ทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พูดถึงการแก้ไขภัยแล้ง “นาปรังปกติ 13 ล้านไร่ ขอความร่วมมือ ลดเหลือ 4.7 ล้านไร่”

ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดินฟ้าอากาศรวมทั้งเรื่องน้ำ ระบุว่า ปีนี้ไทยจะประสบภัยแล้งมากที่สุดในรอบ 40 ปี…บ้านเรา ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ หากน้ำไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ในฐานะที่ใกล้ชิดกับเกษตรกรทุกตำบล หมู่บ้าน กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีแนวทางแก้ไขภัยแล้งที่น่าสนใจไม่น้อย

คุณทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มาบอกเล่าสถานการณ์ รวมทั้งแนะนำการผลิตสินค้าเกษตรในช่วงฤดูแล้งนี้

ลองติดตามดูค่ะ

…………………………………………

 น้ำน้อย พื้นที่นาปรังลด

จาก 13 ล้านไร่ เหลือ 4.7 ล้านไร่

สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ ปริมาณน้ำมีน้อย น้ำต้นทุนมีน้อย โดยเฉพาะปริมาณน้ำในเขื่อน ซึ่งมีน้อยเพราะเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ไม่เพียงพอ มีการวางแผนในลักษณะที่จะต้องใช้น้ำประหยัด ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า อย่างมีคุณภาพมากที่สุด ได้กำหนดเป้าหมายว่าในการส่งเสริมปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำเยอะๆ ต้องลดลง โดยเฉพาะเรื่องการทำนารอบที่ 2 หรือการทำนาปรัง เพราะการทำนาปรังของประเทศไทยโดยปกติแล้วจะไม่ต่ำกว่า 12-13 ล้านไร่ แต่ในปีนี้เรามากำหนดในพื้นที่เป้าหมายในเขตชลประทาน กำหนดเป้าหมายนอกเขตชลประทาน…ในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำที่พอปลูกได้กำหนดที่ 4.5 ล้านไร่ แต่ว่าสถานการณ์ตอนนี้พื้นที่ปลูกก็ปรากฏว่า ข้าวนาปรังนั้นมีอยู่ 4.7 ล้านไร่ ก็เกินเป้าหมายไป 2 แสนกว่าไร่ แต่ในข้อเท็จจริงหมายความว่า ถ้าเทียบดูแล้วทางพื้นที่โดยเฉพาะเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ก็ไปขอความร่วมมือสร้างการรับรู้สร้างความเข้าใจให้พี่น้องเกษตรกรว่าสถานการณ์เป็นแบบนี้ ก็ขอความร่วมมือให้งดการทำนาปรัง ลดพื้นที่นาปรังลง ไม่ให้มีการปลูกแล้วก็ให้หันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย จากเดิมที่เคยปลูก 13 ล้านไร่ ลดลงมาเหลือแค่ 4.7 ล้านไร่

สถานการณ์ตอนนี้สอดคล้องกันอยู่ 2-3 ประเด็น คือ 1. ประเด็นสถานการณ์น้ำ น้ำนั้นน้อยกว่าทุกๆ รอบ แต่ว่าทุกครั้งที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะมีน้อยแต่ก็พอที่จะดึงน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ เลยต้องขอความร่วมมือ แต่ว่าปีนี้สถานการณ์น้ำต้นทุนเรามีน้อย ส่วนในประเด็นที่ 2 เรื่องสถานการณ์ที่ให้ความรู้ให้ข้อมูล หันไปปลูกพืชที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่ามากกว่าแต่ใช้น้ำน้อยกว่าหรือไปทำกิจกรรมการเกษตรที่มันเพิ่มมูลค่ามากกว่าการทำนา อาจจะไปทำมูลค่าการแปรรูปหรือปลูกพืชที่ใช้ความชื้นในดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว

พืชที่ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้แนวทางเป็นหลักคือ 1. เป็นพืชที่ใช้ในน้ำน้อย 2. เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า เช่น การปลูกข้าวนาปรังก็รณรงค์ส่งเสริมไม่ให้ปลูกข้าวนาปรังแล้วหันมาปลูกพืชอย่างอื่นที่เพิ่มมูลค่ามากกว่า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พวกนี้จะใช้น้ำน้อยหรือพืชตระกูลถั่วซึ่งใช้น้ำน้อยกว่าข้าวเยอะ ก็เลยให้ปลูกพวกถั่วเหลือง ถั่วเขียว หรือถั่วลิสง ที่มันเป็นพืชตระกูลถั่วแล้วพืชเหล่านี้ให้ผลตอบแทนให้ราคาให้มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ถ้าเทียบแล้วก็จะให้ผลตอบแทนที่เป็นรายได้หรือมากกว่าการทำนาถึงไร่ละ 4-5 พันบาท

ตั้งทีมช่วยเกษตรกร

การวางแผนก็มีอยู่ในทุกภาค ทุกจังหวัด ที่ทำได้ผลดีในลักษณะแบบนี้ก็จะมีภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก รวมทั้งภาคใต้ เพราะฉะนั้น แนวทางในการพัฒนาการส่งเสริมก็จะเน้นให้มีการทำเกษตรในลักษณะที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ให้สอดรับกับสถานการณ์น้ำที่ค่อนข้างจำกัด

ตอนนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านปลัดกระทรวง ท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร คุณเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง ก็ให้แนวทางหลักในการเข้าไปให้ความเข้าใจกับเกษตรกร ก็จัดชุดลงไปเหมือนเอกซเรย์ ในสถานการณ์แบบนี้มีการเตรียมความพร้อมในแล้งนี้ ถ้าสมมุติว่าถ้าพี่น้องจะปลูกก็ให้ปลูกพืชที่กรมวางเป้าไว้ก็คือ พืชที่ใช้น้ำน้อยที่สุด ให้ผลตอบแทนที่ดีสุด หรือถ้าปลูกไปแล้วจะต้องไม่ได้รับความเสียหายก็ต้องแนะนำ…ให้ข้อมูลข่าวสารสร้างการรับรู้ในทุกพื้นที่เพื่อไม่ให้เขาตระหนกในเรื่องของผลกระทบ ในขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งทีมไม่ว่าจะเป็นในทีมหมู่บ้าน ทีมเกษตรตำบล ทีมอำเภอ ประสานกับท่านนายอำเภอในระดับจังหวัดก็จะมีการประสานกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในการที่จะวางมาตรการในการแก้ปัญหาเร่งด่วน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน ทางกรมพัฒนาที่ดินด้วย ถ้าเจอสถานการณ์ที่มันเกิดผลกระทบจะต้องวางแผนร่วมกันและก็สามารถหาน้ำดึงน้ำหรือมาวางแผนให้ทันท่วงที

นวัตกรรม…ช่วยให้ใช้น้ำมีประสิทธิภาพ

ในช่วงระยะยาวก็มีการวางแผนในเรื่องของดึงน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดและทำสถานที่หรือทำชลประทานทำแหล่งน้ำตั้งแต่ระดับเล็กๆ ไปจนถึงขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ในการที่จะปรับปรุงแหล่งน้ำ เตรียมน้ำไว้ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่ต้องใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ดึงน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งก็เป็นนโยบายที่จะต้องใช้นวัตกรรมใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตรแล้วก็ดึงทรัพยากรทางธรรมชาติขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในขณะเดียวกัน พวกเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่จะต้องใช้น้ำให้ประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ทำการเกษตรในลักษณะแม่นยำก็จะถูกดึงขึ้นให้มาปรับใช้ ไม่ให้ใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย เช่น น้ำในระบบท่อ น้ำระบบหยด หรือน้ำในที่มีการควบคุมให้เกิดมีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็จะถูกวางแผนใช้ในการเกษตรมากที่สุดก็จะเป็นแผนระยะยาว ซึ่งมันก็จะไปสอดรับกันทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการส่งเสริมการเกษตรในระยะยาวเหมือนกัน การนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าให้พี่น้องเกษตรกรให้เขาได้มีรายได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ทิศทางเกษตร…เกษตรกรมีศักยภาพมาก แต่ว่าในเรื่องของความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงก็ไปรวดเร็วเหมือนกัน แต่ว่าเทคโนโลยีต้องได้รับการถ่ายทอด ได้รับการสื่อสาร ได้รับการศึกษาเข้าไป เพื่อจะไปได้รวดเร็ว แต่ถ้าจะดูแนวโน้ม ดูพัฒนาการมันค่อนข้างไวอยู่ ยกตัวอย่างเช่น โดรน แบบนี้ก็มาเร็วมาแรง หรือระบบน้ำในการทำการเกษตรแบบประณีตในพืชผักหรือแม้แต่พืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง ก็ใช้ระบบน้ำเข้าไปใช้ระบบควบคุมทั้งน้ำทั้งปุ๋ย ทำให้ผลผลิตออกมาดี ทำให้คุณภาพออกมายอดเยี่ยม ถ้าเป็นมันสำปะหลังก็เปอร์เซ็นต์แป้งก็สูง ระยะเวลาก็ดี ช่วงเวลาผลผลิตต่อไร่ก็สูง ผลตอบแทนที่ได้ก็ต้นทุนลดลง รายได้ก็ดีขึ้น 

ทำนาข้าวเป็นวัฒนธรรม

ข้าวเป็นวัฒนธรรม การทำไร่ทำนาเป็นวัฒนธรรมของไทย เพราะฉะนั้น การที่จะไปขอให้เกษตรกรหยุดหรือไปเปลี่ยน ต้องใช้เวลาต้องมีกระบวนการการตัดสินใจที่ชัดเจนต้องมีข้อมูลที่ชัดว่าถ้าเปลี่ยนหรือถ้าหยุดแล้วไปทำอย่างอื่น เกษตรกรต้องเห็นผลที่ชัดเจน แต่ถ้าไม่มีทางเลือกไม่มีข้อมูลที่มันดีกว่า เหมาะสมกว่า ยอดเยี่ยมกว่า เกษตรกรก็ไม่เปลี่ยนก็ยังทำอยู่โดยเฉพาะข้าว ไม่มีอะไรก็ขอให้มีข้าวไว้ก่อนเพราะจะไม่อดตาย เหมือนกับเป็นการสำรองอาหารมีความมั่นคงทางด้านอาหาร ถือว่าเป็นวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น การทำนาไม่ว่าจะเป็นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลาง ถ้าเขาเห็นน้ำเขาต้องทำทันที

การปลูกข้าวน้อย ส่งผลดีหรือผลเสีย

ส่งผลดี เพราะว่าเป็นมาตรการที่ปริมาณข้าวมันลดลง…เขาลดลงครึ่งหนึ่ง คงส่งผลให้ราคาดีขึ้น

พืชที่กรมหรือกระทรวงเกษตรฯ ให้คำแนะนำต้องเป็นพืชที่มีตลาดเพราะเราใช้หลักในเรื่องของตลาดนำการผลิตหรือตลาดนำการเกษตร เพราะฉะนั้น ต้องมีความชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ข้าวโพดหลังนามีดีมานด์ มีความต้องการของตลาดอยู่ที่ 8 ล้านตัน แต่ว่าเราผลิตได้จริงๆ เต็มที่ ทั้งปีเราผลิตได้ 5 ล้านตัน ซัพพลายได้แค่ 5 ล้าน ดีมานด์ 8 ล้าน…ยังมีความต้องการ 3 ล้านตัน…ดังนั้น 3 ล้านตันก็เลยต้องสั่งจากต่างประเทศเข้ามาหรือเอาวัตถุดิบตัวอื่นเข้าที่มันแทนข้าวโพด เพราะฉะนั้น อนาคตแน่นอนว่าพืชเหล่านี้รัฐบาลก็เข้าไปดูว่า มันจะต้องมีราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท ตอนนี้ประกันไว้ที่ 8.50 บาท รวมทั้งทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้

รับมือกับศัตรูพืช

ช่วงนี้สถานการณ์ศัตรูพืชที่สำคัญๆ มีอยู่ 3-4 ตัว ศัตรูพืชตัวแรกก็คือ หนอนกระทู้ลายจุดข้าวโพด ที่ผ่านมาพื้นที่ที่ระบาดอยู่ที่ประมาณ 7 แสนไร่ ช่วงฤดูแล้งพบการระบาดอยู่ที่ 5 แสนไร่ ใน 5 แสนไร่ก็ลดลงเรื่อยๆ สถานการณ์มันจะระบาดช่วงที่ข้าวโพดปลูกใหม่ๆ ช่วงอายุประมาณ 20-40 วัน หนอนกำลังอร่อยในการที่เข้าไปทำลาย แต่ถ้าอายุเริ่มมากกว่าก็จะลดลงโดยธรรมชาติของมันก็จะมีการควบคุมในช่วงข้าวโพดอายุน้อยๆ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็ควบคุมพื้นที่ลดลงเรื่อยๆ เกือบจะหมดแล้ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาปลูกประมาณ 4 แสนไร่ แต่ว่าข้าวโพดตัวอื่นๆ ทั้งหมดทั่วไปมีทั้งข้าวโพดตัดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดหวาน ที่ปลูกในช่วงฤดูแล้ง แต่ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีนี้ 4 แสนไร่ การระบาดของศัตรูพืช…คือหนอนที่มีรวมๆ อยู่ในข้าวโพดทุกชนิด

ตัวที่ 2 หนอนหัวดำ พื้นที่ระบาดจะอยู่โซนประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ก็มีการควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ตัวที่มันเป็นปัญหาเฉพาะหนอนหัวดำก็คือ เราไม่สามารถดูแลสวนที่รกร้างต่างๆ จากสวนที่เจ้าของไม่ดูแล เจ้าของไม่อยู่ ก็จะเป็นแหล่งสะสมศัตรูตัวนี้อยู่เพื่อขยายต่อทางอื่น เขาก็จะไม่สามารถกำจัดได้หมด เพราะมันมีที่หลบซ่อน พยายามมีมาตรการสวนที่ไม่มีเจ้าของสวนที่ปลูกไว้ ก็ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์

ตัวที่ 3 ตัวที่กำลังรุนแรงโรคใบร่วงของยางพารา ตอนนี้ 7 แสนไร่ เป็นเชื้อรา ทำให้ใบยางพาราร่วงตอนนี้เป็นทั่วประเทศ แต่เยอะสุดคือทางใต้ โรคนี้ทำให้ใบร่วง พอใบร่วงแล้วมีผลกระทบกับน้ำยาง ใบร่วงลงมาเสร็จเชื้อราก็จะสะสมอยู่ในพื้นดินใต้ร่มของยางพารา เสร็จแล้วพอแตกใบอ่อนออกมาเชื้อราพวกนี้ก็จะไปทำลายอีกรอบทำให้ผลผลิตลดลงมาก แนวทางที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำคือต้องประสานกับการยางแห่งประเทศไทย ในการที่จะควบคุม…แนวทางที่ใช้อยู่คือใช้ไตรโคเดอร์มา ไปยับยั้งไม่ให้เชื้อรามันกระจายต่อ ถึงแม้ว่าไตรโคเดอร์มา จะไม่ไปฆ่าโดยตรงแต่ว่าจะลดปริมาณลง…แต่ในขณะที่ยังไม่มีตัวที่ไปฆ่าตัวนี้โดยตรงก็ใช้ไตรโคเดอร์มา ก็ทำให้ลดลงเพราะแนวโน้มจากหลักหมื่นไร่ตอนนี้ขึ้นไป 7 แสนไร่

ตัวที่ 4 คือโรคใบด่าง ที่ผ่านมาระบาดอยู่ที่ 8 หมื่นกว่าไร่ ตอนนี้เหลือ 6 หมื่นกว่าไร่ พื้นที่ลดลงมีการควบคุมเพราะว่าใบด่างมันสำปะหลังมันอันตรายมาก วิธีการควบคุมของกรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ควบคุมเรื่องท่อนพันธุ์ ไม่ให้ท่อนพันธุ์ที่มันเป็นโรคกระจายไปที่อื่น รวมถึงการควบคุมแมลงพาหะ ไม่ให้มันกระจายไป เพราะฉะนั้น ก็อยู่ในช่วงที่เขาเก็บเกี่ยว พอเก็บเกี่ยวเสร็จต้นที่เป็นโรคใบด่างจะไม่ให้ใช้ทำท่อนพันธุ์ จะทำลายทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ก็เข้มงวดการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ โดยใช้มาตรการของทางมหาดไทย 

ขอความร่วมมือเกษตรกร

ได้ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกร ซึ่งร่วมกับทางกระทรวงมหาดไทย ท่านผู้ว่าการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ทางทีมงานเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ลงไปขอความร่วมมือประสานความร่วมมือขอให้พี่น้องเกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ใช้น้ำอย่างประหยัด แล้วก็ลดกิจกรรมพืชที่มันใช้น้ำเยอะๆ

ในขณะเดียวกัน เมื่อเขาลดพื้นที่ลง อาจสูญเสียรายได้ส่วนหนึ่งไป แต่ว่าผลตอบแทนที่จะมันเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของการลด การตัดวงจรของโรคศัตรู แมลง ที่สำคัญๆ ส่วนหนึ่งก็จะหายไป เพราะไม่ได้ทำการเกษตรต่อเนื่อง โรคหรือศัตรูพวกนี้ก็จะตัดวงจรชีวิตแล้วก็หายไปทำให้ปริมาณพวกนี้ลดลง ทำให้ต้นทุนในการทำการเกษตรในรอบต่อไปก็จะลดลงด้วยก็จะเป็นผลดีด้วย

ในส่วนต่อไปที่ว่าน่าจะเป็นผลดี ก็ทั้งในเรื่องของการลดหรือการรณรงค์ ลดการเผา ลดหมอกควัน ลดมลพิษ ก็จะเป็นผลดี เนื่องจากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบที่จะทำนาปรังแล้วก็รีบเผาฟางเพื่อที่จะให้ช่วงเวลามันต่อเนื่อง เพราะถ้ารอบมันทำหมุนต่อกันเร็วๆ เก็บเกี่ยวเสร็จ 2-3 วัน ฟางยังไม่แห้ง บางทีก็ต้องไปเร่งให้ฟางมันแห้งโดยการเผาหรือราดน้ำมันเผา เพื่อทำรอบต่อไปได้ 3-7 วันเป็นต้น การลดพื้นที่พวกนี้ลงก็ทำให้สถานการณ์เป็นผลดี

ตอนนี้เรามีแผนการช่วยเหลือเกษตรกรฤดูแล้ง โครงการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องของเกษตรร่วมใจสู้ภัยแล้ง ในเรื่องของการเตือนเกษตรกร การให้ความรู้ในการดูแลที่ดิน การใช้น้ำ โครงการของเรามีทั้งหมด 7 โครงการ ไม่ว่าจะเป็น 1. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ “เกษตรร่วมใจรับมือภัยแล้ง ปี 2563” 2. โครงการบูรณาการกิจกรรมและความร่วมมือในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทานเพื่อส่งเสริมการสร้างรายได้แก่เกษตรกร 3. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2563 4. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชน้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร (ตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2563) 5. โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ปี 2562/63 6. การถ่ายทอดความรู้และจัดวันสาธิตในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 7. คลินิกเกษตรเคลื่อนที่

ฝากถึงเกษตรกร

สิ่งที่อยากจะฝากก็คือ ประการแรก ให้เฝ้าระวังทั้งในเรื่องของสถานการณ์น้ำน้อย เพราะฉะนั้น การทำกิจกรรมการเกษตร ไม่ว่าเราจะปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือปลูกพืชอย่างอื่นก็ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์

ประการที่ 2 หากเจออุปสรรควิกฤต หรือมีแนวโน้มที่มันจะเกิดผลกระทบต่อผลผลิต ให้รีบประสานกับเจ้าหน้าที่ที่ให้การสนับสนุนได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานเกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน มหาดไทย เข้ามาวางแผนช่วยเหลือ

ประการที่ 3 เป็นเรื่องของการติดตามสถานการณ์ล่วงหน้าหรือข้อมูลข่าวสารล่วงหน้าที่อาจจะมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นล่วงหน้า เราต้องคอยฟังข่าวสารจากเจ้าหน้าที่หรือชุดปฏิบัติการชุดหน่วยเคลื่อนที่เร็วก็สามารถประสานงานในการแก้ไขปัญหาได้

ประการที่ 4 หาแนวทางในการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เราอาจจะหาแนวทางในการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ที่สามารถหารายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรหรือทำกิจกรรมการเกษตรเพื่อลดต้นทุน เพื่อที่ให้เรามีรายได้ในช่วงหน้าแล้ง