ทวี มาสขาว ผอ.สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท

 “พื้นที่ภาคกลางน้ำดี อยู่ใกล้ตลาด…ใช้การตลาดนำหน้าการผลิต”

การเกษตรในภาคกลางมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ ประมง ท่องเที่ยวเชิงเกษตร และอื่นๆ ภูมิภาคนี้สามารถปลูกพืชอายุสั้น เช่น ข้าว (โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรัง) พืชไร่ พืชผักมากกว่า 1 ครั้งในรอบปี โดยจังหวัดที่มีความถี่ของการใช้พื้นที่เพื่อเพาะปลูกค่อนข้างสูงคือ ชัยนาท สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง

ส่วนการทำการเกษตรแบบผสมผสานนั้นสิ่งที่จะต้องมีและพร้อมมากที่สุดคือ ที่ดิน ทุน แรงงาน ที่เหมาะสมกับการทำการเกษตร จะต้องมีความอดทนสูง มีความขยัน จึงจะสามารถที่จะประสบความสำเร็จในการวางแผนและการจัดการทรัพยากรต่างๆ ให้ดีและมีประสิทธิภาพ แม้ว่าธุรกิจเกษตรพืชไร่ในภาคกลางจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความน่าสนใจ แต่ผู้ประกอบการควรที่จะศึกษาถึง จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจลงทุนและการวางแผนต่อยอดธุรกิจต่อไปในระยะยาว

คุณทวี มาสขาว

กองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ คุณทวี มาสขาว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง 9 จังหวัด

น่าสนใจไม่น้อย ลองติดตามดูค่ะ

ผลผลิตข้าว 3 ล้านตันข้าวเปลือก

จะเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวพื้นนุ่ม กข 79

“ปัจจุบันรับผิดชอบอยู่ 9 จังหวัด โซนภาคกลางรวมๆ แล้วเรามีพื้นที่ปลูกข้าวอยู่ประมาณ 3 ล้านกว่าไร่ แต่ว่าข้อเท็จจริงที่ภาคกลางนั้นปลูกข้าวหรือทำนาประมาณ 2 ฤดูเศษๆ เพราะฉะนั้น ในพื้นที่ 3 ล้านไร่ก็จะมีผลผลิตรวมๆ ออกมาประมาณ 6 ล้านไร่รวมนาปรังด้วย ก็จะมี 3 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งใน 3 ล้านตันข้าวเปลือกนี้ แนวทางการพัฒนาทางด้านนี้ โดยเฉพาะข้าวเราจะปรับอยู่ 2-3 เรื่อง โดยเรื่องที่หนึ่งคือพันธุ์ ซึ่งตอนนี้มีพันธุ์ที่เป็นข้าวพื้นนุ่ม กข 79 ซึ่งกรมการข้าวเขารับรองแล้ว จะเป็นข้าวพื้นนุ่มซึ่งไม่แข็งเหมือนชัยนาท เพราะฉะนั้น ก็จะเพิ่มปริมาณตัวนี้ซึ่งเกษตรกรทดลองปลูกแล้วมีความนิยมค่อนข้างมาก ก็จะทำการขยายพันธุ์ กข 79 ให้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน เมื่อได้พันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูงและตลาดต้องการแล้ว เราก็จะดูเรื่องการลดต้นทุนผลผลิตลงมาเน้นเรื่องการลดการเผาด้วย เน้นการย่อยสลายฟางข้าวให้เป็นปุ๋ยทำให้ต้นทุนของปุ๋ยนั้นลดลง ในขณะเดียวกัน ก็จะลดมลพิษ หมอกควันไปด้วย ก็จะมาเพิ่มเติมในส่วนเหล่านี้”

“ส่วนในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าของข้าวก็จะมีการแปรรูป ในขณะเดียวกัน ก็จะมีเรื่องของการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ โดยให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้ามาทำ มีการขายเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องในเขตภาคกลางก็จะมาพัฒนาพวกนี้ ส่วนข้าวก็จะเน้นในเรื่องของการแปรรูปด้วย เมื่อลดต้นทุนเพิ่มมูลค่าก็ต้องทำเข้าไป เพราะฉะนั้น ก็จะมีโรงสีแปรรูปของกลุ่มซึ่งเป็นองค์กรของชุมชนเขาเอง ก็จะเพิ่มพวกนี้เข้าไป ในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ไม่กระทบต่อโรงสีขนาดใหญ่ของเอกชน”

“ข้าวของภาคกลางนั้นมีข้อดีก็คือมีผลผลิตข้าวออกอยู่ทุกเดือน มีปลูกทุกเดือน มีออกผลผลิตทุกเดือน ฉะนั้น การกระจายตัวของผลผลิตก็จะเป็นสิ่งที่ดีทำให้โรงสีสามารถที่จะแปรรูปได้ทัน ไม่กระจุกหรือถูกกดราคาเพราะว่าผลผลิตมันล้น ถือเป็นจุดเด่นเรื่องข้าวของภาคกลาง โดยสรุปก็คือจะพัฒนาใน 3-4 ประเด็นนี้ ทั้งเรื่องของพันธุ์ ซึ่ง กข 79 ก็จะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็จะให้พี่น้องเกษตรกรลดต้นทุนและทำการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยดูเรื่องของฟางข้าว ลดต้นทุนเรื่องปุ๋ยตรงนี้ลง แล้วก็จะไปพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการ เมล็ดพันธุ์ข้าวปีๆ หนึ่งมีเยอะมาก เพราะว่าทำ 2 รอบ มีการเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป โดยการสีแล้วก็ส่งตลาดโดยตรงด้วย” คุณทวี พูดถึงข้าวในภาคกลาง

พืชที่สำคัญ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย

ผลิตดูความต้องการของตลาด

คุณทวีพูดถึงพืชเศรษฐกิจ

“ในส่วนของพืชไร่ก็จะมีพืชสำคัญทางเศรษฐกิจอยู่ 2-3 ตัวนะครับ ตัวแรกคือมันสำปะหลัง ซึ่งมันสำปะหลังเรามีทั้งหมด 800,000 ไร่ ใน 800,000 ไร่ผลผลิตที่นำมาคิดครึ่งหนึ่งก็จะมีประมาณ 400,000 ตันของมันสำปะหลัง ปลูกอันดับหนึ่งก็จะเป็นจังหวัดลพบุรี อันดับสองจังหวัดชัยนาท อันดับสามเป็นจังหวัดสระบุรี ส่วนอันดับที่สี่ที่ห้าก็มีเพียงเล็กน้อย ในสามจังหวัดนี้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักเราก็จะพัฒนา โดยเฉพาะทุกวันนี้จะไม่ให้กระทบเรื่องโรคใบด่างซึ่งเป็นเหมือนเชื้อเอดส์เชื้ออะไรก็ตามที่พี่น้องเกษตรเรียกต่อการเกิดโรคในมันสำปะหลัง เพราะฉะนั้น เราก็จะป้องกันเรื่องโรคพวกนี้ไม่ให้เข้ามา มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดไม่ให้นำท่อนพันธุ์เป็นเชื้อสาเหตุของโรคนี้เข้ามา”

“ขณะเดียวกัน ก็จะมีการพัฒนาเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น เพราะตลาดมันสำปะหลังนั้นมีราคาการรับซื้อที่ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา ก็จะพัฒนาเรื่องผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ให้พี่น้องเกษตรกรมีความรู้เรื่องการพัฒนาคุณภาพมันสำปะหลังให้ดีขึ้น ให้มีคุณภาพมีเปอร์เซ็นต์แป้งที่สูงขึ้น พวกนี้ก็จะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น ส่วนตัวที่สองก็จะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เรามีอยู่ประมาณ 400,000 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เน้นทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ก็จะพัฒนาให้ทั้งคุณภาพของผลผลิตให้สูงขึ้น ข้าวโพดมีการประกันราคาที่ชัดเจน ก็จะมีการพัฒนาผลผลิต”

“ในส่วนของโรคระบาดก็จะมีหนอนกระทู้ สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ได้เพราะว่าพี่น้องเกษตรกรนั้น หนึ่งใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดหนอนตัวนี้ เกษตรกรมีความรู้ สองเกษตรกรสามารถที่จะคำนวณได้ว่าเขาควรเฝ้าระวังการปลูกในช่วงระยะไหนที่หนอนจะเข้าไปทำลาย ในขณะเดียวกัน ก็จะใช้วิธีผสมผสาน ถ้าอาการหนักก็อาจจะต้องใช้สารเคมี เพื่อการป้องกันจะมีการคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด การคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดจะป้องกันโรคในข้าวโพดได้จนข้าวโพดอายุประมาณ 20-30 วัน ถ้ารุนแรงก็จะใช้เคมี ในขณะเดียวกัน หลังจากอายุ 50-60 วันแล้วก็จะใช้การผสมผสานกับชีวภัณฑ์ หรือใช้ตัวห้ำตัวเบียน ปล่อยแตนเบียนบ้างปล่อยแมลงหางหนีบเข้าไปทำลายศัตรูพืช ไปจนสุดท้ายจะมีการใช้กับดักล่อแมลงที่เป็นผีเสื้อ ผีเสื้อจากหนอนกระทู้ตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้โดยเฉลี่ยประมาณ 1,500 ฟอง เพราะฉะนั้น ถ้ากำจัดได้ตัวหนึ่งก็เท่ากับสามารถลดประชากรไปได้ 1,500 ตัว ก็จะใช้วิธีผสมผสานพวกนี้กับหนอนกระทู้ศัตรูที่สำคัญต่อข้าวโพด ส่วนตัวที่สามก็เป็นอ้อย จะมีโรงงานอ้อยโรงงานน้ำตาลในพื้นที่สระบุรี ลพบุรี พวกนี้ก็จะปลูกมากที่ 2-3 จังหวัดนี้ เพราะฉะนั้น จะสามารถดูแลพืชเศรษฐกิจพวกนี้ให้ได้ตามปริมาณที่ตลาดต้องการ ตลาดต้องการเท่าไร ลักษณะการผลิตก็จะให้มีความสอดคล้องกัน”

แปลงใหญ่ก้าวหน้า

อาหารปลอดภัย

“วิธีการทำงานทางด้านการเกษตรทุกวันนี้จะเน้นที่การพัฒนาพี่น้องเกษตรกรก่อน คือให้มีการรวมตัวกันในการทำรูปแบบของแปลงใหญ่ คำว่าแปลงใหญ่คือการรวมตัวของกลุ่มคนเป็นหลักมาตัดสินใจในการวางแผนการผลิต มาวางแผนจำหน่ายทางด้านการตลาด เพราะฉะนั้น ตัวแปลงใหญ่ก็จะเข้ามาทำพวกนี้ ซึ่งในภาคกลางก็มีแปลงใหญ่ทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง คละกันอยู่ประมาณ 400 กว่ากลุ่ม เพราะฉะนั้น ก็จะมีการพัฒนาพวกนี้ โดยจุดเด่นของแปลงใหญ่คือการที่พี่น้องเกษตรกรมาร่วมกันวางแผนตัดสินใจไปถึงกระบวนการผลิตและการตลาดด้วย ซึ่งพวกนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี นาข้าวที่ชัยนาทก็โดดเด่น เราพยายามที่จะหาต้นแบบในปี 2562 นี้ก็จะมีการพิจารณาประกวดแปลงใหญ่ อีกไม่นานนะครับจะรู้ว่าว่าเขตภาคกลางนี้แปลงใหญ่ที่ดีที่สุดอยู่ที่ไหน โดยการค้นหาและก็ประกวด”

คุณทวีพูดถึงเกษตรแปลงใหญ่ และพูดถึงการใช้สารเคมีของเกษตรกรว่า

“เรามีการพัฒนาผลผลิตออกมาให้มีคุณภาพ การที่จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพนี้ก็จะต้องมีความปลอดภัยจากสารเคมี เพราะฉะนั้น สารเคมีต้องมีการควบคุมให้ถูกต้องต้อง ควบคุมสารเคมีไม่ให้มีอันตรายต่อตัวของผู้บริโภค โดยสาร 3 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น ไกลโฟเสต พาราควอต คลอร์ไพรินฟอส ก็จะมีการดำเนินการโดยการควบคุมทั้งเกษตรกรที่จะใช้กับพืช ซึ่งในภาคกลางเราก็จะมีการอบรมให้ความรู้พี่น้องเกษตรกรและจะมีกระบวนการสอบ โดยให้เกษตรกรสอบผ่านในลักษณะที่มีการใช้ที่ถูกต้อง ผู้ที่รับจ้างทางด้านการเกษตรในการฉีดพ่นต้องผ่านการฝึกอบรมทางด้านการเกษตรด้วย และผู้จำหน่ายสารทั้ง 3 ชนิดนี้ต้องมีการขึ้นทะเบียนและผ่านการฝึกอบรมควบคุมกับกรมวิชาการทางการเกษตรด้วย เพราะฉะนั้น เราจะทำงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ นี้ไปด้วยกัน ทั้งกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร คือกรมส่งเสริมการเกษตรก็จะมีหน้าที่ในการให้ความรู้อบรมพี่น้องเกษตรกรก่อน จนพี่น้องเกษตรกรสามารถใช้ได้ถูกต้องและแม่นยำไปจนถึงที่สุดของความอันตรายของสารทั้ง 3 ชนิดนี้ ถ้าหากเป็นอันตรายมากจริงๆ ก็จะหมดไปจากการใช้และก็จะนำตัวใหม่เข้ามาใช้ทดแทน ช่วงนี้อยู่ในระหว่างการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พี่น้องเกษตรกรจะมาขึ้นทะเบียนที่สำนักงานเกษตรอำเภอ โดยการสอบจะเริ่มสอบตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือที่อำเภอเขานัดหมาย” คุณทวี กล่าว

ท่องเที่ยวเชิงเกษตรพร้อม

ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต

“การเพิ่มมูลค่าอีกอย่างหนึ่งคือการสร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น วิถีชีวิตเกษตรที่ภาคกลางนั้นมีทุกจังหวัดนะ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี ปทุมธานี พวกนี้ก็มีแหล่งท่องเที่ยว อย่างเช่น ปทุมธานีก็จะโดดเด่นในเรื่องของกล้วยหอม ในเรื่องของพืชผัก พระนครศรีอยุธยาก็จะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีการแปรรูปด้วย ที่ชัยนาทเองก็จะมีผลไม้ โดยเฉพาะส้มโอ เพราะฉะนั้น พวกนี้ก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย มีทุกจังหวัด ลพบุรีก็มีกระท้อน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้คนมาสัมผัสชีวิตการทำการเกษตร ตอนนี้ก็มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ไต้หวัน ซึ่งมาท่องเที่ยวเชิงเกษตรเรียกว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าตัวหนึ่งของสินค้าเกษตร”

“กรมส่งเสริมการเกษตร…ก็จะไปพัฒนาใน 2-3 ประเด็นนะครับ คือหนึ่งพัฒนาการทำการเกษตรให้มีคุณภาพ สองไปดูในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวความปลอดภัยหรือการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับลักษณะของการทำการเกษตรที่เป็นชีวภัณฑ์ชีวภาพ ในขณะเดียวกัน ก็จะไปให้ความรู้พี่น้องเกษตรกรให้เขาสามารถเป็นคนที่จะถ่ายทอดได้ มีความรู้ พัฒนาให้เป็น Smart farmer พัฒนาให้เป็น Young smart farmer สามารถอธิบายให้ผู้คนเข้าใจได้ เป็นแบบอย่างคล้ายๆ ศูนย์เรียนรู้ ข้อมูลเหล่านี้ดูได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักเกษตรจังหวัดหรือกรมส่งเสริมการเกษตรหรือสำนักงานส่งเสริมการเกษตรในเขต 1 ถึงเขต 6 ทั่วประเทศ เพียงพิมพ์คำว่าการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามเว็บไซต์ก็จะมีข้อมูลพวกนี้ปรากฏขึ้น”

ตลาดสินค้าเกษตร

หนุนเต็มที่

“คือตอนนี้นโยบายของรัฐบาลกำลังเน้นเรื่องตลาดนำการผลิต เพราะฉะนั้น ตลาดสินค้าเกษตรก็มีหลายลักษณะเหมือนกัน คือหนึ่งให้ผลิตสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ ไม่มีปัญหาเรื่องตลาดเรื่องราคา พวกนี้เขาจะผลิตให้มีความสมดุลต่อความต้องการซื้อและความต้องการขาย ตลาดตัวที่สองจะเน้นตลาดในชุมชน คือให้พี่น้องเกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของเอง ขายทั้งในชุมชนดึงนักท่องเที่ยวให้เข้าไปซื้อให้เขาเห็นซึ่งตลาดสินค้าทางการเกษตร มีทั้งสหกรณ์การเกษตร มีทั้งวิสาหกิจชุมชน องค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ประจำหมู่บ้าน และไปเชื่อมโยงกับหมู่บ้าน ตลาดประชารัฐของรัฐบาลในพื้นที่ ซึ่งในลักษณะพวกนี้ตลาดจะมีการขยายตัวไปถึงในระดับชุมชนเอง ตลาดที่เรียกว่าตลาดของเกษตรกรซึ่งกรมส่งเสริมทางการเกษตรเป็นผู้ดูแลและควบคุมบริหารจัดการ ก็จะมีจังหวัดละหนึ่งจุดสามารถที่จะเอางบประมาณลงไปสนับสนุน เช่น พัฒนาในเรื่องของที่จะจำหน่าย พัฒนาอาคาร พัฒนาในเรื่องของการคัดแยกคุณภาพสินค้าทางการเกษตรพวกนี้ ไปจนถึงการตรวจวัดคุณภาพของสินค้าทางการเกษตร ตัวนี้ก็จะมีเป็นจุดนำร่องของทุกจังหวัด อย่างน้อยจังหวังละหนึ่งจุด ดำเนินการทั้ง 9 จังหวัดในเขตภาคกลาง”

ภาคกลาง น้ำดี-ใกล้ตลาด

“กรมส่งเสริมการเกษตร มีการพัฒนาความรู้ความสามารถต่อตัวเกษตรกรเอง คือจะพัฒนาให้เขาเป็น smart farmer ให้ได้ ซึ่งในการที่จะพัฒนาให้เขา smart farmer ได้ จะให้เขามีความรู้ มีข้อมูลข่าวสาร มีการผลิตที่ถูกต้อง มีการควบคุมคุณภาพ ไม่เป็นพิษต่อตัวเองและชุมชน เมื่อพัฒนาพวกนี้ได้เขาก็จะเป็น smart farmer คนที่จะชี้ว่าเขาเป็น smart farmer คือกรมส่งเสริมทางการเกษตร ก็จะมีทั้งเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัดในพื้นที่เข้าไปดูในสิ่งเหล่านี้ ในส่วนของภาคกลางประเด็นที่มีความได้เปรียบคือเรื่องของความรู้และทรัพยากรที่มี ภาคกลางมีระบบชลประทานที่เอื้อต่อการเกษตรที่โดดเด่น การทำนาก็สามารถที่จะทำได้ทั้ง 2 ฤดู ผสมผสานก็สามารถทำได้เนื่องจากมีต้นทุนเรื่องน้ำ ถือว่ามีความโดดเด่นของพี่น้องเกษตรกรในภาคกลาง อีกประการที่สามถือเป็นความโดดเด่นคือการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าซึ่งเป็นศักยภาพของพี่น้องเกษตรกรในภาคกลางและใกล้แหล่งตลาดใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ก็อยู่ใกล้ เป็นตลาดของเอกชนสามารถที่จะรวบรวมและก็คัดกรองสินค้าพวกนี้ออกต่างประเทศได้”

อยากให้ท่องเที่ยวเชิงเกษตรกันมากๆ

“ในเขตภาคกลาง ผลไม้ที่มีความโดดเด่นสำคัญๆ จะมีประมาณ 3-4 ชนิด อันดับหนึ่งที่มีพื้นที่ปลูกเยอะคือมะม่วง อันดับสองรองลงมาจะเป็นส้มโอ ซึ่งส้มโอก็จะเป็นในเขตภาคกลาง พันธุ์ขาวแตงกวาเป็นส้มโอที่มีความโดดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้เขตภาคกลางมาก คุณภาพของผลผลิตในเรื่องของกุ้งใหญ่ ไม่แฉะ รสชาติไม่หวานเยิ้ม ตัวที่สามเป็นกระท้อนที่ปลูกมากในจังหวัดลพบุรี เพราะฉะนั้น เราก็จะมีการพัฒนาในเรื่องของทั้งคุณภาพให้มีความปลอดภัยให้มีการรับรองนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพืชปลอดภัยได้มาตรฐานตามระบบจัดการคุณภาพ (GAP) ไปจนถึงเรื่องของอินทรีย์”

“ฉะนั้น ถ้ามาในเขตของภาคกลาง โดยเฉพาะที่ชัยนาทก็จะมีส้มโอวางขายตลอดทั้งปีเพราะว่าส้มโอสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี มะม่วงที่อ่างทองก็เช่นกันก็จะพัฒนาให้ผลผลิตออกสู่ตลอดทั้งปี กระท้อนจะมีเป็นบางฤดูเท่านั้น อีกตัวหนึ่งคือกล้วยหอมที่มีมากในเขตภาคกลางที่จังหวัดปทุมธานี จะมีการพัฒนาในเรื่องของคุณภาพ จะมีการพัฒนาในเรื่องของตลาด มีการพัฒนาในส่วนของการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต ยกตัวอย่างการเพิ่มมูลค่าของส้มโอ โดยตัดส้มโอที่มีคุณภาพเหมาะสมที่สุดไม่ว่าจะเป็นเปลือกส้มโอนั้นก็จะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เชื่อม แปรรูป สามารถจำหน่ายเพิ่มมูลค่าได้ ในขณะเดียวกัน ก็จะทำแพ็กเกจจิ้งในการส่งออกตลาดให้มากขึ้น มีการพัฒนาในเรื่องของตลาดดิจิตอลสามารถที่จะสั่งซื้อได้ทางออนไลน์ ส่งสินค้าได้ทุกฤดูกาล