เรื่องหอมๆ ของ “มะพร้าวน้ำหอม” เช็คส่วนไหนว่าหอม แล้วอยู่ดีๆ ทำไมไม่หอม?

“มะพร้าวน้ำหอม” เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่สนใจของเกษตรกร ตลาดที่สําคัญของมะพร้าวน้ำหอม ในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และตะวันออกกลาง เป็นต้น

มะพร้าวเป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่าย ไม่จําเป็นต้องใช้เทคนิคหรือ ประสบการณ์ เหมือนไม้ผลชนิดอื่น ๆ สามารถให้ผลผลิตได้เร็ว คือหลังจากปลูกประมาณ 3 ปี ก็เริ่มเก็บผลผลิตขายได้แล้ว ราคาจําหน่ายผลอ่อนก็อยู่ใน เกณฑ์ดี

มะพร้าวอ่อนที่เราบริโภคสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ มะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวน้ำหวาน ซึ่งมีข้อแตกต่างกัน คือ มะพร้าวน้ำหอมจะมีกลิ่นหอมในตัวเองคล้ายใบเตย ส่วนมะพร้าวน้ำหวานจะมีรสหวานเพียงอย่างเดียว

ความหอมของมะพร้าวน้ำหอม

ความหอมในตัวเองของมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งไม่พบในมะพร้าวอ่อนทั่ว ๆ ไป ทําให้เรานิยมบริโภค มะพร้าวพันธุ์นี้ เมื่อพิจารณาส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าวน้ำหอม จะพบว่ามีส่วนที่เราสามารถทดสอบความหอม ได้ เช่น
1. ปลายรากอ่อนของหน่อมะพร้าว
2. กะลาของผลอ่อน
3. น้ำและเนื้อมะพร้าว
นอกจากนี้อาจมีส่วนอื่น ๆ ที่แสดงความหอม แต่ไม่สามารถทดสอบได้ด้วยการดม อาจจะต้องใช้เทคนิคอื่น ๆ มาช่วย ตามปกติสารหอมระเหยในพืชจะอยู่ในต่อมหรือในท่อของส่วนใดส่วนหนึ่งของพืช ดังนั้นความหอมจึงเกิดขึ้นได้ในเนื้อเยื่อของส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าวน้ำหอมนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว

สาเหตุที่มะพร้าวน้ำหอมไม่หอม

ปัญหาที่ผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมพบบ่อย ๆ คือ ความหอมจะหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ถึงแม้ว่าหน่อพันธุ์ที่ปลูกจะเป็นพันธุ์แท้และเคยหอมมาก่อน แต่บางครั้งก็เหมือนกับบริโภคมะพร้าวน้ำหวานธรรมดา

เพื่อต้องการศึกษาสาเหตุของความหอมที่ไม่คงที่ ได้ทําการทดลองโดยคัดเลือกต้นมะพร้าวน้ำหอมที่เป็น พันธุ์แท้มาจํานวนหนึ่ง แล้วใช้เป็นต้นแม่มาผสมกับละอองเกสรตัวผู้ของมะพร้าวพันธุ์อื่น ๆ ได้แก่มะพร้าว ใหญ่ มะพร้าวน้ำหวาน (หมูสีเขียว) และมะพร้าวน้ำหอมต้นอื่นที่อยู่ในแปลงเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้ผสมตัว เองในจั่นเดียวกันอีกด้วย

ภาพจากหนังสือ “มะพร้าวพืชสารพัดประโยชน์” สำนักพิมพ์มติชน

ผลการทดลองตามตาราง พบว่าละอองเกสรตัวผู้มีอิทธิพลต่อความหอมของเนื้อมะพร้าว (Xenia Effect) มะพร้าวน้ำหอมที่ผสมกับมะพร้าวใหญ่และมะพร้าวน้ำหวาน ผลมะพร้าวจะไม่มีความหอม แต่ถ้าผสมตัวเอง หรือผสมกับมะพร้าวน้ำหอม ผลมะพร้าวที่ได้จะมีความหอมไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังพบว่า ละอองเกสรตัวผู้ ก็มีผลต่อความหวานของน้ำมะพร้าวเช่นเดียวกัน