ประธาน YSF สตูล เผยเทคนิค ปลูกมะละกอฮอลแลนด์ ผลผลิตดก เก็บขายสร้างรายได้ทุก 4 วัน

กระแสรักสุขภาพยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง หากเกษตรกรท่านใดอยากจะสร้างรายได้และช่องทางการตลาดเพิ่ม การทำเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรปลอดสารพิษ ถือเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ เพราะไม่เพียงแต่ดีต่อสุขภาพของตัวเอง แต่ยังดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค และที่สำคัญคือ สินค้าที่เป็นเกษตรอินทรีย์จะขายได้ราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถกำหนดราคาขายได้เอง ซึ่งการเกษตรที่ใช้สารเคมีไม่สามารถทำได้

คุณสำราญ แคยิหวา อดีตประธานยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ 2 สมัย อยู่บ้านเลขที่ 177 หมู่ที่ 3 ตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล เล่าว่า จากเดิมตนมีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำสวนยางมาก่อน แต่เลิกทำสวนยางแล้วหันมาทำไม้ผลชนิดอื่นเพราะมีแรงจูงใจ

จากการที่ชอบไปเยี่ยมชมสวนของคนอื่น ได้เห็นวิธีการทำและการแก้ปัญหาของเขาแล้ว รู้สึกว่าชอบ เพราะนิสัยส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบแก้ปัญหา ชอบคิดอย่างไม่หยุดนิ่ง อย่างปลูกพืชก็จะมีโรคแมลงหรือปัญหาต่างๆ ให้หาวิธีแก้ แต่กับยางพาราทำอะไรเดิมๆ กรีดยางก็กรีดอยู่แบบนั้น ที่เดิมไม่ได้ออกไปเจออะไรใหม่ๆ จึงเกิดแรงจูงใจที่จะไปทำไม้ผล และพืชที่เลือกปลูกหลังจากเลิกกรีดยางคือ มะละกอ ด้วยเหตุผลที่มะละกอสามารถมีผลผลิตให้เก็บขายได้ทุกวันไม่ใช่ออกตามฤดู ยิ่งถ้าดูแลดีๆ ทำให้ต้นสมบูรณ์ แสดงว่ารายได้จะเกิดขึ้นทุกวัน หรือจะเก็บตามรอบ 4 วันครั้ง ก็ทำได้

คุณสำราญ แคยิหวา ประธานยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ปี 59-60

ยึดหลักศาสตร์พระราชา
เริ่มต้นทำจากสิ่งที่ตัวเองรัก

คุณสำราญ บอกว่า ตนเริ่มปลูกมะละกอเป็นพืชหลักสร้างรายได้ครั้งแรกตอน ปี 2558 เริ่มจากการปลูกมะละกอพันธุ์กินดิบก่อน คือปลูกมะละกอพันธุ์แขกดำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปพฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป จากเคยขายพันธุ์กินดิบได้ดี ก็ขายได้น้อยลง แต่ความนิยมบริโภคมะละกอกินสุกมีมากขึ้น จึงต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ หันมาปลูกมะละกอกินผลสุกแทน ซึ่งมะละกอพันธุ์กินสุกที่นิยมปลูกมี 2 สายพันธุ์ คือ ฮอลแลนด์ และเรดเลดี้ แต่ที่สวนเลือกปลูกมะละกอฮอลแลนด์ สายพันธุ์ปลักไม้ลาย เป็นสายพันธุ์นำเข้าจากมาเลเซีย มีจุดเด่นที่เปลือกบาง เนื้อแน่น รสชาติหวาน เนื้อข้างในสีแดงแจ๊ด และค่อนข้างเป็นพันธุ์ที่หายาก จะมีปลูกแค่เฉพาะในจังหวัดสตูลเท่านั้น และอีกข้อดีคือ สามารถขยายพันธุ์ปลูกต่อ06เพิ่มได้ มาถึงปัจจุบันนี้ก็ปลูกมะละกอไป 3 รุ่นแล้ว เริ่มเก็บผลผลิตครั้งแรก ตอนปี 2559 ปลูกบนพื้นที่ 3 ไร่ และมีการนำศาสตร์พระราชาเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับปรุงใช้ภายในสวน คือจะหมุนเวียนวัตถุดิบในสวนมาลดต้นทุน เพิ่มรายได้ โดยการปลูก

  1. กล้วยหอม และกล้วยเล็บมือนาง แล้วใช้ต้นกล้วยมาทำน้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย ใช้แทนปุ๋ย ส่วนผลก็เก็บขายได้อีก รสชาติกล้วยของที่สวนดีมาก เพราะไม่เคยใช้สารเคมีในการดูแล
  2. ฝรั่งอินทรีย์
  3. มะละกอฮอลแลนด์ สายพันธุ์ปักไม้ลาย ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด

 

สภาพแปลงปลูก

เทคนิคการปลูกมะละกอฮอลแลนด์
ให้มีผลผลิตเก็บขายได้ทุก 4 วัน

เริ่มจาก การเตรียมดิน… ไถพรวน 3-4 ครั้ง ให้ดินร่วน แต่ถ้าจะให้ดีในระยะที่ไถให้หว่านขี้ไก่แกลบ เขาไปช่วยให้ดินมีความร่วนซุย แล้วยกร่องให้เป็นคูน้ำ โดยระยะวางแนวให้ได้ 1 แถว 3×3 ระยะนี้เป็นระยะที่เหมาะสม ช่วยให้ใบไม่ทับซ้อนกัน

ขุดหลุม… ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร หรือ 1 ศอก รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกขี้วัว หรือขี้ไก่ แล้วแต่ความสะดวก ซึ่งในสวนจะใช้ขี้วัว เพราะว่าในท้องถิ่นมีวัวเยอะ จะให้เด็กๆ แถวบ้านเก็บตามท้องนาเอามาขาย ที่สวนจะรับซื้อไว้เอง

การเพาะกล้า… ใช้เวลาการเพาะ 45 วัน 1 ถุง เพาะ 3 ต้น เพื่อการคัดแยกเพศของมะละกอ หลังจากนั้นนำลงแปลงปลูก เมื่อครบ 3 เดือน ดอกจะออกมาให้เห็น ก็สามารถคัดเพศมะละกอได้ ถ้ามีต้นสมบูรณ์เพศเกิดมา 2 ต้น จะใช้วิธีง้างกิ่งออกให้ห่างกัน หรือถ้าชิดกันเกินไปก็จะใช้วิธีตอนกิ่งไปขยายปลูกเพิ่ม

การใส่ปุ๋ย… แนะนำสำหรับท่านที่ปลูกแบบเคมี ช่วงดอกเริ่มออกให้ใส่ปุ๋ย สูตรเสมอ 15-15-15 เข้าไปนิดหนึ่ง เพื่อกระตุ้นให้ต้นเจริญงอกงามได้เร็วขึ้น แต่ที่สวนปลูกแบบอินทรีย์ จะใช้น้ำหมักเข้าไปทดแทนส่วนตรงนี้

มะละกอดกเต็มต้น

วิธีการใส่ให้ดูที่ใบ ไม่ได้ใส่ที่โคนต้น เพราะจะทำให้โคนเน่า ต้องใส่ปุ๋ยให้ได้ระยะทางใบ และมีการใช้ฮอร์โมนไข่มาใช้พ่นด้วย ปริมาณการใส่ปุ๋ยคอก 1 ต้น ใส่ไปทีเดียว 1 ถัง พืชจะกินได้นาน การให้ปุ๋ยจะมองที่สีของใบ ถ้าใบเหลืองหมายถึงพืชต้องการอาหารแล้วนะ แต่ถ้าใบยังเขียวก็ยังไม่ต้องให้

รดน้ำ… เช้า-เย็น ต่อต้น ต่อครั้ง รดประมาณ 10 ลิตร แต่ให้ดูพื้นดินประกอบด้วยว่าแฉะไปไหม ถ้าแฉะรากจะเปื่อย มะละกอไม่ชอบน้ำแฉะ แต่จะชอบน้ำปริมาณที่พอดี

ระยะ 4 เดือนแรกตอนติดดอก เป็นอะไรที่ต้องดูแลใส่ปุ๋ยรดน้ำให้สม่ำเสมอ ผลผลิตจะเริ่มติดช่วง 4 เดือน เริ่มเก็บผลผลิตได้ตอนอายุ 7 เดือน แล้วหลังจากนั้นก็สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดเลย นี่เป็นอีกแรงจูงใจที่ทำให้หันมาปลูกมะละกอ

โรคแมลง… มะละกอจะมีโรคที่น่ากลัวคือ โรคใบด่างจุดวงแหวน และโรคแอนแทรคโนส ชาวบ้านมักเข้าใจผิดระหว่างโรคใบด่างจุดวงแหวน กับโรคแอนแทรคโนส ซึ่งแถวบ้านส่วนใหญ่ที่เจอโรคจะเป็นแอนแทรคโนส ไม่ใช่ใบด่างจุดวงแหวน แต่ถ้าเป็นโรคใบด่างจุดวงแหวน สังเกตง่ายๆ ยอดจะไม่โตและหงิก ให้เผาทำลายทิ้งได้เลย แต่ถ้าเป็นโรคแอนแทรคโนสถ้าเกษตรกรดูแลมะละกอให้ต้นสมบูรณ์แข็งแรงจะมีภูมิคุ้มกันโรคอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดขึ้นมาจะไม่ถึงขั้นต้องเผาทำลายทิ้ง อาจจะต้องใช้สารชีวภัณฑ์เข้ามาช่วย

ใช้พลาสติกคลุม… ที่ลูกจะทำให้ผิวของมะละกอสวย และช่วยป้องกันแมลงวันทองเข้ามาชอนไชมะละกอให้เกิดความเสียหายได้ และอีกวิธีคือ ใช้ถุงพลาสติกคลุมโคนต้น ช่วยป้องกันหอยทากกัดกินลำต้นได้

ผลผลิต… มะละกอถือเป็นพืชที่สร้างรายได้แบบคุ้มค่า มะละกอ 1 ต้น เก็บได้ 4 ลูก ต่อ 4 วัน น้ำหนักเฉลี่ย 8 ขีด ถึง 2 กิโลกรัม ต่อลูก 1 ไร่ ปลูกได้ 140 ต้น ปลูก 3 ไร่ สรุปเป็นรายได้ต่อ 4 วัน คิดเป็นเงิน 14,000-15,000 บาท คิดเป็นรายได้ต่อเดือนจะสูงพอสมควร ซึ่งเมื่อเทียบกับต้นทุนแล้วแทบไม่ได้เสียอะไรเลย ผลผลิตที่เสียหายจากแมลงเจาะหรือเป็นโรคราน้ำค้าง ก็สามารถเก็บมาทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ดูแลพืชได้ต่อ

ใช้ถุงพลาสติกคลุมกันแมลงกันนกเข้ามาเจาะผลผลิต

สูตรทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองภายในสวน
ช่วยมะละกอผลดก

คุณสำราญ บอกว่า สาเหตุที่ทำให้ผลผลิตดก เก็บขายได้ทุก 4 วัน ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ปุ๋ยน้ำหมักที่ทำเอง ส่วนผสมมีดังนี้

  1. มะละกอที่ช้ำเสียหายจากการโดนแมลงกัดกิน 20 กิโลกรัม
  2. พด.2 ที่ขอจากกรมพัฒนาที่ดิน 1 ห่อ
  3. กากน้ำตาล 5 ลิตร
  4. น้ำเปล่า ใส่ไม่มาก ปุ๋ยหมักต้องมีความข้น

ผสมส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ใส่ถังหมักปิดฝา หมักทิ้งไว้ 45 วัน น้ำหมักจะเริ่มขึ้นยีสต์เป็นสีขาว ก็เอามาใช้ได้แล้ว

แต่สำหรับใครที่อยากเพิ่มไนโตรเจนให้กับพืชมีใบเขียว สร้างต้นให้สมบูรณ์ ให้ใช้สูตรดังต่อไปนี้

  1. หัวปลาที่เหลือทิ้งจากแม่ค้าในตลาด
  2. พด.2 ที่ขอจากกรมพัฒนาที่ดิน 1 ห่อ
  3. กากน้ำตาลในส่วนนี้ต้องใช้เยอะหน่อย ถ้าใส่หัวปลา 10 กิโลกรัม ก็ต้องใช้กากน้ำตาล 10 ลิตร และน้ำเปล่า 1 ส่วน สาเหตุที่ต้องใช้กากน้ำตาลเยอะ เพราะในกรณีของปลา ถ้ากากน้ำตาลน้อยจะส่งกลิ่นเหม็น สร้างความรำคาญให้เพื่อนบ้าน
ผลสุกพร้อมขาย

ปลูกมะละกออินทรีย์ ดีอย่างไร

คุณนิภาพร แคยิหวา ภรรยาของคุณสำราญ บอกเล่าประสบการณ์การตลาดของมะละกอที่ผ่านมาว่า ถ้ามองเรื่องตลาดมันไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพราะคนยังปลูกได้น้อย มะละกอถือเป็นพืชปราบเซียน ปลูกยาก และแหล่งที่ปลูกก็หายาก เพราะบางที่น้ำท่วม บางที่ไม่มีน้ำ มันเหมาะกับพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ดินร่วนซุย แต่ถ้าทำได้ถือว่ามะละกอเป็นพืชที่สร้างรายได้ค่อนข้างดี ยิ่งถ้าปลูกแบบอินทรีย์แล้วไม่ต้องห่วงเรื่องราคาและการตลาด เพราะในปัจจุบันกลุ่มคนรักสุขภาพเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ตลาดก็จะกว้างมากขึ้น แต่คนปลูกแบบอินทรีย์ยังมีน้อยอยู่ นั่นก็หมายความว่า เกษตรกรที่ปลูกแบบอินทรีย์จะเป็นสินค้าที่มีค่าและหายาก ราคาจะสูง เจ้าของสวนสามารถกำหนดราคาได้เอง อย่างทุกวันนี้มะละกอที่สวนริมคลองของเธอตั้งราคาขายหน้าสวนอยู่ที่ กิโลกรัมละ 40 บาท แต่ถ้าออกบู๊ธตามงานต่างๆ จะขาย กิโลกรัมละ 50-60 บาท ถือเป็นราคาที่สูง แต่ยังขายได้ดี เพราะสินค้าได้คุณภาพและปลอดภัย ตลาดส่งมีหลายช่องทาง

จัดใส่กระเช้าเป็นของฝากก็ได้
  1. ส่งที่โรงพยาบาลละงู กิโลกรัมละ 40 บาท ซึ่งยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่ต้องการมะละกอของที่สวน แต่เธอไม่สามารถผลิตได้ทัน
  2. ตลาดค้าปลีก-ส่ง ผลไม้ในตัวเมือง เธอและคุณสำราญมีหน้าที่เก็บออกจากสวนไปจอดให้แม่ค้าที่รับซื้อประจำ ที่เหลือทางร้านรับซื้อเป็นคนชั่ง นับกิโลให้ เธอมีหน้าที่คอยรับเงินอย่างเดียว
  3. ออกบู๊ธตามงานเกษตรของหน่วยงานราชการ ในส่วนของราชการมักจะนำผลผลิตของที่สวนไปเป็นผลไม้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง สั่งไปจัดกระเช้า หรือสั่งไปเป็นของเบรกงานประชุมบ้าง
  4. ช่องทางออนไลน์ จะมีลูกค้าทักมาตลอดว่าวันนี้ผ่านทางนี้ไหม ถ้าผ่านลูกค้าก็สั่งผ่านเฟซบุ๊ก แล้วให้แวะส่งที่บ้าน แต่กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ใช้โชคช่วยอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้ความจริงใจและความซื่อสัตย์ จะไปบอกปากเปล่าว่าผลผลิตที่สวนเป็นอินทรีย์อย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งภายในสวนมีฐานการเรียนรู้ที่ชัดเจน ใครได้มาที่สวนจะเห็นและเกิดความประทับใจ เกิดความเชื่อมั่น ว่าผลผลิตจากสวนนี้ผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง 
เนื้อแน่น รสหวาน สีแดงแจ๊ด

ฝากไว้ให้คิด

คุณสำราญ และ คุณนิภาพร ฝากข้อคิดว่า การประกอบกิจการหรือธุรกิจต่างๆ ต้องมีการวางแผนที่ดี ดังคำที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ” ที่สวนขายผลผลิตดีก็จริง แต่ถ้าถามว่ามีแผนจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มไหม บอกเลยว่า ยังไม่มี เพราะที่สวนจะยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอด ทำเท่าที่ไหว และเมื่อเกิดปัญหาพลิกล็อกเกิดโรคแมลง หรือวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองไว้ก่อน ให้ทุกคนเริ่มทำจากจุดเล็ก เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองชอบ และหาจุดยืนของตัวเองให้เจอ ทำเกษตรไม่ต้องทำเยอะ ไม่ต้องปลูกผักทีเดียว 5-7 อย่าง ปลูกแค่ 2 อย่าง ก็พอ เพื่อให้ได้ผล เพราะถ้าปลูกเยอะ ก็ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ในชนิดของผักได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมีจุดเด่นและชัดเจน ว่าเรามีความสามารถและความรู้เรื่องไหน และเชื่อว่าถ้าทุกคนหาจุดยืนของตัวเองได้ ก็ประสบผลสำเร็จได้ไม่ยาก

สนใจสอบถามข้อมูล หรืออยากเข้ามาเรียนรู้ที่ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ จังหวัดสตูล สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 081-609-6986

ผลใหญ่ 1 ลูก หนัก 2 กิโลกรัม
ลูกค้ามารอซื้อชั่วโมงกว่า
ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

 

วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563