นิคม วงศ์ใหญ่ ศพก.เครือข่าย ใช้บัญชีครัวเรือนเป็นหลักทำการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

ณ บ้านเลขที่ 144 หมู่ที่ 1 บ้านสถาน ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เป็นที่ตั้งสวนมีสุข ของเกษตรกรหัวก้าวหน้า เจ้าของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (เครือข่าย) ทำการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มีการทำบัญชีครัวเรือนมาช่วยวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการผลิตและอุดช่องโหว่ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

คุณนิคม วงศ์ใหญ่ เล่าถึงประวัติส่วนตัวว่า จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบ้านสถาน ตำบลภูซาง เมื่อปี พ.ศ. 2532 พอจบก็เข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ โดยไปอยู่กับญาติ ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟร้านอาหาร เงินเดือนตอนนั้น 1,500 บาท เพราะความรู้น้อย เปรียบเทียบกับเด็กเสิร์ฟด้วยกันแต่เขาจบ ม.3 หรือ ม.6 ปรากฏว่ารายได้มากกว่า ด้วยวุฒิการศึกษาจึงคิดได้ว่าถ้าตนเองมีความรู้สูงกว่านี้รายได้จากการทำงานก็จะสูงกว่านี้

คุณนิคมจึงตัดสินใจกลับมาบ้านไปเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วไปเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่วิทยาลัยเทคนิค เมื่อจบ ปวส. ก็มาพบกับ คุณชาลินี ตกลงใช้ชีวิตคู่กัน

คุณนิคม ตัดแต่งตะไคร้เตรียมนำออกขาย

คุณนิคมพูดถึงคนอื่นว่าเริ่มต้นชีวิตครอบครัวจาก 1 หรือ 10 เพราะมีมรดกตกทอด แต่คู่ของคุณนิคมเริ่มด้วยติดลบเพราะมาจากครอบครัวยากจนและเป็นหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.ร่วมๆ 50,000 บาท

เมื่อใช้ชีวิตคู่ด้วยกันใหม่ๆ ก็ทำไร่ทำนาที่บ้าน แต่ด้วยจบการศึกษาใหม่ไฟแรง จึงชวนกันไปทำงานที่เชียงใหม่ ลำพูน ครั้งแรกไปแต่ไม่ได้งานทำ จึงกลับมา และไปอีกราวๆ 4-5 ครั้งจึงได้งานทำ แต่ว่ากว่าจะได้เงินเดือนก็ต้องใช้เงินเก่าเดือนชนเดือนแทบไม่มีเหลือเก็บ

เผอิญว่าคุณนิคมและภรรยาชอบจดบันทึกค่าใช้จ่าย เมื่อนำมาวิเคราะห์การไปหางานทำและทำงานแต่ละครั้งหมดไปเป็นสามหมื่นถึงสี่หมื่นบาท รวมแล้วหมดเงินไปนับแสน ซึ่งหากไม่จดบันทึกจะไม่รู้ว่าหมดเงินไปเป็นแสน แล้วเงินแสนที่หมดไปได้จากไหน ก็เป็นเงินที่ได้จากการทำการเกษตรนั้นเอง

ครอบครัวของคุณนิคม ไม่มีที่ดินทำกิน และไม่มีมรดก มีที่ของย่า แต่ลูกของย่ามีหลายคน พอเสร็จหน้านา คุณนิคมจะเช่าพื้นที่เพื่อปลูกพืชหลังนา โดยไม่ปลูกพืชชนิดเดียวเหมือนคนอื่น แต่จะทำการสำรวจตลาดพืชผักที่คนต้องบริโภคทุกวันจึงจะปลูกพืชนั้น

เมื่อไม่มีที่ดินของตนเองต้องเช่าคนอื่นเลยมีความคิดที่อยากจะมีที่ดินของตนเอง เพราะหากเช่าที่ของคนอื่นพอถึงฤดูทำนาเขาก็จะทำนา เราก็ไม่สามารถปลูกพืชที่เราวางแผนที่จะปลูกได้ ประกอบกับได้รับรู้แนวพระราชดำริของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แล้วก็น้อมนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

คุณนิคม วงศ์ใหญ่ และภรรยา กับผลผลิตจากสวนมีสุข

พอดีแปลงที่ตั้งสวนมีสุขในปัจจุบัน เจ้าของที่ดินจะขาย เมื่อ 5 ปีก่อน พื้นที่ 3 ไร่ 58 ตารางวา ราคาล้านกว่าบาท คนอื่นบอกว่าแพง ไม่ซื้อ แต่คุณนิคมดูทำเล แล้วตัดสินใจซื้อเพราะมีน้ำเป็นปัจจัยหลัก หากดินไม่ดีเราสามารถปรับปรุงได้ แต่ถ้าไม่มีน้ำก็จบกันไปต่อไม่ได้ มีกระท่อมที่สามารถต่อเติมทำเป็นบ้านพักอาศัยได้ จึงตกลงกับภรรยาซื้อที่ดินแปลงนี้

คุณนิคมนำที่ดินของแม่ไปจำนองกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ก็บอกว่าราคาที่แพงทำไมจึงซื้อ คุณนิคมบอกว่าดูทำเลแล้วสามารถที่พัฒนาและทำรายได้จากพื้นที่ได้แน่นอน โดยใช้เงินกู้และเงินสะสมของตนเองซื้อ เดิมพื้นที่เหมือนเป็นที่รกร้าง เนื่องจากก่อนหน้านั้นเจ้าของแปลงทำการเกษตรแบบเคมี เมื่อทำนานๆ เข้าทำให้ดินเสื่อมสภาพไปแล้วคุณนิคมจึงมาปรับปรุงดินโดยใช้พืชปุ๋ยสด พืชคอก ปุ๋ยหมัก ปัจจุบันดินดีขึ้น

เมื่อได้ที่ดินมาก็ดีใจ 2 คนสามีภรรยาจะได้ทำตามฝันโดยไม่ทำนาแต่จะทำสวนเพราะพื้นฐานเคยค้าขายมาก่อน เงินสะสมที่สมทบกับเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินก็ได้จากการค้าและการจดบัญชีครัวเรือนทำให้วิเคราะห์ลู่ทางการตลาดได้ ปรากฏว่าพ่อแม่ญาติพี่น้องทราบว่าจะไม่ทำนา ทุกคนคัดค้านหมด เพราะเดิมแปลงนี้เขาทำนารอบๆ แปลงก็ทำนา จะทำให้น้ำจากแปลงข้างเคียงเข้ามาท่วมสวนผัก

ซึ่งคุณนิคมมีแนวทางแก้ไขไว้แล้วคือจะขุดร่องน้ำออกไปทิ้งท้ายสวน แต่แม่ก็ยืนยันที่จะให้ทำนา จึงคุยกับแม่ว่าตกลงจะทำนาให้ตามที่แม่บอกแต่ขอที่ 1 งานเพื่อปลูกผัก แล้วจะจดบันทึกค่าใช้จ่ายทั้งสองอย่างเปรียบเทียบให้ดู โดยทำควบคู่กันไประหว่างทำนา 2 ไร่ 3 งาน 58 ตารางวากับปลูกผัก 1 งาน

ขายได้เงินดี

จดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ใน 1 งานที่ปลูกผักเริ่มด้วย กะหล่ำ นอกจากจะเพาะเพื่อปลูก ยังขายกล้าพันธุ์ด้วย หลังจากนั้น ก็ปลูกผักกาดกวางตุ้ง 20 กว่าวันก็เก็บขายได้แล้ว ปลูกรอบที่ 2 ได้อีก ส่วนข้าวเกือบ 4 เดือนกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ ส่วนผักปลูกได้ 3 รอบ เมื่อเก็บเกี่ยวนวดข้าวเสร็จก็ชั่งน้ำหนักทั้งหมด

ตอนนั้นราคาข้าวอยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท คิดราคาว่าขายทั้งหมดแล้วไปหักค่าใช้จ่ายที่จดไว้ เหลือเงิน 3,000 กว่าบาท ส่วนการทำสวน 1 งาน มีรายได้ 40,000 กว่าบาท หักค่าใช้จ่าย 10,000 กว่าบาท เหลือเงิน 30,000 กว่าบาท จึงให้แม่ดู ว่าสามารถทำรายได้แตกต่างกันนับ 10 เท่า แม่จึงยอมรับให้เปลี่ยนไปทำสวนผักแบบเต็มแปลง

สิ่งสำคัญที่คุณนิคมและภรรยาทำคือการจดบันทึกบัญชีครัวเรือน ซึ่งจะทำให้สามารถวิเคราะห์ต้นทุน กำไร และวิเคราะห์การตลาดได้ด้วย เพราะเมื่อจดบันทึกก็จะเห็นว่าพืชในแต่ละชนิดที่ปลูกราคาเป็นอย่างไร ช่วงไหนราคาสูงเราก็สามารถวางแผนการผลิตเพื่อให้ผลผลิตออกในช่วงนั้นโดยนับย้อนเวลาที่ปลูก และดูว่าผักชนิดใดที่ปลูกแล้วสามารถเก็บผลผลิตได้ยาวนาน เช่น โหระพา สะระแหน่

คุณชาลินี คัดเกรดถั่วฝักยาวและมะเขือยาวเตรียมออกขาย

โดยใช้พื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่หลัก เช่น คันคูร่องน้ำ เป็นต้น ปลูก 1 ครั้งเก็บได้ 2 ปี เก็บต่อรอบได้ 20 บาท ต่อต้น ส่วนการปลูกพืชจะปลูกผสมผสาน ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะถ้าราคาพืชชนิดหนึ่งไม่ดี ก็มีพืชอื่นทดแทนกันได้

ปัจจุบันการดำเนินกิจกรรมของสวนมีสุขของคุณนิคม ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องแหล่งน้ำมีความสำคัญต่อการทำการเกษตร สวนมีสุขตั้งอยู่บ้านสถานแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งตะวันออกรับน้ำจากน้ำเปื๋อย ซึ่งไหลมาจากน้ำตกภูซาง

ส่วนฝั่งตะวันตกที่สวนมีสุขตั้งอยู่ รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใช้ระบบเหมืองฝายของทางภาคเหนือ มีกฎเกณฑ์ที่ใช้ยึดถือปฏิบัติในการบริหารจัดการ ไม่มีปัญหาการแย่งน้ำกัน

จริงๆ แล้วคุณนิคมอยากจะทำเกษตรอินทรีย์ แต่เนื่องจากที่ตั้งแปลงยังมีแปลงข้างเคียงยังใช้สารเคมีอยู่ จึงพยายามจะชักชวนให้เขาลดละเลิกการใช้สารเคมี ช่วงนี้จึงเป็นระยะปรับเปลี่ยนในรูปแบบการทำการเกษตรแบบปลอดภัยคือลดการใช้ให้มากที่สุด หันไปใช้สารชีวภัณฑ์เข้ามาทดแทน และใช้ในระยะที่จำเป็น ทิ้งระยะเวลาที่ปลอดภัยจึงจะเก็บเกี่ยวไปขาย

ปุ๋ยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ น้ำหมักจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ซึ่งนอกจากจะให้ความปลอดภัยกับผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิต คุณนิคมยังได้รับความรู้และอุปกรณ์ในการทำระบบการให้น้ำ จากกรมส่งเสริมการเกษตร ถือว่าสามารถนำไปขยายผลได้แล้วในการให้น้ำโดยระบบน้ำหยดและสปริงเกลอร์

ถั่วฝักยาวที่คัดเกรดและมัดเตรียมออกขาย

สวนมีสุขของคุณนิคมได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เป็นสวนเปิด เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เครือข่าย ของสำนักงานเกษตรอำเภอภูซาง สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา เกษตรกรสามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้ตลอด เข้ามาแลกเปลี่ยนรู้ซึ่งกันและกัน

คุณนิคมบอกว่าไม่มีการปิดบังข้อมูล ตนเองไม่ได้ร่ำรวยพอที่จะแบ่งทรัพย์สินให้คนอื่นได้ มีแต่ความรู้และประสบการณ์ที่พอจะแบ่งปันเป็นวิทยาทานไป บางครั้งอาจจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เติมเต็มซึ่งกันและกันได้ การได้พบปะพูดคุยกันจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ได้ นอกจากนี้ ตอนคุณนิคมได้สร้างบ้านพักเล็กๆ จำนวน 2 หลังสำหรับบริการนักท่องเที่ยวที่จะมาพักและทำกิจกรรมกับสวนมีสุข

คุณนิคมฝากถึงผู้ที่จะเข้าสู่อาชีพการทำการเกษตรว่าควรเริ่มจากเล็กๆ ก่อน หากได้ผลจึงค่อยขยาย มีหลายคนที่ออกจากงานประจำที่ทำแล้วมาทำแบบใหญ่โตทีเดียวแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องกลับไปทำงานประจำอีกเพราะการทำการเกษตรมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งเรื่องทุน สภาพดินฟ้าอากาศ และท้ายที่สุดคือเรื่องของตลาด

แต่ถ้าใครอยากจะเข้ามาเรียนรู้ศึกษาดูงานของคุณนิคม สวนมีสุขพร้อมที่เรียนรู้และก้าวเดินไปด้วยกันตามแนวพระราชดำริที่องค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ ติดต่อทางโทรศัพท์ได้ที่ (081) 179-6341 หรือที่อยู่ข้างต้น