ระวัง โรคกิ่งแห้งทุเรียน จะดับฝัน เกษตรกรนักลงทุน

ในระยะ 3-4 ปีมานี้ คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “โค่นยางพารา หันมาปลูกทุเรียน” ซึ่งจากสภาพความต้องการของตลาด และราคา ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้จริง และไม่เฉพาะแต่ยางพารา พืชเศรษฐกิจอื่น ทั้งเงาะ ส้ม และกาแฟ ก็โดนด้วย เพราะราคาและคำสั่งซื้อทุเรียนจากจีนมันล่อตาล่อใจ

กิ่งแห้งเกิดจากเชื้อรา Fusarium solani มีอาการแห้งจากปลายกิ่งลามเข้ามา ต่อมาใบจะเหลือง

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ระบุว่า ในปี 2560 ทั่วประเทศแห่ปลูกเพิ่มไปแล้วกว่า 5 หมื่นไร่ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกทุเรียนมากเป็น อันดับ 1 ของโลก สายพันธุ์ทุเรียนที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ ทุเรียนสายพันธุ์หมอนทอง ในปี พ.ศ. 2561 พบว่าปริมาณการส่งออกทุเรียนรวมของประเทศสูงถึง 530,226 ตัน มากกว่าปี พ.ศ. 2560 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 16,343 ตัน แสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของตลาดทุเรียนไทยมีมูลค่าสูงขึ้น โดยคิดเป็นสัดส่วน 80% ของส่วนแบ่งตลาดโลก สำหรับคู่แข่งทางการตลาดที่สำคัญของไทย ได้แก่ เวียดนาม และมาเลเซีย (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2561)

เกิดรากเน่า โคนเน่า สาเหตุจาก Phytophthora Palmivora

ปัญหาใหญ่ของการปลูกทุเรียนคือ ปัญหาทางด้านโรคพืช ได้แก่ โรครากเน่าโคนเน่า ที่มีมาช้านานแล้ว นักวิจัย ก็พบแล้วว่าเกิดจากเชื้อราที่สำคัญคือ ไฟทอปทอร่า พาลมิวอร่า (Phytophthora palmivora) อาการที่แสดงออกคือ มีแผลสีน้ำตาลเข้มโคนต้น ฉ่ำน้ำ เนื่องจากระบบรากถูกทำลาย   

นอกจากนี้ ยังมีเชื้อราอีก ได้แก่ เชื้อราลาสิโอดิปโพลเดีย ทีโอโบรมี (Lasiodiplodia theobromae) สาเหตุโรคผลเน่า หรือเชื้อราไรซอคโทเนีย โซลาไน (Rhizoctonia solani) สาเหตุโรคใบติดของทุเรียน เป็นต้น

เกิดรากเน่าโคนเน่า สาเหตุจาก เชื้อรา Phytophthora palmivora

แต่เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยพบว่า ทุเรียน มีอาการ กิ่งแห้ง บริเวณกิ่งมีเชื้อราสีขาวเจริญเป็นหย่อมๆ ใบที่ติดปลายกิ่งมีสีเหลืองและร่วงไป ซึ่งถ้ามองเผินๆ เกษตรกรอาจจะคิดว่า เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่า พาลมิวอร่า สาเหตุเดียวกับโรครากเน่าโคนเน่า แต่นักวิจัยทดลองแยกเชื้อ ได้เชื้อราฟิวซาเรียม โซลาไน (Fusarium solani) และเมื่อปลูกเชื้อกลับเข้าไปที่ต้นกล้าทุเรียน อายุ 5 เดือน พบบริเวณกิ่งเกิดอาการเช่นเดิม จึงสรุปออกมาว่า เชื้อราฟิวซาเรียม โซลาไน เป็นเชื้อสาเหตุโรคกิ่งแห้งทุเรียน ซึ่งตอนนี้ระบาดมากแถวจังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพบได้ในเขตจังหวัดจันทบุรีเช่นกัน

ใบเหลืองเกิดจากเชื้อรา Fusarium solani

ทั้งนี้ การทราบว่า เกิดจากเชื้ออะไร สำคัญอย่างไร

สำคัญตรงที่ว่า เวลาแก้ปัญหาก็จะแก้ได้ตรงจุด ถ้าไม่ทราบว่าเกิดจากเชื้อสาเหตุตัวไหน เกษตรกรซึ่งยังคงใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดเดิมๆ ก็จะควบคุมโรคกิ่งแห้งไม่ได้

สารเคมีที่ใช้ได้

เชื้อราตัวนี้ เมื่อเข้าทำลายบริเวณกิ่ง จะทำให้ท่อลำเลียงน้ำและอาหารถูกทำลาย น้ำจากรากที่ถูกลำเลียงขึ้นมาไปเลี้ยงกิ่งและใบไม่ได้ ทำให้กิ่งแห้ง ใบเหลืองและแห้ง ร่วง และต้นตายในที่สุด

รองศาสตราจารย์ ดร. รัติยา พงศ์พิสุทธา ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นักวิจัย (ได้รับการสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม-สกสว.) ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลข้างต้น เผยว่า จากการทดสอบความสามารถในการเกิดโรคเพื่อยืนยันการเป็นเชื้อสาเหตุที่แท้จริง โดยการปลูกเชื้อแบบไม่ทำแผลลงบนกิ่งทุเรียนสายพันธุ์หมอนทองอายุ 5 เดือน พบว่ากิ่งทุเรียนแสดงอาการโรคหลังการปลูกเชื้อ 3 วัน กิ่งที่ปลูกเชื้อมีแผลสีแดงเข้ม ขอบแผลสีน้ำตาล หลังการปลูกเชื้อ 7 วัน พบแผลสีน้ำตาลอ่อน เนื้อแผลด้านในสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลเข้ม ใบที่ติดปลายกิ่งมีสีเหลือง ต่อมาหลุดร่วงไป

เส้นใยและสปอร์เห็นชัดบนก้าน

ส่วนการป้องกันและควบคุม นั้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการหาสารเคมีที่สามารถควบคุมเชื้อสาเหตุโรคที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคกิ่งแห้งและครอบคลุมโรครากเน่าของทุเรียน เพื่อหลีกเลี่ยงการผสมสารเคมีมากกว่า 1 ชนิด ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพของสารเคมีลดลง

รองศาสตราจารย์ ดร. รัติยา แนะนำว่า จากการทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมี จำนวน 18 ชนิด บนอาหารเลี้ยงเชื้อในระดับห้องปฏิบัติการ ในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราฟิวซาเรียม โซลาไน และให้ผลครอบคลุมถึงเชื้อราไฟทอปทอร่า พาลมิวอร่า รวมถึงเชื้อราพิเทียม เว็กแซนส์ ซึ่งทำให้เกิดโรครากเน่าของทุเรียนได้เช่นกัน ผลการทดลองพบว่า สารเคมี hymexazole ความเข้มข้น 1,000 ppm และสารเคมี copper hydroxide ที่ความเข้มข้น 1,250 ppm มีประสิทธิภาพต่อการยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราดังกล่าว

อาการโรคบนใบทุเรียนจากเชื้อ Phytophthora Palmivora

สำหรับสารเคมี pyraclostrobin ความเข้มข้นตั้งแต่ 125 ppm สามารถควบคุมเชื้อราไฟทอปทอร่า พาลมิวอร่า รวมถึงเชื้อราพิเทียม เว็กแซนส์ ที่เป็นเชื้อราชั้นต่ำได้ ซึ่งสารเคมีชนิดนี้มีการแนะนำให้ใช้กับเชื้อราชั้นสูงก่อนหน้านี้

สำหรับการแพร่ระบาดนั้น เชื้อราฟิวซาเรียม โซลาไน สาเหตุโรคกิ่งแห้งนั้น มีการแพร่กระจายไปทางอากาศ ดิน และน้ำ แม้ไม่มีการระบาดตามเส้นทางการไหลของน้ำแบบเชื้อราไฟทอปทอร่า พาลมิวอร่า แต่ความรุนแรงของโรคในสภาพแปลงรุนแรงไม่แพ้กัน

ส่วนเชื้อราไฟทอปทอร่า พาลมิวอร่า สาเหตุโรครากเน่าโคนเน่ามีการแพร่กระจายไปทางอากาศ ดิน และน้ำ ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกที่มีความสูง มีการระบาดของโรคจากพื้นที่สูงมายังพื้นที่ลาดชันได้ นอกจากนี้ โอกาสสูงที่จะเกิดการปนเปื้อนในน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกร่วมกันจากที่พื้นที่สูงลงต่ำ

อาการโรคบนใบทุเรียนจากเชื้อรา Phytophthora palmivora

เมื่อตัดแต่งกิ่ง/ส่วนที่เป็นโรค ไม่ควรทิ้งไว้ในแปลงปลูก เพราะจะทำให้ดินบริเวณนั้นเป็นแหล่งสะสมเชื้อสาเหตุโรค และสามารถกลับมาทำลายทุเรียนได้อีก ดังนั้น การควบคุมโรคกิ่งแห้งที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ การตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค ต้องนำไปเผาทิ้ง และจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพเพื่อหยุดการเจริญของเชื้อราสาเหตุ และลดความเสียหายต่อผลผลิตทุเรียน

ที่สำคัญการบำรุงต้นให้แข็งแรงก็ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเมื่อต้นแข็งแรง สามารถต้านทานโรคได้ดีกว่า เหมือนคนที่แข็งแรงก็ไม่ต้องกินยา ดังนั้น ธาตุอาหารนอกจาก ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมแล้ว ก็ต้องให้อาหารเสริมอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะต้นทุเรียนที่ถูกทำให้ออกนอกฤดู บังคับให้ติดดอกออกผล เพื่อได้ราคาดี แต่ต้นจะอ่อนแอ ก็ต้องบำรุงเป็นพิเศษ