แมลงดำหนาม ศัตรูสำคัญของมะพร้าว ระยะนี้ต้องระวัง มีวิธีจัดการอย่างไร

อาการที่เล่ามาเป็นการเข้าทำลาย หรือการระบาดของ แมลงดำหนามมะพร้าว ถูกต้องแล้วครับ แมลงชนิดนี้อดีตเคยระบาดอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย การเข้าทำลายเกิดได้ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย แมลงเริ่มเข้าไปอาศัยอยู่ในหลืบใบอ่อนมะพร้าวที่ยังไม่คลี่ออก การระบาดรุนแรงจะทำให้ยอดมะพร้าวแห้ง สีน้ำตาลอ่อน ชาวบ้านเรียกอาการนี้ว่า มะพร้าวหัวหงอก รูปร่างของแมลงดำหนามมะพร้าว มีความยาวของลำตัวมากกว่าความกว้างหลายเท่า หลังผสมพันธุ์แล้วแมลงเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-5 ฟอง ฟักออกเป็นตัวภายใน 4 วัน ระยะเป็นตัวหนอน 21 วัน เข้าดักแด้อีก 2-7 วัน ก่อนพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย เพศเมียมีอายุไข 54 วัน ส่วนเพศผู้มีอายุไข 65 วัน โดยประมาณ

ในกรณีมะพร้าวมีอายุหลายปี ต้นสูงมากแล้ว การฉีดพ่นสารเคมีทำได้ยาก กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แนะนำให้ใช้แตนเบียนเวียดนาม แมลงชนิดนี้ตัวเต็มวัยมีขนาดลำตัวยาวเพียง 0.5-0.7 มิลลิเมตร มีปีกสีใส 2 คู่ แตนเบียนชนิดนี้จะทำลายเฉพาะหนอนแมลงดำหนามมะพร้าวเท่านั้น การเข้าทำลายโดยเพศเมีย ตัวเต็มวัยหลังจากผสมพันธุ์แล้ว ใช้อวัยวะแหลมแทงเข้าที่ตัวหนอนแมลงดำหนามแล้ววางไข่ ภายในไม่กี่วันจะฟักออกเป็นตัวหนอนดูดกินของเหลวภายในตัวหนอน ในที่สุดตัวหนอนแมลงดำหนามก็ตาย การป้องกันกำจัดด้วยวิธีนี้ได้ผลดีและปลอดภัย

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ในวัน และเวลาราชการ