ปลูกพริก “ซุปเปอร์ฮอท” สร้างรายได้ดีที่บ้านรักไทย ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก (ตอนที่ 1)

ปัจจัยสำคัญก่อนตัดสินใจลงทุนปลูกพริก จะต้องวางแผนช่วงเวลาที่จะผลิตพริก ให้ผลผลิตออกมาตามความต้องการของตลาด ซึ่งถือเป็นหัวใจที่มีความสำคัญ หรืออาจจะกล่าวอย่างง่ายๆ ว่าใช้หลัก “การตลาดนำหน้าการผลิต”

คุณพิสุทธิ์ ต๊ะปิง กับพื้นที่ปลูกพริกซุปเปอร์ฮอท 40 ไร่

ประการต่อมา เกษตรกรจะต้องคัดเลือกพันธุ์พริกที่จะปลูกที่ตลาดต้องการ, การคัดเลือกพื้นที่ปลูก ถ้าเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม หรือทำเลที่ดี โอกาสประสบความสำเร็จมีไปแล้วครึ่งหนึ่ง ในเรื่องของสภาพพื้นที่ปลูกพริกนั้นจะเน้นในเรื่องของการระบายน้ำที่ดีเป็นหลัก มีความเข้าใจในเรื่องของการเจริญเติบโตของพริกในแต่ระยะ รู้จักโรคและแมลงศัตรู แล้วก็สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่พริกเมื่อมีการทำลายหรือระบาด และประการสุดท้าย คือ เรื่องเงินทุน ในการปลูกพริกในแต่ละรุ่น เกษตรกรจะต้องมีแหล่งเงินทุนสำรองให้ใช้ในการซื้อปัจจัยการผลิตต่างๆ

พริกซุปเปอร์ฮอท ตลาดเป็นที่ยอมรับ ผลผลิตต่อไร่สูง

ยกตัวอย่าง เกษตรกร คุณพิสุทธิ์ ต๊ะปิง บ้านเลขที่ 42/2 หมู่ที่ 9 บ้านรักไทย ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก โทรศัพท์ (098) 593-7591 เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ คลุกคลี และผลิตลำไยนอกฤดูมานานเกือบ 20 ปี

คุณพิสุทธิ์ ต๊ะปิง เล่าว่า ตอนนี้พื้นที่ปลูกและผลิตลำไยของสวนตัวเองมีจำนวน 400 ต้น อายุลำไยได้ 20 ปีแล้ว ในแต่ละปีก็จะผลิตลำไยอีดอนอกฤดูออกจำหน่าย แต่เนื่องจากว่าในการทำลำไยนั้นซึ่งเป็นไม้ผลที่มีการดูแลรักษาไม่ได้บ่อยมากนัก ทำให้มีเวลาว่างที่มองหาพืชชนิดอื่นที่น่าจะมาสร้างรายได้ ซึ่งก็มองเห็นว่า “พริก” มีศักยภาพในเรื่องของตลาด ราคาที่ดี ประกอบกับที่ก่อนหน้านั้นก็ได้มีโอกาสได้ทดลองปลูกมาบ้างในพื้นที่ที่ไม่มากเท่าไหร่ จนเห็นช่องทางการตลาดว่าพริกนั้นมีความต้องการใช้ค่อนข้างมาก มีตลาดในและต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในสายพันธุ์พริกที่ตลาดให้การยอมรับนั้นก็คือ พริกพันธุ์ “ซุปเปอร์ฮอท” เนื่องจากพริก “ซุปเปอร์ฮอท” ซึ่งเป็นพริกขี้หนูเม็ดใหญ่ เม็ดเล็กผลยาว 5-7 เซนติเมตร มีลักษณะต้นแข็งแรง แตกแขนงดี ทรงพุ่มกว้างปานกลาง ต้นสูง 70-80 เซนติเมตร ติดผลดกมาก ผลชูเหนือทรงพุ่ม

พริกซุปเปอร์ฮอท เตรียมคัดส่งพ่อค้าที่มารับซื้อ

ผลดิบสีเขียว-เขียวเข้ม ผลสุกมีสีแดงสด ผลสดเก็บได้นานโดยขั้วผลไม่เน่า อายุเก็บเกี่ยว 60-65 วัน หลังการย้ายกล้า แล้วยังเก็บเกี่ยวได้นานข้ามปีถ้ามีการดูแลรักษาที่ดี โดย คุณพิสุทธิ์ ต๊ะปิง ได้ปลูกพริก “ซุปเปอร์ฮอท” ในพื้นที่ 40 ไร่ โดยรายละเอียดการปลูก ดูแลรักษา จนถึงการเก็บจำหน่าย คุณพิสุทธิ์ เล่าว่า

อันดับแรกก็ต้องวางแผนการผลิตว่าจะเลือกปลูกพริกช่วงเวลาใด เช่น ในพื้นที่ของบ้านรักไทย จะค่อนข้างขาดแคลนน้ำ ก็จะเลือกปลูกพริกในช่วงฤดูฝนเป็นต้น เพื่อลดภาระในการให้น้ำในช่วงแรกของการปลูก จากนั้นก็จะต้องวางผังพื้นที่ปลูกให้เหมาะกับพื้นที่สวนของแต่ละคน

กล้าพริกที่เพาะเมล็ดลงถาดเพาะ

การทำแปลงปลูกพริก “ ก็ต้องเตรียมดินให้ดี” การปลูกพืช หรือปลูกพริกให้งาม ต้องเตรียมดินให้ดี การเตรียมพื้นที่ปลูกพริก สำหรับเกษตรกรที่เริ่มต้นปลูกพริกในที่ดินใหม่ จะต้องเก็บตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์ หรืออย่างน้อยที่สุดควรตรวจค่าความเป็น กรด-ด่าง ของดินเบื้องต้นได้ก่อน ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือในการวัดค่าเป็นกรดและด่างในราคาถูก ดินที่เหมาะต่อการปลูกพริก ควรมีค่า pH = 6.0-6.8 ถ้าสภาพดินเป็นกรด จะต้องมีการปรับสภาพของดิน โดยใช้โดโลไมท์ หรือปูนขาว ในการใส่ปูนขาว หรือโดโลไมท์ในแต่ละครั้ง ไม่ควรเกิน 300 กิโลกรัม ต่อไร่

ไถขึ้นแปลงปลูก โดยความยาวของแปลงก็ให้เหมาะสมในการทำงาน

ในการเตรียมพื้นที่ก่อนที่จะไถดิน ให้ใส่ปุ๋ยคอกอย่างน้อย ไร่ละ 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน เมื่อไถดินเสร็จ ให้ตากดินทิ้งไว้นาน 3-7 วัน หลังจากตากดินเสร็จก็จะเป็นขั้นตอนของการยกแปลงปลูก โดยแปลงปลูกควรจะสูง ประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวของแปลงขึ้นกับสภาพพื้นที่ แต่ความยาวของแปลงไม่ควรเกิน 50 เมตร ในการขึ้นแปลงจะใช้รถไถติดผาน 7 ขึ้นแปลง ไป-กลับ 1-2 รอบ เมื่อขึ้นรอบสุดท้ายให้ใช้เกรดรถไถปรับหลังแปลงให้เรียบ เป็นแปลงพริก (ไม่ต้องเสียเวลาใช้แรงงานคน) จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการวางระบบน้ำ วางสายน้ำหยดบนแปลงปลูก อย่างการปลูกแถวคู่บนแปลง ก็ต้องวางสายน้ำหยด 2 เส้น ตามแนวปลูกพริก

จากนั้นปูพลาสติกคลุมแปลงนำดิน มากลบชายพลาสติกคลุมแปลง ไม่ให้ลมตีพัดขึ้นมาเสียหาย เจาะหลุมปลูกตามระยะที่เราต้องการ หลุมที่เจาะควรมีความกว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 3.5-4 นิ้ว เนื่องจากถ้าเจาะพลาสติกให้มีขนาดรูเล็กเกินไป เวลาช่วงที่อากาศร้อนพลาสติกคลุมแปลงจะร้อนมากเช่นกัน ความร้อนจากพลาสติกคลุมแปลงจะทำให้โคนต้นพริกที่ได้ไอความร้อนเน่าได้ง่าย

การเพาะเมล็ดพริก

วางระบบน้ำหยดบนแปลงปลูก

เป็นการเริ่มต้นที่มีความสำคัญ การเพาะเมล็ดพริกที่เกษตรกรไทยนิยมปฏิบัติกัน จะแบ่งออกได้ 3 วิธี คือ

  1. 1. หยอดเมล็ดลงในถาดเพาะโดยตรง ซึ่งจัดเป็นวิธีการที่ง่ายและสะดวกที่สุด
  2. 2. หว่านในตะกร้าพลาสติกที่ใช้ทรายเป็นวัสดุปลูก แนะนำให้ใช้ทรายขี้เป็ดชนิดหยาบเป็นวัสดุเพาะ

ขั้นตอนสำคัญจะต้องนำทรายไปต้มเพื่อฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน รอให้ทรายเย็นลง แล้วนำมาใส่ในตะกร้าพลาสติก (อย่าลืมรองก้นตะกร้าด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์) หลังจากหว่านเมล็ดพริกลงตะกร้าแล้ว ให้กลบด้วยปุ๋ยหมักอินทรีย์ หรือขุยมะพร้าวที่ร่อนเอากากออกแล้ว รดน้ำ และพ่นสารเคมีป้องกัน และกำจัดเชื้อราเพื่อป้องกันโรคโคนเน่า

ปูพลาสติกคลุมแปลง แล้วใช้ดินกลบทับชายพลาสติก

การรดน้ำ อย่าให้แฉะจนเกินไป เพราะจะทำให้เมล็ดพริกเน่าได้ สำหรับการเพาะเมล็ดพริกในฤดูร้อน หลังจากเพาะไปได้ 7-10 วัน ย้ายต้นกล้าลงถาดหลุม แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 วัน ถึงจะย้ายต้นกล้าลงถาดหลุมได้ เพื่อย้ายลงปลูกในแปลงต่อไป

  1. 3. ใช้แปลงเพาะ เป็นวิธีการที่เกษตรกรไทยนิยมมากที่สุด เนื่องจากประหยัดต้นทุนการผลิต ขนาดของแปลงเพาะ มีความกว้าง 2 เมตร ความยาว 5-10 เมตร เริ่มต้นจากการขุดพลิกดินและตากดินไว้นาน ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง ใส่ปุ๋ยคอกเก่า หรือปุ๋ยหมักอินทรีย์ อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อแปลง คลุกเคล้าดินกับปุ๋ยให้เข้ากันจนร่วนซุย เกลี่ยดินให้เรียบ นำเมล็ดพริกมาเพาะ โดยใช้อัตราพริก น้ำหนัก 50 กรัม ต่อพื้นที่ปลูกพริก 1 ไร่ จะต้องโรยเมล็ดให้ลึก ประมาณ 0.5 เซนติเมตร เป็นแถวตามความกว้างของแปลง แต่ละแถวห่างกัน ประมาณ 10 เซนติเมตร เสร็จแล้วให้กลบดินบางๆ ให้เสมอผิวดินเดิม แล้วใช้ฟางข้าวคลุมแปลงเพาะบางๆ รดน้ำที่ผสมสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา

เมื่อเห็นต้นกล้างอกขึ้นมาเหนือพื้นดิน ค่อยๆ ดึงฟางออกให้บางลง เพื่อต้นกล้าจะได้เจริญเติบโตได้ดี ต้นกล้ามีจำนวนใบจริง 3-5 ใบ จะต้องพ่นสารป้องกันและกำจัดแมลงร่วมกับสารเคมีป้องกันโรคโคนเน่า อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ต้นกล้าพริกที่มีอายุ เฉลี่ย 25-30 วัน มีความสมบูรณ์และต้นแข็งแรง ไม่มีโรครบกวน ให้ย้ายลงปลูกในแปลงได้

ย้ายกล้าพริกปลูกลงแปลง

การย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หลังจากที่เตรียมขุดหลุมตามระยะปลูกเรียบร้อยแล้ว มีเทคนิคที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เกษตรกรมักจะมองข้ามคือ การย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมาก ขณะที่จับต้นกล้าพริกออกจากถาดหลุม จะต้องจับบริเวณเหนือใบเลี้ยง (ใบคู่แรก) เพื่อป้องกันการบอบช้ำของเนื้อเยื่อบริเวณโคนต้นกล้า ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นส่วนที่เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เป็นสาเหตุหลักของโรคเน่าคอดินตามมา หลังจากย้ายกล้าลงหลุมเสร็จภายในวันเดียวกัน หรืออย่างช้าวันรุ่งขึ้นจะต้องฉีดพ่นสารป้องกันและกำจัดเชื้อราในกลุ่มสารเมตาแลกซิล หรือใช้ยาอาลีเอทก็ได้

กล้าพริกที่ย้ายปลูกลงดินได้ 10 วัน

หลังจากที่ย้ายต้นกล้าพริกลงหลุมปลูกแล้ว การใช้ไม้หลักปักค้ำต้นพริกมีความจำเป็นและสำคัญเช่นกัน ถ้าหากปักหลักต้นพริกช้าเกินไป รอจนรากของต้นพริกเดินกระจายทั่วแล้ว จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย เพราะหลักที่นำไปปักทีหลัง หรือปักช้าเกินไปนั้น ปักไปโดนกับส่วนของรากเสียหายและเกิดบาดแผล เชื้อเข้าทำลายระบบท่อน้ำและท่ออาหารได้ ดังนั้น เกษตรกรที่จะปลูกพริกในเชิงพาณิชย์ จะต้องมีการเตรียมไม้หลักไว้ล่วงหน้า โดยคำนวณจากต้นพริกที่ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกแบบแถวคู่ จะมีจำนวนต้น ประมาณ 3,200 ต้น ก็เตรียมไม้หลักจำนวนเท่ากัน ปกติขนาดของไม้หลัก ควรจะมีความสูง 60-80 เซนติเมตร หลังจากปลูกพริกไปได้ 50-70 วัน จะต้องมีการปักไม้หาบต้นพริก หรือล้อมด้วยเชือก เพื่อช่วยพยุงต้นพริกไม่ให้หักโค่น โดยจะทิ้งช่วงของการปักไม้เป็นระยะ ทุกๆ 3 เมตร จากนั้นก็มัดเชือกทั้งข้างซ้ายและข้างขวาให้ยาวตลอดแนวแถวแปลงพริก ดึงเชือกให้ตึงในแต่ละช่วง จะช่วยให้ต้นพริกไม่โค่นล้มได้ง่าย

ปุ๋ย ต้องเรียนรู้เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิต

เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้ก็จะต้องปักไม้หลักช่วยค้ำยันต้นพริก

การใช้ปุ๋ยในการปลูกพริก แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่มีความจำเป็นในการปลูกพริกทุกครั้ง ใส่เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดิน ช่วยให้ร่วนซุย จะมีการใส่ปุ๋ยคอกก่อนการไถพรวน ในอัตรา อย่างน้อย 1 ตัน ต่อไร่ และจะใส่ปุ๋ยหมักอินทรีย์รองก้นหลุมก่อนปลูกพริก ในอัตรา 250 กิโลกรัม ต่อไร่ ในส่วนที่ 2 คือ ปุ๋ยเคมี ทางดินจะให้อย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง สูตรที่ใช้ยืนพื้น คือ ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15, 16-16-16 ผสมกับแคลเซียมไนเตรต (สูตร 15-0-0 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นและใบ ซึ่งแคลเซียมไนเตรต (สูตร 15-0-0) นอกจากจะช่วยเร่งการเติบโตทางต้นและใบ เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดธาตุแคลเซียม วิธีการสังเกตต้นพริกที่ให้ผลผลิตดกเกินไป อาจจะพบอาการขั้วนิ่ม ปลายผลเหลืองและร่วง หรือที่หลายคนเรียกกันว่าอาการ “กุ้งแห้งเทียม” แสดงว่าต้นพริกขาดธาตุแคลเซียม ในส่วนของปุ๋ยทางใบ มักจะมีการฉีดพ่นควบคู่กับการฉีดพ่นสารปราบศัตรูพืช ซึ่งปุ๋ยทางใบ คุณพิสุทธิ์ เน้นย้ำว่าจะขาดไม่ได้เลย ใช้เป็นตัวหลักในการดูแลบำรุงพริก ซึ่งจะให้ความสำคัญมากกว่าการใส่ปุ๋ยทางดินด้วยซ้ำไป

สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงที่ใช้

จะเน้นการใช้ฉีดป้องกัน-เพลี้ยไฟ คือ พวกอิมิดาคลอพริด (เช่น โปรวาโด, สลิง เอ็กซ์, เสือพรีอูส, โคฮีนอร์), อะบาเม็กติน (เช่น โกลแจ็กซ์, แจคเก็ต), สไปนีโทแรม (เช่น เอ็กซ์ซอล จะเก่งเพลี้ยไฟและหนอนเจาะผลระบาดโดยเฉพาะช่วงพริกมีผลขนาดเล็ก เน้นการใช้ในช่วงวิกฤต หรือพบการระบาดมาก) มีการรองก้นหลุมปลูกพริกด้วย

สารสตาร์เกิ้ล-จี (ชื่อสามัญ ไดโนทีฟแรน) รองก้นหลุม หรือโรยรอบโคนต้น : อัตรา 2 กรัม ต่อต้น ต่อหลุม ปลูกเพื่อป้องกันเพลี้ยต่างๆ และแมลง ในช่วงแรกในการปลูกพริก สามารถคุมได้นานนับเดือน มีประสิทธิภาพออกฤทธิ์ควบคุม และกำจัดแมลงได้ยาวนาน 30-45 วัน ป้องกันกำจัดแมลงบนดิน เช่น เพลี้ยจักจั่นฝ้าย, เพลี้ยอ่อน, เพลี้ยแป้ง, แมลงหวี่ขาว, เพลี้ยไฟ, หนอนแมลงวันชอนใบ, หนอนแมลงวันเจาะลำต้น, ด้วงเต่าแตง และแมลงใต้ดิน เช่น มด, ปลวก, ด้วงดิน, เสี้ยนดิน เป็นต้น กำจัดแมลงปากดูดที่เป็นพาหะของโรคต่างๆ ได้ดีเยี่ยม

ส่วนเรื่องโรคเชื้อราก็เน้นการป้องกันโรคกุ้งแห้ง หรือแอนแทรกโนสจากเชื้อรา พบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพริก พบการแพร่ระบาดของโรคมากในช่วงฤดูฝน โรคกุ้งแห้ง มักพบอาการบนผลพริกที่เริ่มสุก หรือผลพริกก่อนจะเปลี่ยนสี เริ่มแรกมีแผลจุดช้ำสีน้ำตาล บุ๋ม ยุบตัวลึกลงเล็กน้อยในผิวผลพริก ต่อมาแผลขยายออกเป็นวงรี หรือวงกลมซ้อนกันเป็นชั้นๆ

ถ้าอากาศชื้นบริเวณแผลจะมีเมือกเยิ้มสีส้มอ่อนๆ แต่หากแสดงอาการที่ผลอ่อนจะทำให้ผลพริกโค้งงอบิดเบี้ยว ลักษณะคล้ายกุ้งแห้ง หากสำรวจพบพริกแสดงอาการโรค ควรเก็บผลพริกเป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที หากเริ่มพบการระบาดให้ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ (เช่น ฟังกูราน) ใช้อัตรา 10-30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันกำจัดโรคผลเน่า, โรคเน่าเปียก, โรคแอนแทรกโนส (โรคกุ้งแห้ง) ฉีดสลับกันสารแมนโคเซบ กลุ่มยาสัมผัส เป็นสารกำจัดโรคพืชที่สามารถควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้อย่างกว้างๆ ถ้ามีการระบาดระดับรุนแรงจะไม่สามารถแสดงผลควบคุมโรคได้ดีพอ

ในกรณีที่ระบาดรุนแรง ก็จะต้องสลับสารป้องกันกำจัดเชื้อราที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น อะซ็อกซีสโตรบิน (เช่น มิราโด, อมิสตา) ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดโรคพืชประเภทดูดซึม