ทุเรียนแพร่ สวนลุงละไม้-ป้าปั้นหยา มีการจัดการสวนที่ดี ผลผลิตปีแรก ได้ราคาพึงพอใจ

ณ ห้วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ เกิดกระแสทุเรียนฟีเวอร์ และถือว่าเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปยังต่างประเทศมากกว่ามูลค่าขายภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาขายทุเรียนในประเทศสูงตามขึ้นไปด้วย  ราคาจึงเป็นที่หมายตาหมายใจของเกษตรกร ในการแสวงหากิ่งพันธุ์ทุเรียนมาปลูก ทั้งมีการปรับเปลี่ยนพืชเดิมหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น จนมีผู้ที่ปริวิตกว่าปริมาณทุเรียนจะล้นตลาด ก็มีข้อน่าพิจารณาว่าทุเรียนเป็นพืชที่ปลูกได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทยหรือไม่

คนที่ปลูกทุเรียนมีประสบการณ์องค์ความรู้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะการรู้ลึก รู้จริง ในเรื่องลักษณะนิสัยของทุเรียนเรื่องความชอบหรือไม่ชอบเกี่ยวกับสภาพอากาศหรือลมฟ้าอากาศ (ลักษณะอากาศแบบใด และอุณหภูมิที่เหมาะสม) ความชื้นในอากาศ (สัมพัทธ์มากน้อยเพียงใด) ดินหรือชนิดของดิน (ดินชนิดใด มีความเป็นกรด ด่างเท่าไร) น้ำ (มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาลหรือไม่) กับการดำรงชีวิตของต้นทุเรียนก็ควรจะรู้ด้วย

เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนมีทั้งที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน จึงยากต่อการแนะนำส่งเสริมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญปลูกไปแล้วที่ประสบความสำเร็จก็มี ที่ล้มเหลวก็มาก

ที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่  มีหลายพื้นที่ที่เกษตรกรเพาะปลูกทุเรียนได้ อย่างเช่น ที่ตำบลทุ่งแล้ง แม่ปาน ปากกาง บ่อเหล็กลอง และตำบลห้วยอ้อ แต่ขาดข้อมูลตัวเลขที่เกี่ยวกับจำนวนเกษตรกร/ครัวเรือน จำนวนเนื้อที่ ผลผลิต ผมมีข้อมูลจากการลงพื้นที่ไปศึกษาพื้นที่ปลูกและสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมา 3 ราย ที่มุ่งมั่นจะปลูกทุเรียนเชิงการค้า

แปลงปลูกทุเรียน ตำบลห้วยอ้อ ต้นอายุ 3 ปี สมบูรณ์ดีมาก ใบเขียวเป็นมัน

รายแรก เป็นผู้มีประสบการณ์ในการปลูกทุเรียนมาพอสมควร พื้นที่ดินเป็นพื้นที่ราบ เดิมปลูกส้มเขียวหวาน หลังจากล้มไม้เดิม ก็ขุดหลุมปลูกต้นทุเรียน โดยใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเมล็ด นำมาลงปลูก จำนวน 150 ต้น ยกโคก  พูนดินรอบโคนต้น ใช้วัสดุคลุมโคนต้น ทำที่กำบังแดดให้ด้วย จ่ายน้ำด้วยระบบน้ำหยด เวลาผ่านไป 4 เดือน พ้นหน้าแล้งต้นทุเรียนตายทั้งหมด เขาสู้ต่อ…ปลูกใหม่…ครั้งนี้ใช้ต้นพันธุ์จากการเปลี่ยนยอด นำลงปลูกที่หลุมเดิม ที่ต้นเดิมตาย ผ่านไป 4 เดือน ต้นที่ตายไปก็มี ที่เหลือก็กำลังแตกยอดใหม่ รอผลอีกสักระยะ ผมจะนำมาเสนอใหม่

รายที่สอง ปลูกทุเรียน จำนวน 100 ต้น พื้นที่ตรงนั้นเป็นหุบเขา สลับเนินเขาเตี้ยๆ มีลำห้วย ด้านตะวันตกมีเนินเขาและสวนยางพาราช่วยบังแดดในช่วงบ่าย ดินเป็นดินตะกอนจากลำห้วย อากาศค่อนข้างเย็นและชื้น ผลปรากฏว่าไม่มีต้นทุเรียนตายเลยแม้แต่ต้นเดียว ขณะนี้ต้นทุเรียนมีอายุ 2 และ 3 ปี จากนั้นผมก็ไปดูเกษตรกร รายที่สาม ที่ได้นำเนื้อหามาให้ท่านได้อ่าน และรับรู้ว่าเกษตรกรรายนี้มีแนวคิด วิธีการปลูก การดูแลสวนทุเรียนเช่นไร

ป้าปั้นหยา และ ลุงละไม้ พงษ์ทอง เจ้าของสวนทุเรียน

เกษตรกร คุณลุงกับคุณป้า 2 คน ผู้เข้มแข็งแห่งบ้านอ้ายลิ่ม คุณลุงละไม้ พงษ์ทอง อายุ 76 ปี แล้วนะครับ กับ คุณป้าปั้นหยา พงษ์ทอง อายุ 70 ปี อยู่บ้านเลขที่ 50/2 หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่

ทั้ง 2 คน ป้ากับลุง เดิมปลูกไม้ผลจำพวกเงาะ ลองกอง มังคุด และสวนยางพารามาก่อน แล้วเมื่อ 18 ปี ต่อมาก็เพิ่มแปลงปลูกทุเรียนมาได้ 7 ปีแล้ว

ลุงละไม้ ได้กล่าวถึงแนวคิดที่เริ่มลงมือปลูกไม้ผลให้ฟังว่า เมื่อหลายปีก่อนได้มาซื้อที่ดินบริเวณนี้ เห็นว่าเป็นแปลงติดแม่น้ำยม ก็คิดว่าน่าจะมีน้ำท่าบริบูรณ์ ก็ลงทุนปลูกไม้ผล ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2555 ทดลองนำกิ่งพันธุ์ทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรีมาปลูก เป็นพันธุ์หมอนทอง จำนวน 80 ต้น แต่ปีนั้นมีอากาศหนาวเย็นจัด ส่งผลให้ต้นทุเรียนล้มตายไปบ้าง เหลืออยู่เพียง 32 ต้น ก็มีอายุ 7 ปีแล้ว และก็ให้ผลผลิตปีแรกที่น่าภาคภูมิใจ นอกจากทุเรียนหมอนทองก็ยังคงเหลือพันธุ์พวงมณี พันธุ์ชะนี อย่างละไม่กี่ต้น

ทีมงานของเกษตรอำเภอและป้าปั้นหยา

เหตุผลที่ลุงและป้าเลือกปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เพราะเห็นว่ามันติดผลง่าย ติดผลแล้วได้จำนวนผลมาก แต่ละผลมีเนื้อเยอะ คุณภาพดี แม้สุกงอมเนื้อก็ไม่แฉะ เมล็ดลีบ ตลาดยังมีความต้องการสูง ป้าปั้นหยา บอกว่า “ที่สวนของป้าไม่ได้มีเฉพาะทุเรียนนะ ยังมีส้มเขียวหวาน เงาะ มังคุด ลองกอง และยางพารา บนเนื้อที่ทั้งหมด 25 ไร่ ไม้พวกนี้ปลูกมาก่อนทุเรียนหลายปีมาแล้ว”

แม้ปัจจุบัน ณ สวนแห่งนี้ จะมีพันธุ์ทุเรียนหมอนทองเป็นพระเอก เหลือเพียง 32 ต้น และออกผลเป็นปีแรก แถมขายได้ราคาดีมาก แต่เมื่อ 3 เดือนก่อน ลุงและป้าได้ซื้อต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทองมาปลูกเพิ่ม ทดแทนต้นที่ตายไปและไม่มีต้นใดตาย ซ้ำยังเติบโตได้เร็วมาก

ลุงและป้า พาผมเข้าไปดูในสวน เห็นแปลงปลูกไม้ผลผสมผสานแล้วน่าชื่นใจ มีการจัดการพื้นที่ที่ดีสะอาดตา วางระบบน้ำไว้ใต้ดินทั้งแปลง อยากรู้จังว่าลุงและป้าดูแลเอาใจใส่อย่างไร

ทุเรียนอายุ 7 ปี ทรงพุ่มมีเรือนต้นสวย

ลุงละไม้ เล่าว่า “ตอนเริ่มต้นปลูกไม้ผล ก่อนจะปลูกทุเรียนก็คิดวางแผนนะว่าจะปลูกอะไร ตรงไหน วาดผังแปลงปลูก  วางระบบน้ำให้ครอบคลุมทั้งแปลง โดยใช้หัวสปริงเกลอร์เดินท่อน้ำฝังไว้ใต้ดิน สูบน้ำขึ้นมาจากแม่น้ำยมผ่านท่อเมน 3 นิ้ว ทดขนาดท่อเข้าแปลงปลูกเป็น 2 นิ้ว และเข้าท่อจ่ายน้ำ 6 หุน ต้นละ 2 หัวสปริงเกลอร์ การปลูกไม้ผลใช้รูปแบบลูกห้า ลุงละไม้บอกให้ลองนึกถึงภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัสมี 4 มุม แต่ละมุมจะปลูกต้นเงาะ ตรงกลางของพื้นที่สี่เหลี่ยมจะปลูกต้นลองกองกับต้นมังคุดเป็นล็อกๆ สลับกันไป (ดูแผนภาพประกอบ)

ลุงละไม้ บอกว่าตอนนี้ต้นไม้ผลมันใหญ่โตมากแล้วอาจจะนึกไม่ออก ก็เลยพาไปดูที่แปลงปลูกดังกล่าว พบว่า ต้นเงาะแตกกิ่งก้านมีทรงพุ่มใหญ่แล้ว แต่จะเห็นต้นลองกองและต้นมังคุดไม่ใหญ่เท่า ลุงบอกว่าเป็นเพราะต้นลองกองกับมังคุดมันโตช้ากว่า ลุงเลยนำมาปลูกไว้ตรงกลาง ที่เรียกว่า ลูกห้า

ต้นนี้อายุ 3 เดือน ปลูกซ่อมต้นที่ตาย

ส่วนแปลงปลูกทุเรียน ซึ่งเป็นแปลงใหม่สังเกตเห็นว่าต้นโตมาก แต่สูงเพียง 5 เมตร ลุงละไม้บอกว่าเป็นผลมาจากการควบคุมทรงพุ่มโดยการตัดแต่งปลายยอดและปลายกิ่ง ป้องกันความเสียหายจากลมพายุ และสะดวกในการเก็บผล  บางช่วงก็เป็นพื้นที่ฟันหลอ ซึ่งเป็นผลจากต้นทุเรียนเดิมตาย เพราะเจออากาศหนาวเย็นจัด ใบแก่ค่อยๆ ร่วงหล่น พอแตกใบอ่อนออกมา ต้นก็ตาย ลุงก็เลยซื้อต้นพันธุ์ส้มเขียวหวานมาปลูกแทน แต่ปลูกข้างๆ ต้นทุเรียนที่ตายไป  ปัจจุบัน ลุงละไม้ บอกว่าได้นำต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทองลงปลูกแทนจนครบถ้วนแล้ว และเมื่อต้นทุเรียนใหญ่ขึ้นก็จะทยอยตัดต้นส้มเขียวหวานออกเท่าที่จำเป็น

ปลูกทุเรียน แบบไม่อิงหลักวิชาการเกษตร

ลุงละไม้ บอกว่า ตอนเริ่มปลูกทุเรียนก็ไม่ได้มีการปรับพื้นที่แต่อย่างใด วัดระยะห่างต่อต้น 10 เมตร ขุดหลุมตื้นๆ นำต้นพันธุ์ทุเรียนลงปลูก แต่ที่สำคัญต้องพูนดินขึ้นเป็นหลังเต่าแล้วพรวนดินโดยรอบให้ร่วนซุย ลุงละไม้ บอกอีกว่า “ลุงคิดว่าทุเรียนไม่เลือกดิน ดินแบบไหนๆ ทุเรียนก็ปลูกได้ ถ้าพื้นที่นั้นปลูกยางพาราได้ก็โอเค” จากนั้น ก็ดูแลให้เขาเติบโต โดยเฉพาะช่วงปีที่ 1-5 ก่อนออกดอกเกิดผล

ช่วงดอกบานและหางแย้ต้องดูแลเป็นพิเศษ

น้ำ จ่ายผ่านทางท่อด้วยหัวสปริงเกลอร์ สูบน้ำมาจากแม่น้ำยม และจากสระน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดไว้เป็นน้ำสำรอง ให้น้ำเพียง 5 วัน ต่อครั้ง ในหน้าแล้ง ส่วนหน้าฝนไม่ต้องให้น้ำ อาศัยน้ำฝน “ที่ว่า 5 วัน เนี่ย ต้อง 5 วัน สม่ำเสมอนะ จะมาให้น้ำ 5 วัน ต่อครั้ง หรือ 10 วัน ต่อครั้ง บ้างอย่างนี้ไม่ดี”

ปุ๋ย ให้ปุ๋ยเคมี โดยเปลี่ยนสูตรไปตามอายุและการเติบโตของต้นทุเรียน ตัวอย่าง ต้นทุเรียนตั้งแต่เริ่มปลูกไปได้ 2-3 เดือน จะให้ปุ๋ย สูตร 12-3-3 ต้นละเล็กน้อย แต่ให้บ่อยครั้ง ต้นโตขึ้นมาหน่อยก็เปลี่ยนเป็นสูตรเสมอ 15-15-15 ให้ไปจนต้นโตพร้อมออกดอก ก็จะถึงการให้ปุ๋ยเร่งดอก ซึ่งต้นทุเรียนเข้าช่วงอายุปีที่ 6 ให้ปุ๋ย สูตร 8-24-24 เพื่อส่งเสริมให้ทุเรียนติดผลดี ผลใหญ่มีพูที่เปล่งปลั่ง เมื่อต้นพร้อมจะออกดอกก็จะปฏิบัติการให้เกิดสภาวะเครียด หากต้นที่สมบูรณ์มีใบแก่ที่ผ่านแล้ง 10-15 วัน กอปรกับมีอากาศหนาวเย็นเล็กน้อยจะผลิดอก

คณะจากเกษตรอำเภอลองมาส่งเสริมแนะนำ

ยา/สารกำจัดศัตรูทุเรียน ป้าปั้นหยา บอกว่า “ป้าจะต้องเข้าสวนบ่อยๆ บ้านห่างจากสวนเพียง 200 เมตร เดินสำรวจดู หมั่นสังเกตรอบๆ สวน ดูต้น ดูใบ มีอะไรผิดสังเกตบ้าง ก็มีความสุขดี ได้ออกกำลังกายด้วย บางครั้งป้าออกจากบ้านไปที่อื่นสักวันสองวัน กลับมาก็คิดถึงเขา…ต้องเข้าไปดู…ดูแล้วสบายตา สบายใจ”

ป้าปั้นหยา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เคยพบเห็นที่บริเวณลำต้นทุเรียนถูกหนอนเจาะ “ป้าใจไม่ดี เรียกให้ลุงมาดู ช่วยกันใช้วัสดุเขี่ยตัวหนอนออกมา แล้วใช้ปูนแดงอัดเข้าไปในรู และทาที่รอยแผลต้นนั้น…เดี๋ยวนี้ก็ยังมีรอยแผลอยู่นะ แต่ต้นก็โตมากแล้วให้ผลดกดี

วัชพืช ป้าปั้นหยา บอกไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ได้แต่จ้างคนงานมาตัดหญ้าให้ จะเห็นบริเวณในสวนสะอาดสะอ้านตาสุดๆ  นับเป็นการจัดการสวนที่ดี

ควบคุมทรงพุ่มและลำต้นไม่ให้สูงเกิน 5 เมตร

ดูแลทุเรียนด้วยความเอาใจใส่

ลุงละไม้ กล่าวว่า ทุกๆ ปี ทุเรียนจะออกดอกราวๆ เดือนธันวาคม… ปี 2562 นี้เพิ่งจะตัดผลครั้งสุดท้ายไปเมื่อเดือนมิถุนายน แต่นี่เดือนตุลาคม (2562) เริ่มทยอยออกดอกแล้ว แต่ลุงต้องการดอกรุ่นหลังที่ออกดอกเต็มทั่วทั้งต้น แล้วเลือก…เก็บไว้เฉพาะดอกที่สมบูรณ์ที่สุด เพื่อให้ติดผลเพียงต้นละไม่เกิน 50 ผล ก็พอแล้ว

ทุเรียนของสวน ลุงละไม้ – ป้าปั้นหยา ให้ผลผลิตดีเมื่อต้นอายุปีที่ 7 นับเป็นปีแรกที่ให้ผลและต้นยังสาวเมื่อเก็บผลหมดต้น ตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ผสมกับสูตร 46-0-0 เริ่มให้น้ำและดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อให้ต้นฟื้นตัวเร็ว แตกใบอ่อนอย่างมีคุณภาพ เพียง 15 วัน ก็จะเริ่มแตกใบอ่อน รอไป 3 รุ่น ใบก็จะเร่งทำดอกติดผลอ่อน มีพัฒนาการของผลจนแก่จัดและเก็บผลได้ ใช้เวลา 4 เดือน นับจากดอกทุเรียนบาน สรุปการให้ปุ๋ยก็คือ ให้หลังตัดแต่งกิ่ง ระยะออกดอก ระยะติดผล ระยะขยายผล

ต้นนี้เคยถูกหนอนเจาะลำต้น แต่รักษาได้ทัน

ผลผลิตปีแรก น่าภาคภูมิใจ

ป้าปั้นหยา กล่าวอย่างภาคภูมิใจกับผลผลิตปีแรก มีคนรับซื้อจากตลาดในท้องถิ่น ตัดได้ 2 รุ่น รุ่นแรก ขายได้ราคากิโลกรัมละ 120 บาท รุ่นที่ 2 กิโลกรัมละ 100 บาท นับว่าขายได้ราคาที่ดีในระดับท้องถิ่น “คนซื้อเขาพอใจกับคุณภาพของทุเรียน มีรสชาติหวานมัน เมล็ดลีบ ผลสวย พูใหญ่ แม้จะติดผลต่อต้นยังได้ไม่มากพอ แต่ก็ดีใจเมื่อเห็นผลผลิตดีๆ ออกจากสวนไปยังผู้บริโภค” ป้าปั้นหยา กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

ลุงละไม้ กล่าวตอนท้ายว่า “ก็ดีใจนะที่มีคนเข้ามาดูสวน ลุงก็อยู่กัน 2 คน จะได้มีเพื่อนคุย ใครจะเข้ามาก็ยินดี” ลุงละไม้ให้หมายเลขโทรศัพท์ไว้ 093-210-1574

แนวทางการส่งเสริมของสำนักงานเกษตรอำเภอลอง

คุณฤทัยทิพย์ จุมพิศ เกษตรอำเภอลอง กล่าวว่า “ทุเรียนเป็นผลไม้เขตร้อน ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเรามีศักยภาพสูงในด้านการผลิตทุเรียนคุณภาพดี สามารถสร้างชื่อเสียงด้านคุณภาพและรสชาติที่ดีที่สุดในโลก ทุเรียนจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้เมืองร้อน” เนื่องจากทุเรียนมีความแปลกทั้งรูปร่าง กลิ่น และรสชาติ กล่าวคือ มีผลขนาดใหญ่และมีหนามเป็นจำนวนมาก เพื่อทุเรียนมีรสชาติอร่อย  หวานมัน กลิ่นหอม และมีคุณค่าทางอาหารสูง ทุเรียนจึงเป็นที่รู้จักและนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ”

คุณฤทัยทิพย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการพัฒนาการปลูกทุเรียนของอำเภอลอง ว่าอำเภอลอง มีพื้นที่ปลูกทุเรียนจำนวน 103 ไร่ ส่วนมากปลูกที่ตำบลทุ่งแล้ง จำนวน 87 ไร่ และตำบลแม่ปาน 16 ไร่ เกษตรกร จำนวน 23 ราย พันธุ์ที่ปลูกส่วนมากเป็นพันธุ์หมอนทอง เป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการมากที่สุด และราคาดี

ปัญหาในการส่งเสริมการผลิตทุเรียน

  1. ด้านคนหรือเกษตรกรผู้ผลิต

– สูงอายุ

– ขาดเทคโนโลยีการผลิต

– ขาดการรวมกลุ่ม (ผลิต รวมผลผลิต) ที่เข้มแข็ง

– ขาดแคลนแรงงาน

  1. สภาพพื้นที่

2.1 พื้นที่ไม่เหมาะสม สูง/ลาดชัน การถือครองที่ดิน ไม่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ จึงมีปัญหาเรื่องการขอใบรับรอง GAP

2.2 แหล่งน้ำ ไม่เพียงพอตลอดฤดูการผลิต

2.3 การขนส่ง ในสวนลำบาก ยุ่งยาก ไม่ปลอดภัย

  1. ปัญหาพืช

3.1 ต้นพืช (ต้นตอไม่ต้านทานโรค)

3.2 ทุเรียน มีศัตรูรบกวนมาก อ่อนแอต่อโรค เช่น รากเน่าโคนเน่า ราสีชมพู ไรแดง และเพลี้ย

3.3 การจัดการคุณภาพผลผลิต

– อ่อน (เก็บเกี่ยวไม่เหมาะสม)

– หนอนเจาะเมล็ด เจาะผล

– เน่า ผลเน่า เนื้อแกน เต่าเผา (การแตกใบอ่อน)

– ไส้ซึม (ปริมาณฝนมาก)

ลักษณะพื้นที่ปลูกทุเรียนผสมกับส้มเขียวหวาน

มีแนวโน้มการเพิ่มพื้นที่ปลูก เนื่องจาก

  1. ราคาผลผลิตดี เกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้น
  2. ตลาดใน/ต่างประเทศ ต้องการเพิ่มขึ้น
  3. ผลตอบแทนต่อไร่สูง

เกษตรกรลดพื้นที่พืชเศรษฐกิจอื่น (ยาง ปาล์ม) มาปลูกทุเรียน (พื้นที่เหมาะสม/มีน้ำเพียงพอ)

มาตรการรองรับวิสัยทัศน์

มาตรการเชิงรุก

  1. การพัฒนาองค์กรเกษตรกร

– รวมกลุ่มที่มีแนวคิดเดียวกัน ด้านการผลิต รวบรวมและการจำหน่าย

– อบรมความรู้ เรื่องการคัดทุเรียนให้แก่มือตัด มือคัด ผู้ประกอบการและเกษตรกร

  1. การลดต้นทุน

– ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ หรือปุ๋ยสั่งตัด ส่งเสริมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)

สำนักงานเกษตรอำเภอลอง โทร. 054-581-486