ตลาดริมปิง เมืองสี่แคว แหล่งใหญ่ในการรวมมะระ ก่อนกระจายสู่ผู้บริโภค

พูดถึงมะระ เดิมคุ้นเคยกันดีคือมะระพันธุ์พื้นเมือง ที่เรียกกันว่ามะระพันธุ์ไทยหรือมะระขี้นก ต่อมามีปลูกมะระผลขนาดใหญ่ ที่เรียกว่ามะระจีน ทำให้มะระไทยลดน้อยถอยลง หลังๆ เมื่อพูดถึงมะระ เป็นที่เข้าใจกันว่า คือมะระจีนนั่นเอง

ตลาดริมปิง ตั้งอยู่เลขที่ 117/1 หมู่ที่ 12 ถนนนครสวรรค์-พิษณุโลก ตำบลบางม่วง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

ตลาดริมปิง

ที่นี่เป็นแหล่งรวมสินค้าทางการเกษตรหลายชนิด ทั้งนี้ เป็นเพราะภูมิประเทศอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำสายใหญ่มาบรรจบกัน จนเรียกกันว่าเมืองสี่แคว ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ

ที่ตลาดริมปิง เป็นแหล่งรวมพืชที่มีรสขม แต่ผู้คนก็ชอบกินกัน นั่นก็คือมะระ

ร้าน ต.ไพศาลการเกษตร

คุยกับร้าน ต.ไพศาลการเกษตร

ริมปิง ศูนย์กลางการรับซื้อ-ขายผลผลิตมะระ

ร้าน ต.ไพศาลการเกษตร เป็นร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ที่ตั้งอยู่ตลาดริมปิง เปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 10 ปี

คุณน้อง ศศิวรรณ คุ้มกัน ร้าน ต.ไพศาลการเกษตร เล่าว่า ปัจจัยการผลิตที่ทางร้านจำหน่ายอยู่นั้นมีหลายกลุ่มด้วยกัน สำหรับเมล็ดพันธุ์มะระปีหนึ่งจำหน่ายออกไปคิดเป็นพื้นที่ปลูกไม่น้อย เกษตรกรที่มาซื้อส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรในท้องถิ่น แต่ที่อยู่ห่างออกไปก็มาซื้อ เช่น อุทัยธานี กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ ชัยนาท เมื่อเกษตรกรปลูกแล้ว ก็นำผลผลิตมาจำหน่ายยังตลาดริมปิง เพื่อกระจายไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศไทย

เกษตรกรที่นำผลผลิตมาจำหน่าย คือเกษตรกรจังหวัดต่างๆ ที่ซื้อเมล็ดพันธุ์ไปปลูกนั่นเอง

“ตลาดริมปิงรองรับผลผลิตของเกษตรกรได้ โดยเฉพาะมะระ ที่นี่เป็นศูนย์กลางการรับซื้อผลผลิตมะระ มีกระจายทั้งปี โดยเฉพาะฤดูฝนจะมีปริมาณมาก” คุณน้อง บอก

 

เจ๊ทุเรียน

ผู้ซื้อขายรายใหญ่ในตลาดริมปิง

 

เจ๊ทุเรียน หรือ คุณจงรัก โสภา ประกอบอาชีพรับซื้อและขายมะระมานานกว่า 10 ปีแล้ว ถือว่าเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ สาเหตุที่เจ๊มารับซื้อมะระ แทนที่จะซื้อทุเรียน เพราะจังหวัดนครสวรรค์และบริเวณใกล้เคียง ปลูกมะระกันมาก

“วันหนึ่งรับซื้อราว 1,000 ถุง…ถุงหนึ่งมี 5 กิโลกรัม ที่มาของมะระมาจากนครสวรรค์ รวมทั้งรอยต่อใกล้เคียงจังหวัดนี้ อย่างพิจิตร อุทัยธานี ซื้อแล้วนำไปส่งที่ตลาดสี่มุมเมือง เช้ารับของมาเย็นก็ส่ง จะไม่ปล่อยค้างคืน ซื้อขายวันต่อวัน” เจ๊ทุเรียน บอก

เจ๊ทุเรียน

เมื่อก่อน ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดไม่มากนัก แต่ทุกวันนี้เจ๊ทุเรียนบอกว่า ปริมาณมีมากขึ้น ทั้งนี้ เป็นเพราะมะระจีนปลูกง่าย คนนิยมกินกัน

“มะระทำกินได้หลายอย่าง ผัดไข่ ตุ๋น แกง…รายใหญ่มีฉันแล้วก็เจ๊นึก ขายกันวันหนึ่งเป็นรถสิบล้อ รายอื่นซื้อน้อยกว่า” เจ๊ทุเรียน บอก

เกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายให้เจ๊ทุเรียน

สมหวัง ชื่นจิตร

ผู้ปลูกมะระ สร้างรายได้ยั่งยืน

คุณสมหวัง ชื่นจิตร อยู่หมู่ที่ 8 ตำบลแหลมรัง อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร ปลูกมะระมาตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 5 ไร่ ใช้พันธุ์วสันต์ TA255 ของบริษัทเพื่อเกษตรกร จำกัด

“เดิมทำงานบริษัท ลาออกมาปลูกผักใช้พื้นที่ 10 ไร่ มีพริกกับมะระ รายได้ดี จริงๆ แล้วมะระปลูกได้ทุกฤดู แต่ดีที่สุดคือช่วงนี้ ช่วงฝน หน้าหนาวก็ปลูกได้แต่ศัตรูจะมากหน่อย รอบปีก็หมุนเวียนปลูกไม่ให้ซ้ำที่ เพราะจะมีโรคและแมลงระบาดง่ายขึ้น ปีหนึ่งปลูกได้ 3 รุ่น” คุณสมหวัง บอก

คุณสมหวัง ชื่นจิตร

คุณสมหวังเล่าถึงวิธีการปลูกว่า

เตรียมดิน…ไถพรวนธรรมดา ยกแปลงกว้างราว 1.50 เมตร

เพาะเมล็ด…เพาะในถาดหลุม จำนวนหลุมละ 1 ต้น เมื่ออายุได้ 7 วัน ย้ายลงปลูกในแปลง ใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 1.5 คูณ 1.5 เมตร เมื่อปลูกเสร็จทำค้างให้เลย เพราะต้นอายุได้ 14 วัน ต้นมะระจะเริ่มไต่ค้าง

ระบบน้ำ…เป็นระบบน้ำหยด จะให้ปุ๋ยไปกับระบบน้ำ ประหยัดแรงงาน ต้นไม้สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มะระในแปลงปลูกของคุณสมหวัง

ปุ๋ย…ให้สัปดาห์ละครั้ง

หลังปลูกได้ 15 วัน ใช้ยูเรีย (46-0-0) จำนวน 1 กระสอบ (50 กิโลกรัม) ละลายไปกับระบบน้ำหยด ซึ่งปุ๋ย 1 กระสอบใช้กับพื้นที่ปลูกมะระ 5 ไร่

จากนั้น 7 วัน ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ครึ่งกระสอบ ผสมกับยูเรีย 1 กระสอบให้กับต้นมะระ โดยให้ไปกับระบบน้ำ

ช่วงออกดอก ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 จำนวน 1 กระสอบ

เมื่อผลโต ใส่ปุ๋ยสลับกันระหว่างสูตร 13-13-21 สลับกับ 8-24-24

“ให้ปุ๋ยอาทิตย์ละครั้ง มะระต้องการปุ๋ยมาก ช่วงเก็บผลใช้สูตร 13-13-21 สลับกับ 8-24-24 ส่วนน้ำ 2 วันให้ครั้งหนึ่ง ที่ดินร่วนปนทราย แต่ก็ประหยัดแรงงาน เพราะใช้ระบบน้ำหยด”

ศัตรูมีแน่นอน…คุณสมหวัง บอกว่า ช่วงที่มีศัตรูระบาดมากและอาจจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า งานปลูกมะระจะประสบความสำเร็จหรือไม่ คือช่วงลงแปลงใหม่จนถึงออกดอก ซึ่งต้องระวังหนอนและเพลี้ยไฟ หากมีระบาดต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัด ที่ผ่านมาสามารถป้องกันกำจัดได้ โดยใช้ปัจจัยการผลิตพื้นๆ หน้าฝนพบมีการระบาดของศัตรูมะระน้อยกว่าหน้าหนาว ดังนั้น ต้องระวังช่วงหน้าหนาวเป็นพิเศษ

ผลตอบแทนที่ได้…เจ้าของมะระบอกว่า หลังปลูกได้ 45-50 วันเริ่มเก็บผลผลิตได้ โดยเก็บอยู่นาน 2 เดือน จึงโละแปลงแล้วปลูกใหม่…ถามว่าได้ผลผลิตต่อไร่เท่าไร…เจ้าของบอกว่า ไม่ได้คิดคำนาณ แต่ดูจากการปลูก หากใช้เมล็ด 3 กระป๋อง (1,500 เมล็ด หรือ 1,500 ต้น) จะได้ผลผลิต 30 ตัน

ผลผลิตที่ได้เก็บใส่ถุง ถุงละ 5 กิโลกรัม มีมะระ 6-7 ผล ขนาดของผลครึ่งกิโลกรัมถึง 8 ขีด

คุณสมหวัง ที่ตลาดริมปิง

ราคามีขึ้นลง

นำไปส่งขายตลาดริมปิง

คุณสมหวัง บอกว่า ราคาขายบางช่วงดีมาก อย่างหน้าหนาว แต่หน้าฝนราคาลดลง ที่ผ่านมาเคยขายได้ราคาสูงสุด 25 บาท ต่ำสุด 5-6 บาท

“ผลผลิตเรานำไปส่งเจ๊ทุเรียน ที่ตลาดริมปิง นครสวรรค์ จากแปลงปลูกนี่ 50 กิโลเมตร…ปลูกมะระดี เป็นอาชีพหลักได้ ทำงาน 3-4 คน มีญาติๆ ในครอบครัว ไม่ได้จ้างเอาแรงกัน นานๆ ถึงจะจ้างทีหนึ่ง …ที่บ้านก็กินกันนะมะระถึงจะปลูกเอง ทำต้มจืดหมู แกงกะทิ กินสด ที่อื่นอย่างในกรุงเทพฯ มีก๋วยเตี๋ยวไก่มะระ” คุณสมหวัง บอก

สนใจปลูกมะระถามได้ที่ คุณสมหวัง ชื่นจิตร ตามที่อยู่หรือโทรศัพท์ (095) 904-0527

ซื้อเมล็ดพันธุ์ ถามได้ที่ คุณศศิวรรณ คุ้มกัน ต.ไพศาลการเกษตร โทร. (083) 531-1118

ปลูกแล้วขายไม่ได้ ถามได้ที่ เจ๊ทุเรียน (092) 693-3789

ขอบพระคุณ คุณสัมฤทธิ์ ทองดอนใหม่ ผู้แทนขาย บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด

มะระวสันต์ TA255 ผลขนาดใหญ่

ลักษณะประจำพันธุ์ มะระวสันต์ TA255

ผลทรงกระบอก ทรงผลสวย ผิวสีเขียวเป็นมัน ขนาดผลใหญ่ ไส้ไม่กรวง เนื้อแน่น ผลยาวประมาณ 33-35 เซนติเมตร น้ำหนักผล 550-700 กรัม อายุการเก็บเกี่ยว 45-50 วัน หลังหยอดเมล็ด ปลูกได้ตลอดปี

เจ้าของ…บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด เลขที่ 43 ถนนราชพฤกษ์ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทร. (053) 211-773, (053) 211-810 และ (053) 217-180