“ พิจิตร 2 ” มันเทศพันธุ์ใหม่ คุณสมบัติครบตอบโจทย์ โรงงานอุตสาหกรรม

กรมวิชาการเกษตรส่งมันเทศพันธุ์ใหม่ “ พิจิตร 2 ” ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมแป้ง ปลื้มพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง แป้งสูง แถมขนาดหัวใหญ่ตรงความต้องการโรงงาน ปี 62 ปั๊มยอดพันธุ์กว่า 5 แสนยอด ขยายผลปลูกต่อในพื้นที่เกษตรกรได้ถึง 27 ไร่

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลว่า มันเทศ เป็นพืชอาหารและพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของโลก ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแป้ง และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล จะเห็นได้ว่า มันเทศเป็นทั้งพืชอาหารและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันเทศ ซึ่งพันธุ์มันเทศสำหรับเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ต้องเป็นพันธุ์เนื้อสีขาว ให้ผลผลิตสูง และเปอร์เซ็นต์แป้งมากกว่า ร้อยละ 10 แต่เนื่องจากมันเทศที่เกษตรกรปลูกในปัจจุบันมีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นมันเทศเพื่อการบริโภคสด มีปริมาณแป้งค่อนข้างต่ำ และปริมาณน้ำตาลสูง ไม่เหมาะสมที่จะนำไปผลิตเป็นแป้งมันเทศ

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร ได้ปรับปรุงพันธุ์มันเทศสำหรับอุตสาหกรรมแป้ง ตั้งแต่ปี 2554-2560 โดยปี 2554 ผสมพันธุ์มันเทศ ใช้พันธุ์มันเทศเนื้อสีขาวสำหรับเป็นพ่อแม่พันธุ์ 9 พันธุ์ ปี 2555 คัดเลือกพันธุ์และคัดเลือกสายต้นที่ให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 2,500 กิโลกรัม ต่อไร่ หัวมีขนาดใหญ่ เนื้อสีขาว ผิวเรียบ และน้ำหนักแห้งไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 ปี 2556 เปรียบเทียบพันธุ์มันเทศ ปี 2557-2558 ทดสอบพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี และศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ปี 2559-2560 ทดสอบพันธุ์ในแปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร และในปี 2562 เสนอรับรองพันธุ์โดยคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เห็นชอบให้ตั้งชื่อมันเทศพันธุ์ใหม่นี้ว่า “มันเทศพันธุ์พิจิตร 2”

มันเทศพันธุ์พิจิตร 2 มีลักษณะเด่นตามที่ต้องการ คือ ให้ผลผลิตสูงถึง 3,617 กิโลกรัม ต่อไร่ มากกว่าพันธุ์เกษตรกรซึ่งให้ผลผลิต 2,676 กิโลกรัม ต่อไร่ ให้ผลผลิตแป้ง 846 กิโลกรัม ต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์เกษตรกรซึ่งให้ผลผลิตแป้ง 624 กิโลกรัม ต่อไร่ มีปริมาณขนาดหัวที่โรงงานต้องการสูง โดยมีขนาดหัว ร้อยละ 86.2 ของน้ำหนักรวม ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร มีแปลงแม่พันธุ์พร้อมที่จะขยายยอดพันธุ์ต่อได้ตลอด โดยสามารถผลิตยอดพันธุ์ได้ถึง 150,000 ยอด ปลูกได้จำนวนพื้นที่ 27 ไร่

เกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โทร. (056) 990-040