เรียนรู้ “ปลูกไม้พะยูง” แบบมืออาชีพ ณ สวนป่าท่ากุ่ม โนโบรุ อูเมดะ จังหวัดตราด

“ไม้พะยูง” จัดเป็น 1 ใน 9 ไม้มงคล ตามความเชื่อของคนไทยมาตั้งแต่สมัยอดีต เพราะคำว่า “พะยูง” เป็นมงคลนาม หมายถึง พยุงฐานะให้มั่นคง เจริญรุ่งเรือง คนไทยจำนวนมากจึงนิยมปลูกไม้พะยูงไว้ในบริเวณบ้าน และใช้ไม้พะยูงในพิธีกรรมต่างๆ ขณะเดียวกัน ไม้พะยูง มีเนื้อไม้สีสันสวยงาม ชักเงาได้ดี แข็งแรงทนทาน จึงนิยมใช้ไม้พะยูงก่อสร้างอาคาร เครื่องเรือนมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน

ระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา ไม้พะยูงเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่ถูกลักลอบตัดจากป่าเป็นจำนวนมาก สาเหตุหลักเชื่อกันว่ามาจากการบูรณะซ่อมแซมพระราชวังต้องห้าม “กู้กง” หลังรัฐบาลจีนได้ซ่อมแซมงานไม้ต่างๆ ภายในวัง พบว่า ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร รวมทั้งโต๊ะ เก้าอี้ ของฮ่องเต้ล้วนทำมาจากไม้พะยูง มีเนื้อไม้สีแดงของชนชั้นสูงในประเทศจีน เฟอร์นิเจอร์ไม้พะยูงมีความสวยงาม มีสภาพสมบูรณ์ แม้ผ่านระยะเวลามานานหลายร้อยปี

เศรษฐีจีนหลายรายอยากได้ไม้พะยูงมาทำเฟอร์นิเจอร์ของตัวเองบ้าง เกิดกระแสความต้องการไม้พะยูงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลให้ไม้พะยูงในป่าภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยถูกลักลอบตัดเป็นจำนวนมาก เพื่อลดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไม้พะยูงในไทย กรมป่าไม้ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จึงส่งเสริมปลูกไม้พะยูงในรูปแบบสวนป่า เพื่อลดการลักลอบตัดไม้พะยูงในป่าธรรมชาติ และอนุรักษ์พันธุกรรมไม้พะยูงให้คงอยู่ในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ศูนย์การเรียนรู้ ไม้ดี มีค่า (ไม้พะยูง)

ปัจจุบัน สวนป่าท่ากุ่มโนโบรุ อูเมดะ จังหวัดตราด เป็นแหล่งปลูกไม้พะยูงใหญ่ที่สุดในประเทศ มีพื้นที่ปลูกไม้พะยูง มากกว่า 700 ไร่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคกลาง จึงได้ดำเนินโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้ไม้ที่มีค่า (ไม้พะยูง)” ณ สวนป่าท่ากุ่ม โนโบรุ อูเมดะ เลขที่ 153 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดตราด (โทร.038-323-964) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศป่าปลูกไม้พะยูง โดยเน้นการจัดการเรียนรู้ ศึกษา วิจัย ดูงาน ด้านสิ่งแวดล้อม กิจกรรมนันทนาการ จัดแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับไม้พะยูง และตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในพื้นที่สวนป่าท่ากุ่ม โนโบรุ อูเมดะ เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างงาน และรายได้สู่ชุมชน รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ อ.อ.ป.

สวนป่าท่ากุ่ม โนโบรุ อูเมดะ

หลายคนคงสงสัยว่า สวนป่าในไทย ทำไม มีชื่อญี่ปุ่น ข้อมูลจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ระบุว่า มร.  โนโบรุ อูเมดะ (Mr. Noboru Umeda) เป็นพันธมิตรคนสำคัญที่มีส่วนสนับสนุนการปลูกป่าในไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมียนมา และเวียดนาม ในนามประธานศูนย์การปลูกป่าต่างประเทศอูเมดะ (OSC-U) ตั้งแต่ ปี 2535

นายโนโบรุ อูเมดะ

นายโนโบรุ อูเมดะ มีแรงบันดาลใจมาจากตอนสงครามโลก ถูกเกณฑ์เป็นทหารมารบในป่าของประเทศไทยแล้วถูกจับตัวเป็นเชลยศึก แต่คนไทยใจดีช่วยให้รอดชีวิตกลับไปทําธุรกิจด้านการเกษตรและป่าไม้ จนมีฐานะร่ำรวยจึงกลับมาตอบแทนบุญคุณคนไทยและป่าไม้ของไทย โดยสนับสนุนเงินทุนแบบให้เปล่าแก่ประเทศไทยกว่า 95 ล้านบาท ภายใต้ชื่อมูลนิธิวนวัฒนวิทยาโพ้นทะเล-อูเมดะ (OSC-U) สำหรับปลูกสร้างสวนป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม 19,996.66 ไร่ ที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของ อ.อ.ป. เช่น สวนป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี สวนป่าคลองตะเกรา จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมทั้ง สวนป่าท่ากุ่ม โนโบรุ   อูเมดะ จังหวัดตราด เป็นต้น (ข้อมูล จากวารสาร เพื่อนป่า ฉบับเดือนมีนาคม 2555)

นายวัชรินทร์ สีนวล หัวหน้างานสวนป่าท่ากุ่ม โนโบรุ-อูเมดะ โทร. 089-026-3194 เล่าว่า งานสวนป่าท่ากุ่ม โนโบรุอูเมดะ มีหน้าที่พัฒนาสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนครบวงจร การปลูกสร้างสวนป่า การเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกประเภทจากสวนป่า วางมาตรการเพื่อป้องกันการบุกรุก ลักลอบตัดไม้ในสวนป่า พัฒนาต่อยอดธุรกิจโดยใช้สวนป่าไม้เศรษฐกิจเป็นฐาน การแผ้วถางป่า การใช้ประโยชน์ไม้ตามนโยบายของรัฐและอื่นๆ ส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ฝึกอบรม และงานด้านวิชาการต่างๆ ของสวนป่าท่ากุ่ม และหมอนไม้-จินตกานนท์จังหวัดตราด

ทีมงานสวนป่าท่ากุ่ม โนโบรุ อูเมดะ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคกลาง

ไม้พะยูง

ไม้พะยูง มีชื่อทางการค้าว่า Blackwood หรือ Rosewood มีชื่อท้องถิ่นในเมืองไทยเรียกแตกต่างกันไป เช่น ประดู่เสน (ตราด) พยุง (ไทย) พยุงไหม (สระแก้ว) กระยูง กะยูง (เขมร สุรินทร์) ขะยุง (อุบลราชธานี) แดงจีน (กบินทร์ ปราจีนบุรี) ประดู่ลาย (ชลบุรี) หัวลีเมาะ (จีน)

ไม้พะยูง พบการกระจายพันธุ์ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ในภูมิภาคอินโดจีน เช่น พม่า กัมพูชา (อุดรมีชัย เสียมเรียบ สตรึงเตร็ง เสียมปาง) ลาว (แขวงบอริคาไซ คำม่วน ซาละวัน เซกอง จำปาสัก และอัตตะบือ) เวียดนาม (กวางนัม เกียไล และคอนตูม) ประเทศไทยพบไม้พะยูงกระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่รอยต่อของป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ที่มีความสูงจากระดับทะเลปานกลาง อยู่ในช่วง 100-775 เมตร ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี อยู่ในช่วง 980-6,463 มิลลิเมตร

ลำต้นไม้พะยูง

วิธีขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ไม้พะยูงมี 4 รูปแบบ คือ การเพาะเมล็ด การปักชำกิ่ง การปักชำราก และการเสียบยอด พบว่า การเพาะเมล็ดเป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ให้อัตราการงอกสูงสุด ร้อยละ 74 เนื่องจากเมล็ดของไม้พะยูงมีความงันที่เปลือก จึงต้องนำเมล็ดไปแช่น้ำเป็นเวลา 24 ชั่วโมงก่อน การงอกของเมล็ดไม้พะยูงนั้น ต้องการวัสดุที่สามารถอุ้มน้ำได้ดี และมีความพรุนมาก เช่น แกลบ หรือขุยมะพร้าว

หลังจากเพาะเมล็ด ไม้พะยูงจะงอกภายใน 7 วัน เมื่อกล้าไม้อายุ 10-14 วัน จะมีความสูงประมาณ 1 นิ้ว มีใบเลี้ยง 1 คู่ จึงสามารถย้ายชำลงในถุงเพาะ ขนาด 4×6 นิ้ว ที่มีส่วนผสมของดินเพาะชำที่เหมาะสมกับกล้าไม้พะยูง คือดินตะกอนริมห้วย : ทราย : ขี้เถ้า : แกลบ : ปุ๋ยหมัก ในอัตราส่วน 4 : 2 : 2 : 1 : 1 โดยทั่วไปกล้าไม้พะยูงจะมีขนาดที่เหมาะสมต่อการย้ายปลูกเมื่อเลี้ยงกล้าไว้ประมาณ 3-5 เดือน และกล้าควรมีความสูงไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร

การปลูกไม้พะยูง

ควรปลูกไม้พะยูงประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม เพราะเป็นช่วงต้นถึงกลางฤดูฝน โดยปลูกในระยะ 2×3 หรือ 3×3 เมตร กล้าไม้พะยูงที่มีอายุ 1 และ 2 ปี ที่ปลูกในระยะปลูก 2×3 เมตร มีความสูงเท่ากับ 1.1 และ 2.1 เมตร ตามลำดับ

ส่วนไม้พะยูงซึ่งปลูกในระยะ 3×3 เมตร มีความสูงเฉลี่ยสูงสุดเมื่อเทียบกับระยะปลูกอื่นๆ เช่น 4×4 หรือ 5×5 เมตร โดยมีความสูงเฉลี่ย เท่ากับ 20.74 เซนติเมตร ทั้งนี้ก่อนปลูกไม้พะยูงควรใส่ปุ๋ย ต้นละ 1    ช้อนชา เพื่อให้กล้าไม้มีปริมาณสารอาหารที่เพียงพอในช่วงระยะแรกของการตั้งตัวและสามารถแข่งขัน กับวัชพืชได้

ลำต้นไม้พะยูง

หลังปลูกต้นพะยูง ควรใส่ปุ๋ยปีละ 3 ครั้ง เนื่องจากกล้าไม้พะยูงยังอยู่ในสภาวะที่แก่งแย่งกับวัชพืช และควรกำจัดวัชพืชอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ช่วงต้นพะยูงยังเล็กอยู่ ควรกำจัดวัชพืชควบคู่ไปกับการป้องกันไฟ

การตัดแต่งกิ่งยังไม่มีความจำเป็นมากนัก เพราะปลูกในระยะแคบ จึงมีการลิดกิ่งเองตามธรรมชาติ ส่วนการตัดขยายระยะขึ้นอยู่กับระยะปลูก และความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ช่วง 3-5 ปีแรกของการปลูก ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงเข้ามาในแปลงปลูก เพราะสัตว์เลี้ยงอาจเหยียบย่ำต้นไม้ กัดกินใบและยอด ซึ่งจะทำให้ต้นไม้เสียรูปทรงและอาจตายได้ ทั้งนี้ สามารถปลูกไม้พะยูงร่วมกับไม้ประดู่ ไม้มะค่าโมง และไม้แดง ฯลฯ

แมลงศัตรูสำคัญ

ไม้พะยูงขนาดใหญ่ เส้นรอบวงตั้งแต่ 76 เซนติเมตร ขึ้นไป มักเสี่ยงต่อการถูกแมลงเข้าทำลายมากกว่าไม้พะยูงที่มีขนาดเล็ก ส่วนไม้พะยูงที่ปลูกด้วยระยะปลูกแคบ เสี่ยงต่อการถูกแมลงเจาะลำต้นพะยูง เข้าทำลายมากกว่าไม้พะยูงที่ปลูกด้วยระยะปลูกที่กว้างกว่า

หากพบแมลงศัตรูสำคัญคือ มอดรูเข็ม ซึ่งเป็นด้วงขนาดเล็ก เจาะรู ขนาด 1-2 มิลลิเมตร บริเวณลำต้น โคนต้น และกิ่ง สามารถควบคุมและกำจัดมอดรูเข็ม โดยใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ

1. สารคลอไพรีฟอส ใช้ผสมน้ำราดที่โคนต้นพะยูง ในปริมาณ 1.5 ลิตร หรือใช้ 2. สารสตาร์เกิ้ล-จี (ไดโนทีฟูเรน) ผลิตในรูปเม็ด หยอดลงหลุม หลุมละ 1 ช้อนชา จำนวน 4 หลุม ต่อต้น ทั้งพบว่า ต้นพะยูงที่ใช้สารคลอไพรีฟอส มีสภาพที่สมบูรณ์มากกว่า และไม่พบปลวกขึ้นที่ลำต้น ขณะที่สารสตาร์เกิ้ล-จี (ไดโนที ฟูเรน) มีปลวกขึ้นที่ลำต้นจำนวนมาก

ต้นไม้พะยูง

สี-ลวดลาย แก่นไม้พะยูง

แก่นของไม้พะยูง เป็นส่วนที่มีมูลค่าที่แท้จริงของเนื้อไม้ทั้งหมด การศึกษาวิจัยพบว่า ลักษณะสี และลวดลายของแก่นไม้พะยูงสามารถแบ่งได้ 4 แบบ คือ

1. ไม้พะยูงไหม หรือไม้พะยูงแดง ในบางท้องที่อาจเรียกว่า แดงจีน แต่คนจีนเรียกแก่นไม้พะยูงแบบนี้ว่า หงมู่ หรือ ลีหัวเมาะ สีพื้นแก่นมีสีออกโทนสีแดงเลือดหมู แดงเลือดนก ปัจจุบันพบในท้องที่ภาคอีสานตอนล่าง (เทือกเขาพนมดงรัก และเทือกเขาสันกำแพง)

2. ไม้พะยูงลาย หรือไม้พะยูงแกลบ สีพื้นแก่นมีสีออกโทนสีเหลือง หรือมีสีพื้นมากกว่าสองสีขึ้นไป มีลายเส้นวงของการเติบโตไม่ชัดเจน โดยลักษณะของลวดลายมีวงการเติบโตเรียงเป็นวงและวงการเติบโตเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ ในบางครั้งพบว่า แก่นมีสีที่ค่อนข้างซีดจาง และมีกระพี้แทรกอยู่ในบางส่วนอีกด้วย พบในบริเวณเทือกเขาภูพาน และเทือกเขาภูพานน้อย

3. ไม้พะยูงดำ สีพื้นแก่นมีสีที่ออกโทนสีแดงอมม่วงเข้มจนถึงน้ำตาลดำ มีแถบลายเส้นวงของการเติบโตกว้าง พบมีทั้งเรียงเป็นวงกลม หรือวงไม่เป็นระเบียบ แก่นของไม้พะยูงดำปัจจุบันพบในท้องที่ภาคอีสานตอนบน เช่น อุทยานแห่งชาติภูพาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว

4.ไม้พะยูงทอง สีพื้นแก่นมีสีที่ออกโทนสีเหลือง เหลืองทอง ส้ม มีแถบลายเส้นวงของการเติบโตแคบเป็นเส้นเรียงเป็นวงกลม ปัจจุบันไม่พบไม้พะยูงทองในป่าธรรมชาติ แต่มีรายงานว่าในอดีตพบในท้องที่จังหวัดนครนายกและสระบุรี

การใช้ประโยชน์

ไม้พะยูง มีสรรพคุณด้านสมุนไพร เช่น โรคปากเปื่อย และโรคปากแตกระแหง ชาวบ้านนิยมใช้เปลือกต้นสดหรือแห้งสับเป็นชิ้น ต้มในน้ำสะอาดเคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง ใช้อมกลั้วคอวันละ 3 เวลา ก่อนหรือหลังอาหาร หรืออาจจะใช้ยางสดจากลำต้นทาบริเวณที่เป็นก็ได้ รักษาอาการไข้พิษเซื่องซึม โดยใช้รากสดหรือแห้ง สับเป็นชิ้นพอประมาณ ต้มในน้ำสะอาดเคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง กรองเอาน้ำดื่มวันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร

เนื่องจากเนื้อไม้พะยูงมีสีสันสวยงาม จึงนิยมใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องกลึงแกะสลัก สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เช่น ตลับ หวี ใช้ทำเครื่องดนตรี เช่น ซออู้ ซอด้วง ขลุ่ย โทน รำมะนา นอกจากนี้ ยังนิยมใช้ไม้พะยูงเลี้ยงครั่ง เพราะให้ผลผลิตสูงถึงต้นละ 50 กิโลกรัม และได้ครั่งคุณภาพดี มาตรฐาน เกรด A

 

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354