียนคุณภาพ ประหยัดต้นทุน และทำตลาดมีผลกำไรงาม

คุณณัฐวัตร นวลรอด นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลว่า การทำเกษตรหลักๆ ในพื้นที่นี้ในสมัยก่อนมีการปลูกพืชหลากหลายชนิดรวมกัน ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น คือสวนยางพารา และมีเกษตรกรบางส่วนได้ปรับเปลี่ยนมาทำสวนทุเรียน โดยการทำทุเรียนของเกษตรกรในพื้นที่จะเน้นทำผลผลิตนอกฤดู จึงส่งผลให้ในเรื่องของราคาได้ดีตามไปด้วย

คุณณัฐวัตร นวลรอด นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอท่าศาลา

“พอเกษตรกรหลายๆ สวน ได้มีการทำทุเรียนนอกฤดู ส่งผลให้เราขายมีผลกำไรค่อนข้างดี ทีนี้เมื่อเห็นว่าปริมาณผลผลิตยังมีไม่มากพอ จึงได้มีการรวมกลุ่มเข้ามาช่วย การทำทุเรียนแปลงใหญ่ โดยรวบรวมชาวสวนรายย่อยที่ทำทุเรียนในพื้นที่ไม่มาก มาทำเป็นทุเรียนแปลงใหญ่ โดยกำหนดแบบแผนของการผลิตให้ทุกคนภายในสวน ต้องผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน GAP เพื่อให้สินค้าเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน และเป็นที่ต้องการของตลาดที่เข้ามารับซื้อผลผลิตทุเรียนจากกลุ่ม” คุณณัฐวัตร กล่าว

คุณพงค์พัฒน์ เทพทอง

คุณพงค์พัฒน์ เทพทอง อยู่บ้านเลขที่ 61/2 หมู่ที่ 2 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนจนประสบผลสำเร็จ สินค้าได้รับมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ส่งผลให้ผลผลิตที่ออกจากสวนจำหน่ายได้หมดทุกปี พร้อมทั้งมีการรวมกลุ่มทำทุเรียนแปลงใหญ่ที่เข้มแข็ง ส่งผลให้การทำสวนทุเรียนนอกจากประหยัดต้นทุนการผลิตได้แล้ว ยังสามารถกำหนดมาตรฐานการผลิตทุเรียนไปในทิศทางเดียวกันในแบบที่มีมาตรฐาน GAP

พื้นที่สวน

ปรับเปลี่ยนสวนยางพารา

มาทำสวนทุเรียน

คุณพงค์พัฒน์ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนอาชีพเริ่มแรกเลยคือ การทำสวนยางพารา เพื่อทำรายได้ ต่อมาเริ่มมองว่าการทำสวนยางพาราไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของเวลา ซึ่งเขาเองไม่อยากออกไปกรีดน้ำยางทุกวัน เมื่อ ปี 2535 สวนยางพาราโดนพายุจนเกิดความเสียหาย จึงได้ถือโอกาสนั้นปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนมาทดลองปลูกทุเรียน ในพื้นที่ 12 ไร่ และเมื่อมีผลผลิตสามารถจำหน่ายได้ จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนยางพาราทั้งหมดมาทำสวนทุเรียน

ผลผลิตเต็มต้น

“พอทุเรียนที่ปลูกชุดแรกขายได้ราคา เราก็เลยมั่นใจว่าจะไม่ทำแล้วสวนยางพารา จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำสวนทุเรียนแทน ตอนนี้ก็มีพื้นที่ทำสวนทุเรียนอยู่ประมาณ 60 กว่าไร่ โดยสายพันธุ์หลักๆ ก็จะใช้พันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ โดยปลูกพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก และพัฒนามาทำเป็นออกผลผลิตตลอดทั้งปี ตอนนี้ก็มาหยุดอยู่ที่การทำทุเรียนนอกฤดู เพราะจะได้ราคาขายที่ดีกว่า” คุณพงค์พัฒน์ บอก

ผลผลิตสวยได้คุณภาพ

เน้นผลิตต้นพันธุ์เอง

เพื่อให้มีต้นคุณภาพใช้ในสวน

การปลูกทุเรียนภายในสวนเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพนั้น คุณพงค์พัฒน์ บอกว่า จะใช้ต้นพันธุ์ที่ผลิตเองกับมือมาปลูกลงในพื้นที่ โดยให้ระยะห่างระหว่างต้นและแถวอยู่ที่ 10×12 เมตร ช่วงแรกที่นำต้นกล้ามาปลูกลงใหม่ๆ จะดูแลด้วยการใส่ปุ๋ย ฉีดยา นานๆ ครั้ง ดูแลเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนต้นทุเรียนมีอายุได้ 4 ปี จะเริ่มให้ผลผลิตและเมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 ก็จะเริ่มทำสารเพื่อผลิตเป็นทุเรียนนอกฤดู

การโยงผลทุเรียน

“การทำทุเรียนนอกฤดู พอเราเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้วในเดือนธันวาคม ก็จะเริ่มตัดแต่งกิ่งในช่วงเดือนมกราคม จากนั้นก็จะใส่ปุ๋ยเข้าไปช่วยเพื่อให้เกิดยอดใหม่ เมื่อเห็นว่าต้นทุเรียนเริ่มมียอดประมาณ 3 ยอด จะทำสารทันที โดยใช้สารแพคโคลบิวทราโซลชนิดน้ำ ความเข้มข้น 1,000-1,500 ppm (สารชนิด 10% อัตราส่วน 200-300 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือ สารชนิด 25% อัตราส่วน 80-120 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร) ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุเรียนที่มียอดได้ 3 ชุดแล้ว หลังจากฉีดพ่นสาร 15 วัน ต้นทุเรียนก็จะเริ่มมีตาดอกออกมาให้เห็น จากนั้นก็ดูแลต่อไปเรื่อยๆ อีก 7 วัน ด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยและฮอร์โมนเข้ามาช่วย” คุณพงค์พัฒน์ บอก

เนื้อสวยน่ารับประทาน

หลังจากดอกที่บานมีความสมบูรณ์ดีแล้ว ทุเรียนแต่ละต้นก็จะเริ่มมีผลติดมาให้เห็น การดูแลผลทุเรียนในระยะนี้ คุณพงค์พัฒน์ บอกว่า จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดในเรื่องของการให้น้ำมีความสำคัญ ต้องให้น้ำทุกวัน พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยทุก 15 วันครั้ง ดูแลต่อไปอีก 4 เดือน ก็จะได้ผลผลิตที่พร้อมเก็บเกี่ยวได้

ส่วนในเรื่องของโรคและแมลงนั้น คุณพงค์พัฒน์ บอกว่า จะมีแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน หนอนเตาะ ไรแดง ส่วนโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคดอกเน่า โรครากเน่าโคนเน่า โรคดอกแห้ง โรคผลเน่า ป้องกันด้วยการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดอย่างถูกต้องทั้งชนิด ปริมาณ และช่วงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสารตกค้างที่ผลผลิต

การรวมกลุ่ม

ช่วยทำตลาดได้กว้างขึ้น

ในเรื่องของการจำหน่ายทุเรียนภายในสวนนั้น คุณพงค์พัฒน์ เล่าว่า ในช่วงแรกจะเน้นแบบจำหน่ายกันเองแบบไม่ได้มีการรวมกลุ่ม ทำให้โดนพ่อค้าคนกลางเข้ามาตีราคา ทำให้ผลผลิตมีราคาถูก ต่อมาประมาณ ปี 2558 ได้เกิดการรวมกลุ่ม จึงทำให้สมาชิกทุกคนดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามที่กำหนด จึงทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ลดลง ผลผลิตมีมาตรฐาน และที่สำคัญในเรื่องของราคาสามารถต่อรองการทำตลาดได้ดี

“ผลผลิตที่สวนผม ก็จะได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 3 ตัน ราคาขายแต่ละรอบก็อยู่ที่ 120-160 บาท ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่ผลิตมา ราคาขายก็ยังไม่ต่ำกว่า 120 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งพ่อค้าก็จะเข้ามาเดินดูผลผลิตภายในสวน เพื่อประมูลผลผลิตภายในสวน โดยการขายแต่ละรอบเราก็จะคุยกันภายในกลุ่มในเรื่องของการจัดการ ว่าอย่าให้ผลผลิตออกพร้อมกันมากเกินไป ให้วางแผนว่าของสมาชิกคนไหนจะออกผลผลิตช่วงไหน ก็จะทำให้มีผลผลิตขายได้ต่อเนื่อง เพื่อกระจายความเสี่ยงออกไป โดยไม่ให้มีผลผลิตมากเกินไป” คุณพงค์พัฒน์ บอก

จากการเป็นผู้ผลิตทุเรียนและส่งจำหน่ายทุเรียนมาตรฐาน คุณพงค์พัฒน์ แนะช่วงท้ายว่า การรวมกลุ่มจึงนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อาชีพเป็นเกษตรกรสวนทุเรียนมีความเข้มแข็ง อย่างน้อยไม่ว่าจะติดต่อหรือดำเนินการในเรื่องใดสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต่อรองทางการตลาดได้อย่างดี โดยไม่ถูกเอาเปรียบในเรื่องของราคาอีกด้วย

สนใจศึกษาดูงานการผลิตทุเรียนคุณภาพ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณพงค์พัฒน์ เทพทอง หมายเลขโทรศัพท์ (084) 851-5842