ดอกขจร หอมกระจาย ทั่วสวนป่า

ดอกขจร หรือ ดอกสลิด (Cowslip creeper)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Telosma minor Craib.
วงศ์ ASCLEPIADACEAE

หน้าร้อนปีนี้กว่าจะคืบคลานผ่านไปได้ สิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดเกือบโดนแดดแผดเผา…โชคดีที่หยาดน้ำจากฟากฟ้าได้รินรดพรมให้โลกคลายร้อนทันท่วงที พร้อมกันนั้นดอกไม้ป่าก็ผุดดอกออกมาชูช่อกันสลอน สิ่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วดินแดนอันเงียบสงบ

…เจ้าช่อดอกไม้เอย เจ้าดอกขจร
นกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำแล้วจะนอนที่ไหนเอย
เจ้าช่อดอกไม้เอ๋ย เจ้าดอกขจร
ฉันร่อนเร่พเนจร ไม่รู้จะนอนไหนเอย…

(บทเพลงนกขมิ้น)

ดอกขจรน้อยๆ

ดอกขจร หรือ ดอกสลิด เป็นพืชที่คุ้นเคยที่เกิดขึ้นตามป่า เป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยเราอีกชนิดหนึ่ง และเป็นพืชทางเลือกใหม่ของเกษตรกร “สลิด” เป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียกกันทั่วไป แต่ชื่อ “ขจร” เป็นชื่อทางการ หรือชื่อใช้ในการเขียน เพราะถือว่าเป็นคำสุภาพ
ยอดอ่อนและผลอ่อนของดอกขจร ใช้กินเป็นผักได้ ทั้งเป็นผักจิ้ม ผัด หรือแกง

ปัจจุบัน ยังพบว่ามีการขายในตลาดผักทั่วไป แสดงว่าคนไทยยังนิยมกินดอกขจรกันอยู่เช่นในอดีต ดอกขจรปลูกง่าย แข็งแรง ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ชอบแดดจัด จึงใช้ปลูกเลื้อยคลุมนั่งร้าน หรือตามรั้ว มักออกดอกช่วงฤดูฝน ออกดอกติดต่อกันได้นานนับเดือนหากต้นสมบูรณ์ นอกจากจะพบปลูกอยู่ตามสวนและบริเวณบ้านแล้ว ยังพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในป่าดิบแล้ง และป่าละเมาะอีกด้วย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ขจร (Cowslip creeper) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Telosma minor Craib อยู่ในวงศ์ ASCLEPIADACEAE มีชื่อพื้นเมืองว่า สลิด ผักสลิด สลิดป่า กะจอน ขะจอน ผักขิก
รส ดอก มีรสเย็นขมหอม ราก มีรสเย็นเบื่อ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ขจร (Cowslip creeper) เป็นไม้เลื้อยเถาเล็กแตกยอดจำนวนมาก ทุกส่วนของลำต้นมีน้ำยางขาว ใบเป็นใบเดี่ยว

กิ่งก้านต้นขจร

ใบ ใบบางผิวเรียบ สีเขียว กว้างและยาว 6-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว ใบออกเป็นคู่ๆ เป็นรูปหัวใจ ออกตรงข้อ แต่ละข้อห่างกันประมาณ 6-10 นิ้ว

ดอก ออกเป็นช่อตามข้อ ก้านดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบดอกยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีกลีบ 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยก 5 แฉก แต่ละช่อมีดอก 5-20 ดอก ดอกตูมมีสีเขียวครีม เมื่อบานกลีบด้านในเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และเข้มขึ้นตามอายุ ดอกบานไม่พร้อมกัน ดอกอ่อนสีเขียว เมื่อบานเริ่มหอมตั้งแต่ช่วงบ่าย ดอกออกมากตั้งแต่ต้นฤดูหนาว ดอกสลิดมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย ส่งกลิ่นหอมตอนเย็นและค่ำ

ผล มีลักษณะเป็นฝักกลมยาวคล้ายผลนุ่น เมื่อแก่ผลแตก เมล็ดข้างในปลิวไปตามลม เพราะมีเส้นใยติดอยู่ด้วย เป็นวิธีแพร่พันธุ์ให้ไปได้ไกลๆ

วิธีการปลูกและดูแลรักษา

ขจร เป็นไม้ที่ขึ้นได้ดีในดินทุกสภาพ แต่ถ้าจะให้ดีควรปลูกในดินร่วนปนทราย หรือดินที่มีความร่วนซุยมากๆ ขจรเป็นไม้ที่ชอบแดดจัด ไม่ต้องการน้ำมากนัก และทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี

ต้นขจรที่ปลูกกันอยู่ในบ้านเรามีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ “ขจรพันธุ์พื้นบ้าน” ซึ่งดอกจะมีขนาดเล็ก ออกดอกเฉพาะช่วงหน้าฝน และอีกพันธุ์ก็คือ “ขจรพันธุ์ดอก” ซึ่งได้มาจากการคัดเลือกสายพันธุ์พื้นบ้าน จนได้ขจรพันธุ์ที่มีดอกใหญ่ ออกดอกดก

ขจรในมือนาง

การปลูกก็แสนง่าย หลังจากไถพรวน ตากดินไว้ประมาณ 15 วัน ยกร่องปลูกระยะห่างระหว่างต้นคือ 1×1 เมตร โดยพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกได้ 1,200 ต้น หลุมละ 3 ต้น เมื่อกล้าอายุ 1 เดือน ก็ทำค้างให้มัน ใช้ไม้ปัก มีตาข่ายและลวด ดอกขจรขึ้นได้ทุกสภาพดิน แต่น้ำต้องไม่ท่วมขัง ให้น้ำสามวันครั้งได้ ศัตรูของดอกขจรคือ เพลี้ย ที่มารบกวน

หลังปลูก 3 เดือน ก็จะเริ่มติดดอก พอติดดอกก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้ว เก็บได้ประมาณสองวันสามวันครั้ง หรือไม่ก็วันเว้นวัน ขึ้นอยู่กับสภาพดิน ราคาขายหน้าร้อน หรือหน้าฝนก็จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ถึง 80 บาท ต่อกิโลกรัม แต่หน้าหนาวสนนราคาอยู่ที่ 150 ถึง 200 บาท เพราะติดดอกน้อย

ประโยชน์ทางอาหาร

ยอดอ่อน ดอก และผลอ่อน กินสดหรือลวกให้สุกกินร่วมกับน้ำพริก ดอกนำไปปรุงอาหาร เช่น ผัด แกงจืด แกงส้ม ผักขจรเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีฟอสฟอรัส แคลเซียม และวิตามินสูง ดอกขจรในปริมาณ 100 กรัม มีวิตามินเอ มากถึง 3,150 I.U. วิตามินซี 45 มิลลิกรัม แคลเซียม 70 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 90 มิลลิกรัม

ดอกที่เก็บขาย

สรรพคุณทางยา

นอกจากเป็นอาหารแล้ว แพทย์แผนไทยยังนำดอกขจรมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคอีกด้วย ส่วนที่ใช้เป็นยาคือ ราก และดอก

ราก มีสรรพคุณทำให้อาเจียน ถอนพิษเบื่อเมา ดับพิษ ทำให้รู้รสอาหาร

ดอก รสเย็น กลิ่นหอม บำรุงหัวใจ บำรุงตับ บำรุงปอด บำรุงโลหิต แก้เสมหะ

ยอดอ่อน ลูกอ่อน บำรุงธาตุ บำรุงตับ ปอด แก้เสมหะเป็นพิษ

เราจะเห็นข่าวออกกันทั่วไปว่า เกษตรกรสามารถทำรายได้กับการปลูกดอกขจรกันมากมาย ตัวอย่างเช่น เกษตรกรสาวสวยวัย 23 ปี จังหวัดมหาสารคาม ปลูกดอกขจรขายรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท ส่วนเกษตรกรบางรายก็นำดอกขจรมาปลูกในการทำสวนผสมผสานตามอย่างพ่อหลวง พลิกดินทำเงินเดือนละ 30,000-50,000 บาท แค่ส่งขายดอก กิโลกรัม 60-100 บาท เท่านั้น โดยเฉลี่ย 1-2 ไร่ สร้างรายได้ 15,000-30,000 บาท ต่อ 1 เดือน

เถาดอกขจร

ปลูกเป็นไม้ประดับ

นอกจากจะปลูกเพื่อไว้เป็นอาหารแล้ว ยังมีผู้นำผักขจรมาปลูกเป็นไม้ประดับเถาเลื้อย มีดอกสวยงาม และส่งกลิ่นหอมในเวลาเช้าและกลางคืนอีกด้วย ดังนั้น การขาย “กิ่งพันธุ์” และ “ต้นพันธุ์” ก็เป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย กิ่งพันธุ์คือกิ่งที่ตัดให้ลูกค้าไปชำเอง ราคากิ่งละ 4 บาท ส่วนต้นพันธุ์คือต้นที่นำมาชำมีใบและรากแล้ว จะขายต้นละ 10 บาท ถ้านับรายได้จากการขายกิ่งพันธุ์ด้วยก็มากโขเชียวล่ะ

ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะเรียกพืชชนิดนี้ว่า สลิด หรือ ขจร ก็ตาม เมื่อเอ่ยชื่อนี้ก็ชี้ชวนให้นึกถึงไข่เจียวดอกขจรกับน้ำพริกกะปิ และเมื่อนึกถึงกลิ่นหอมเปรี้ยวๆ ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ดอมดม ทำให้เกิดความคิดอยากสกัดทำน้ำมันหอมระเหยให้ฟุ้งกระจายตามชื่อขึ้นมาในหัวสมองทันที…

พวงดอกขจร

เอกสารอ้างอิง

เกศศิรินทร์ แสงมณี และ ปริยานุช จุลกะ. 2553. อิทธิพลของระยะปลูกและเวลาเก็บเกี่ยวต่อผลผลิตและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของผักขจร. ว. วิทย์. กษ. 41(3/1) (พิเศษ) : 137-140

สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน. 2538. ผักพื้นบ้าน. (ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม น. 120. องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. กรุงเทพฯ.)