“รวย” ด้วยนวัตกรรม ปลูก-แปรรูปเห็ด

การเพาะเห็ด เป็นอาชีพที่มีความสำคัญทางศรษฐกิจอาชีพหนึ่ง มีกรรมวิธีการเพาะที่ไม่ยุ่งยาก ใช้เงินลงทุนไม่มาก ใช้เวลาในการเก็บผลผลิตสั้น ให้ผลตอบแทนเร็ว และสามารถเพาะเห็ดได้ตลอดทั้งปี เกษตรกรและผู้สนใจสามารถเพาะเห็ดเป็นอาหารบริโภคภายในครัวเรือนแล้ว ยังพัฒนาเป็นอาชีพเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดีในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

อาจารย์พิทักษ์ สถิตวรรธนะ (ขวา) นำเสนองานวิจัยแก่ผู้บริหาร วช.-กอ.รมน.

อาจารย์พิทักษ์ สถิตวรรธนะ (โทร. 089-738-6158) อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เล็งเห็นความสำคัญของอาชีพการเพาะเห็ด จึงได้นำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาพัฒนา “ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ” เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตเห็ดอัตราการเกิดดอกเห็ดต่ำ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน โดยคาดหวังว่านวัตกรรมนี้จะช่วยส่งเสริมการสร้างรายได้และลดรายจ่ายค่าครองชีพในภาคครัวเรือน และพัฒนาช่องทางสู่เชิงธุรกิจในอนาคต

ผลผลิตเห็ดที่ได้จากตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้คัดเลือกตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ เข้าประกวดในเวทีนานาชาติ ปรากฏว่า ผลงานชิ้นนี้ ได้รับรางวัลเหรียญเงินสิ่งประดิษฐ์ 2015 จากประเทศไต้หวัน และได้รับรางวัลที่ 1 จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2560 ของมูลนิธิบัวหลวง ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในปี 2562 ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คัดเลือกไปใช้เผยแพร่และขยายผลส่งเสริมอาชีพการเพาะเห็ดให้กับผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ มุกดาหาร นครพนม และจังหวัดเลย คาดว่า ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติจะช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในแต่ละวัน เพราะการเพาะเห็ดเมื่อเทียบกับการผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาในการดูแลมาก แต่ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติเข้ามาแทนการดูแลการเพาะเห็ดแบบเดิม ทำให้เกษตรกรมีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นได้ ที่สำคัญช่วยให้การเพาะเห็ดเป็นเรื่องง่ายและผลิตเป็นสินค้าออกขายได้ตลอดทั้งปี

ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ  

ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ

ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ มีโครงสร้างเป็นตู้อะลูมิเนียม ขนาดตู้ กว้าง 80 เซนติเมตร สูง 100 เซนติเมตร พร้อมติดด้วยผนังวัสดุกันความร้อนที่ทำจาก PVC ทั้ง 4 ด้าน มีการจัดวางกล่องควบคุมบริเวณหน้าตู้อะลูมิเนียม เพื่อใช้สำหรับควบคุมการทำงานภายในตู้ และผู้ใช้สามารถเห็นตัวเลขของอุณหภูมิภายในตู้ และสามารถปรับตั้งอุณหภูมิได้ตามความต้องการของผู้ใช้ให้เหมาะสมกับชนิดเห็ดที่เพาะได้

ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของดอกเห็ดให้ได้สูง ถอดออกทำความสะอาดง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก ติดตั้งไม่ยาก

สำหรับปริมาณผลผลิตต่อรอบการปลูก ต้องแบ่งระยะการออกดอกครั้งแรกภายใน 4-5 วัน ผลผลิตแบ่งเป็น 3 ระยะ

สัปดาห์ที่ 1 เก็บผลผลิตได้ 3-5 กิโลกรัม

สัปดาห์ที่ 2 เก็บผลผลิตได้ 3 กิโลกรัม

สัปดาห์ที่ 3 ผลผลิตจะออกสม่ำเสมอ 2-3 ขีด ภายใน 3 วัน ก้อนเชื้อเห็ด ประมาณ 120 ก้อน สามารถผลิตเห็ดได้ เฉลี่ยต่อก้อน 3-4 ขีด หากก้อนเชื้อเห็ดสมบูรณ์ และอุณหภูมิเหมาะสมที่ประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส จะได้เห็ด 36-40 กิโลกรัม ต่อวัน ได้ 40 บาท ต่อ 1 ตู้เพาะเห็ด

ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติสำหรับชุมชน

อาจารย์พิทักษ์ กล่าวถึงวิธีการเพาะเห็ดในตู้เพาะเห็ดขนาดเล็กว่า จะช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตในการเพาะเห็ดแบบเดิม เนื่องจากขาดการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาตู้เพาะเห็ดให้มีขนาดเล็ก สามารถจัดเรียงเห็ดให้หันปากถุงเข้าหากันในรูปตัวยู (U-Shape) ขนาดไม่เกิน 140 ก้อน จะช่วยเพิ่มความชื้นให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ดในถุงเพาะ ส่งผลทำให้มีอัตราการเกิดขึ้นของดอกเห็ดสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ (ถุงเพาะเห็ดสมบูรณ์) ลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในการเพาะเห็ดที่ปริมาณมากและขาดการดูแลที่ทั่วถึง

ตู้เพาะขนาดเล็กสามารถถอดประกอบและเคลื่อนย้ายได้ง่าย ส่งผลดีต่อการเปลี่ยนที่เพาะเห็ดได้ตามต้องการ ไม่ต้องเสียเวลาพักโรงเรือนเพาะเห็ดเพื่อทำความสะอาด ป้องกันเห็ดติดเชื้อ อันเนื่องมาจากกความไม่สะอาดของโรงเรือน และการจำกัดการเพาะเห็ดให้อยู่ในพื้นที่จำกัดแยกเป็นส่วนๆ ในตู้ จะส่งผลดีต่อการป้องกันการติดเชื้อจากศัตรูเห็ด เช่น ราดำ ราเขียว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังช่วยการควบคุมผลผลิตของเห็ด ให้ได้ปริมาณตามความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงได้ง่ายกว่าการเพาะเห็ดแบบโรงเรือนใหญ่

นอกจากนี้ การออกแบบด้วยวิธีเพิ่มความชื้นภายในตู้เพาะเห็ดแบบปล่อยน้ำลงมาแทนการสเปรย์น้ำออกมาเป็นฝอยเล็กจะช่วยประหยัดพลังงาน ลดเวลาการดูแล อุปกรณ์ที่ใช้ราคาประหยัดหาได้ทั่วไป ใช้พลังงานต่ำ (10 Watt/130 ถุงเพาะเห็ด) ใช้เวลา 4 วัน ในการเก็บผลผลิต เมื่อเปิดหน้าดอกเห็ดครั้งแรก ที่ผ่านมา ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติได้รับการสนับสนุนเป็นนวัตกรรมสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรในระดับท้องถิ่น เช่น อำเภอสทิงพระ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จังหวัดชุมพร และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาตู้เพาะเห็ดสำหรับชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด เป็นต้น

แปรรูปเห็ดแครง เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ

เจาะตลาดผู้สูงวัยและผู้รักสุขภาพ

ในวันนี้ ประเทศไทยก้าวสู่ยุคสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว ภาวะการเสื่อมถอยของระบบภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นและการตอบสนองต่อวัคซีนที่ลดลง ตลอดจนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกำจัดเซลล์มะเร็งของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้อุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ

ดร. กานต์สุดา วันจันทึก อาจารย์ประจำภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตบางเขน (โทร. 02-579-5514 [email protected]) เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้มุ่งศึกษาเห็ดพื้นบ้านไทยที่มีปริมาณเบต้ากลูแคนสูงและมีศักยภาพในการกระตุ้นการจับกินเชื้อโรคด้วยวิธีฟาโกไซโทซิสในเซลล์แมคโครฟาจได้สูง เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปที่ใส่ใจสุขภาพ

“เห็ดแครง” สุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพ  

ผลการศึกษาพบว่า “เห็ดแครง” มีปริมาณเบต้ากลูแคนสูงที่สุด รองลงมาคือ เห็ดลม เห็ดนางนวล เห็ดเผาะ เห็ดขอนขาว และเห็ดหอม ตามลำดับ นอกจากนี้ “เห็ดแครง” มีศักยภาพในการกระตุ้นการจับกินเชื้อโรคในเซลล์แมคโครฟาจได้สูงที่สุดกว่าเห็ดทุกชนิด ผู้วิจัยจึงได้นำเห็ดแครงมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 2 ชนิด คือ เห็ดแครงอบแห้ง และเห็ดแครงทอดกรอบ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม 2 ชนิด คือ ชาเห็ดแครง และชาเห็ดแครงรสใบเตย โดยเลือกสภาวะที่รักษาปริมาณของเบต้ากลูแคนได้มากที่สุด

เห็ดแครง

เห็ดแครง มีปริมาณเบต้ากลูแคนและฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงที่สุด และยังมีกลิ่นหอมและมีรสชาติดี สามารถพัฒนาเป็นชาเห็ดแครง 2 สูตร ได้แก่ สูตรต้นตำรับ และสูตรรสใบเตย ซึ่งเหมาะสมแก่ผู้บริโภคที่รักสุขภาพและผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นชาที่ไม่มีกาเฟอีน นอกจากนี้ ยังนำเห็ดแครงมาพัฒนาเป็นเห็ดแครงทอดกรอบได้ เนื่องจากเห็ดแครงมีรสชาติดีและมีหมวกเห็ดขนาดเล็กเมื่อนำมาทำเป็นขนมขบเคี้ยว จึงมีชิ้นขนาดพอคำ และมีรสชาติอร่อยเหมาะสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย โดยเลือกสภาวะในการผลิตที่ให้เบต้ากลูแคนสูงที่สุด

แครกเกอร์เห็ดแครง และเห็ดแครงอบแห้ง
ชาเห็ดแครงผสมใบเตย

ดังนั้น นักวิจัยจึงได้แนะนำให้ผู้สูงอายุและผู้รักสุขภาพเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เห็ดแครงมาบริโภคเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนสามารถรวมกลุ่มกันเพิ่มรายได้จากการเพาะเห็ดเพื่อสุขภาพและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเห็ดพื้นบ้านไทยที่มีศักยภาพในการเพาะได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง